บมจ.การบินไทย เล็งขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จภายในสิ้นปีนี้ พร้อมนำหุ้นกลับมาเทรดในปี 2568 ตามแผน แจงแผนจัดหาเครื่องบินใหม่รวม 80 ลำ เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ของแผนฟื้นฟูกิจการ หวังทวงคืนมาร์เก็ตแชร์ในประเทศ สร้างกำไรโต
ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 28,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 11,260% เปรียบเทียบกับปี 2565 ที่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 252 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ปัจจัยหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานของปี 2566 ที่ทำได้ถึง 40,211 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้น 416% เปรียบเทียบปี 2565 ที่มีกำไรจากการดำเนินงานที่ 7,797 ล้านบาท เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และความต้องการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์เพียงประมาณ 400 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 1.61 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากปี 2565 ซึ่งเป็นรายได้จากกิจกรรมขนส่งผู้โดยสารที่เติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 79.3% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว (EBIT) เป็นเงิน 40,211 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน จำนวน 32,414 ล้านบาท และมีกำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 42,875 ล้านบาท ดีกว่าประมาณการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่า บริษัทต้องมี EBITDA จากการดำเนินงานในส่วนของการบินไทยหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบินเกิน 2 หมื่นล้านบาท ในรอบ 12 เดือน
การบินไทยแถลงผลการดำเนินงานปี 2566
เพิ่มทุนพลิกส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาบวกภายในปี 2567
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทติดลบจำนวน 4.31 หมื่นล้านบาท ติดลบลดลง 27,882 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก ส่งผลให้บริษัทมีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดรวมเพิ่มเป็น 6.71 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32,590 ล้านบาท โดยจากทิศทางผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีแผนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวกภายในปลายปี 2567 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญสุดท้ายเพื่อนำบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำไฟลิ่งเพื่อขออนุญาตขายหุ้นเพิ่มทุนภายในครึ่งแรกของปี 2567 และคาดว่าดำเนินการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นในสิ้นปี 2567
ดังนั้น ส่งผลให้คาดว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ในช่วงครึ่งแรกปี 2568 พร้อมสามารถนำหุ้นของ THAI กลับเข้ามาซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างทำแผนธุรกิจและเป้าหมายธุรกิจปี 2567 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในครึ่งแรกของปีนี้ อย่างไรก็ดีแนวโน้มผลประกอบการในปี 2567 เชื่อว่าจะยังออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยคาดว่าปี 2567 จะมีรายได้กลับไปใกล้เคียงกับปี 2562 ในช่วงก่อนโควิดที่มีรายได้ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากแผนการเพิ่มจำนวนเครื่องบินในปีนี้เป็น 79 ลำ จากปี 2566 ที่มี 70 ลำ โดยจะมีการส่งมอบเพิ่มเติมจากเช่าดำเนินการ
สำหรับอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ดี แม้แนวรายได้จากค่าโดยสารจะลดลงจากการแข่งขันรุนแรงเพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงของธุรกิจในปีนี้ เนื่องจากจะเห็นสายการบินอื่นๆ นำเครื่องบินที่เคยหยุดการบินก่อนหน้านี้กลับมาบินเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของสายการบินใหม่ๆ ที่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนปัจจัยต้องติดตามคือราคาน้ำมันอากาศยานซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 39% ของต้นทุนรวมของบริษัท ซึ่งปัจจุบันราคายังทรงตัวในระดับสูงกว่าประมาณ 100-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รวมปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวนสูงมาก ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลการขาดทุนหรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่จะไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท
พร้อมทั้งคาดว่า จากแนวโน้มผลการดำเนินที่มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2567 บริษัทยังคงมีกระแสสดเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท อีกทั้งหากประเมินแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่ดีขึ้นต่อเนื่องจะทำให้บริษัทมีความสามารถเริ่มทยอยชำระคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่ในปีนี้เป็นต้นไป เฉลี่ยประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมระยะเวลา 12 ปี เป็นจำนวนหนี้รวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ได้ครบตามแผนที่วางไว้
ผลการดำเนินงานการ ‘การบินไทย’ ปี 2566
แผนจัดหาเครื่องบินใหม่ 45 ลำ ไม่กระทบสภาพคล่อง
สำหรับแผนในการจัดเครื่องบินจำนวน 45 ลำเพื่อนำมาเสริมฝูงบินจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องบริษัท เนื่องจากบริษัทได้พิจารณาแล้วว่ามีเงินเพียงพอในการรองรับแผนจัดหาเครื่องบินดังกล่าวได้ เพราะวิธีการจัดเครื่องบินกับแหล่งเงินทุนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกที่มีความเหมาะสมทั้งรูปแบบการเช่าดำเนินการหรือการกู้ยืมเงินมาเพื่อมาจัดหาเครื่องบินให้เป็นไปตามแผนงานที่บริษัทวางไว้
“จริงๆ แล้วดูจากฐานะการเงินกับผลประกอบการของเราแล้ว เครื่องบินจำนวน 45 ลำ บริษัทสามารถซื้อด้วยเงินสดได้ เพราะว่าเครื่องบินที่กำลังจัดหาไม่ได้จ่ายเงินทันที แต่เครื่องบินจะทยอยเข้ามาตั้งแต่ปี 2570-2573 ซึ่งเงินส่วนใหญ่จะจ่ายก่อนที่จะรับมอบเครื่องบินซึ่งสามารถนำไปใช้บินสร้างรายได้กลับมาได้เลย ไม่เหมือนการจองคอนโดมิเนียมที่ผู้จองต้องจ่ายเงินล่วงหน้าก่อนที่จะก่อสร้าง แต่กลยุทธ์จริงที่จะใช้จัดหาเครื่องบินของบริษัทต้องมาพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้งเพราะยังมีเวลาตัดสินใจ”
ปัจจุบันบริษัทเครื่องบินที่ใช้ทำการบินรวมทั้งสิ้น 70 ลำ แบ่งเป็นแบบลำตัวกว้างและลำตัวแคบ จำนวน 50 ลำ และ 20 ลำ ตามลำดับ และในตารางการบินฤดูร้อนปี 2567 ให้บริการเที่ยวบินสู่ 61 เส้นทางบินทั่วโลก ในเส้นทางบินยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์ เพิ่มจุดบินใหม่ 4 เส้นทาง ได้แก่ ออสโล มิลาน เพิร์ท และโคจิ เพื่อรองรับการเดินทางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเร่งขยายขนาดฝูงบินให้เพียงพอต่อแผนเส้นทางบิน จำนวนเที่ยวบิน และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการหารายได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท
จับมือ AOT หวังดันไทยเป็นฮับการบิน
ด้าน ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย กล่าวว่า แผนขยายฝูงบินใหม่ ซึ่งการจัดหาเครื่องบิน Boeing 787 Dreamliner จำนวน 45 ลำ จะสามารถสรุปตัดสินถึงวิธีรูปแบบการจัดหาเครื่องบินที่เหมาะสมดังกล่าวได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะเริ่มทยอยรับมอบเข้ามาในปี 2570 ส่วนแผนจัดหาเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 35 ลำ จะตัดสินใจเลือกวิธีการจัดหาได้ก่อนระยะเวลาการส่งมอบประมาณ 3 ปี โดยการดำเนินการจัดเครื่องบินดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกรอบของแผนยุทธศาสตร์ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ และอยู่ในแผนธุรกิจ (Business Plan) ของบริษัท และยืนยันว่ามีกระบวนการดำเนินการที่โปร่งใส
ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย
“ที่ผ่านมามาร์เก็ตแชร์การบินไทยลดลงมาตลอด เพราะในอดีตหากรูทไหนมีผลประกอบการขาดทุนก็ตัดออก ซึ่งถ้าปล่อยไว้มาร์เก็ตแชร์ก็จะลดลงเรื่อยๆ แต่หลังบริษัทปรับโครงสร้างองค์ใหม่ทั้งระบบแล้วก็จะต้องกลับมาทวงคืนมาร์เก็ตแชร์ในประเทศ เพราะถ้าเทียบแล้วทั่วโลกการบินไทย ในฐานะสายการบินเจ้าบ้านน่าจะมีมาร์เก็ตต่ำที่สุดในโลก ตอนนี้มาร์เก็ตแชร์ที่ 21% ในระยะยาวต้องเพิ่มเป็น 30-35%”
อีกทั้งที่ผ่านมาและต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ก่อนบริษัทได้เวิร์กช็อปร่วมกับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT หลังจากได้หารือร่วมกันและบรรลุข้อตกลงบางประการเพื่อผลักดันพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค (Hub) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งน่าจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในเร็วๆ นี้
แผนเพิ่มเครื่องบินใหม่หวังปั๊มกำไรโตต่อ
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย บมจ.การบินไทย กล่าวว่า สาเหตุในการมีเครื่องบินใหม่ เพราะต้องใช้รองรับการเติบโตของธุรกิจที่ภาคการท่องเที่ยวของโลก โดยเฉพาะเอเชียแปซิฟิกที่มีการเติบโตที่สูงมาก ในขณะเดียวกันที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาการขาดทุนมายาวนานมาก 8-9 ปี จนต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องบินใหม่เพิ่มเพื่อนำมาใช้ขยายเครือข่ายเส้นทางการบินและเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับบริษัท
“แผนการจัดหาเครื่องบินจำนวน 45 ลำ ได้ประเมินดีมานด์ใระยะข้างหน้าไว้แล้วว่าจะเป็นอย่างไรควรมีเน็ตเวิร์กอย่างไรในเรื่องของการตลาด แล้วนำมืออาชีพมาช่วยคัดดูความเหมาะสมของเครื่องบินที่จะนำมาใช้มีการกระบวนการทำงานที่มีความโปร่งใสเป็นการลงทุนที่ต้องมีรีเทิร์นกลับมาด้วย”
อีกทั้งเครื่องบินที่มีในฝูงบินเดิมยังเป็นเครื่องบินเก่าและมีอายุเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องทยอยปลดออกจากฝูงบินจากเดิมในอดีตที่ฝูงบินของบริษัทเคยมีเครื่องบินจำนวน 103 ลำ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ทยอยขายออกไปแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบันมีฝูงบินมีเครื่องบินเหลือจำนวน 70 ลำ ซึ่งถือว่ามีขนาดฝูงบินที่เล็กมากเปรียบเทียบกับโลเคชันกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งหากเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีฝูงบินขนาดใหญ่ เช่น Singapore Airlines มีเครื่องบินจำนวน 154 ลำ, Hong Kong Airlines มีเครื่องบินจำนวน 178 ลำ, Japan Airlines ที่มีเครื่องบินจำนวนมากกว่า 200 ลำ
คลังขอพิจารณาข้อมูลก่อนตัดสินใจเพิ่มทุน
พรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังและหน่วยงานภาครัฐปัจจุบันถือหุ้นใน บมจ.การบินไทย รวมกันมีสัดส่วนกว่า 40% ในการพิจารณาการสนับสนุนการใส่เงินเพิ่มทุนให้กับ บมจ.การบินไทย นั้น ต้องพิจารณาใน 2 เรื่อง ส่วนแรกจะรอดูผลการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้รายอื่นๆ ว่าจะมีการใช้สิทธิ์มากหรือน้อยอย่างไร ส่วนที่สองการเพิ่มทุนใหม่ ต้องดูรอผลความต้องการเพิ่มทุนของเจ้าหนี้ที่ต้องการใช้สิทธิ์เพิ่มทุนกับความสนใจของผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ที่ต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อนำพิจารณาต่อว่าจะมีจำนวนหุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่ถูกใช้สิทธิ์จองซื้อเป็นจำนวนเท่าใด รวมถึงข้อมูลของไฟลิ่งการเพิ่มทุนก่อนจึงยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ ดังนั้นจึงขอพิจารณาทางเลือกต่างๆ จากนั้นกระทรวงการคลังจึงจะมีการตัดสินใจอีกครั้ง