×

สรุป! เกิดอะไรขึ้นกับ NYCB ธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ จะนำไปสู่วิกฤตแบงก์อีกระลอกหรือไม่?

05.02.2024
  • LOADING...

ย้อนกลับเมื่อต้นปี 2023 เกิดวิกฤตแบงก์ในสหรัฐฯ และยุโรป นำไปสู่การล่มของธนาคารภูมิภาค 3 รายในสหรัฐฯ ได้แก่ Silicon Valley Bank (SVB), First Republic, และ Signature Bank รวมไปถึงการเทกโอเวอร์ Credit Suisse แบบฉุกเฉิน

 

โดยล่าสุดเมื่อต้นปี 2024 ธนาคารบางแห่ง ได้แก่ New York Community Bancorp (NYCB) ธนาคารภูมิภาคในสหรัฐฯ และ Aozora Bank ในญี่ปุ่น ส่งสัญญาณให้โลก เห็นถึงความเสี่ยงบางประการในภาคธนาคารที่เกิดมาจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial Real Estate) 

 

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ความอ่อนแอของภาคธนาคารภูมิภาคในสหรัฐฯ อาจรุนแรงขึ้นจากความผิดหวังของนักลงทุน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณว่าอาจยังไม่เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้

 

เกิดอะไรขึ้นกับภาคธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ ขณะนี้

 

ย้อนกลับไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นธนาคาร NYCB ร่วงถึง 38% หนักสุดเป็นประวัติการณ์จากระดับ 10.38 ดอลลาร์ ในวันที่ 30 มกราคม ไปสู่ 6.47 ดอลลาร์ ในวันที่ 31 มกราคม

 

หลังจาก NYCB รายงานผลขาดทุน 252 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.8 พันล้านบาท) ในไตรมาส 4/23 พร้อมตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญสูงถึง 552 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.9 หมื่นล้านบาท) จากระดับ 62 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3/23

 

โดยการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นเกือบ 800% นี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญ (Expected Losses) จากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ และอาคารสำนักงาน (Office Building) จำนวนมาก

 

เหตุการณ์ดังกล่าวลากให้ดัชนี KBW Nasdaq Regional Banking Index ซึ่งติดตามหุ้นธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ 24 แห่ง ‘ร่วงหนักสุด’ นับตั้งแต่การล่มสลายของ Signature Bank เมื่อเดือนมีนาคม 2023

 

NYCB คือใคร? ทำไมขาดทุนหนัก-ตั้งสำรองสูง?

 

NYCB ก่อตั้งมาแล้ว 165 ปี (ตั้งในปี 1859) ในฐานะธนาคารภูมิภาค และเป็นธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial Real Estate) รายใหญ่ 

 

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2023 ธนาคารรายงานมีสินทรัพย์รวม 1.16 แสนล้านดอลลาร์ เงินกู้ยืม 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และเงินฝาก 8.14 หมื่นล้านดอลลาร์

 

โดยในปี 2023 NYCB ก็ยังเป็นหนึ่งในผู้ซื้อ Signature Bank ที่ล่มไปเมื่อปีก่อน 

 

ซึ่งการซื้อกิจการครั้งนั้น NYCB ได้เงินฝากมาเพิ่ม 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ พอร์ตสินเชื่ออีก 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และเงินสด 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์จาก Signature Bank

 

ทำให้ NYCB กลายเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์มูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และทำให้ธนาคารต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านเงินทุนและสภาพคล่องที่ ‘เข้มงวดมากขึ้น’

 

โดยตอนนั้น Thomas Cangemi ซีอีโอของ NYCB ระบุว่า “การเข้าซื้อกิจการ  Signature Bank จะช่วยให้ธนาคารพัฒนากลยุทธ์ไปพร้อมๆ กับการเสริมสร้างและกระจายงบดุล (Balance Sheet) อย่างไรก็ตาม จะทำให้กลายเป็นธนาคารที่มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เร็วกว่าที่เราคาดไว้”

 

โดยหนึ่งในข้อกำหนดที่ ‘เข้มงวดมากขึ้น’ คือ ธนาคารต้องกันเงินไว้เผื่อเหตุไม่แน่นอน หรือเผื่อการขาดทุนที่ ‘มากขึ้น’ นำไปสู่การรายงานยอดยอมรับความสูญเสียสุทธิ (Net Charge-Offs) ซึ่งถูกเพิ่มเข้าไปในผลขาดทุนถึง 185 ล้านดอลลาร์ และทำให้ธนาคารต้องประกาศลดการจ่ายเงินปันผลลง 70%

 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนบางคนกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ NYCB ส่วนใหญ่ ‘มีลักษณะเฉพาะ’

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนกลับไม่ได้มองเช่นนั้น เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาเชิงพาณิชย์ และความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นต่อภาคธนาคาร

 

ปัญหาภาคอสังหาเสี่ยงลามภาคธนาคาร?

 

ในยุค Post COVID มูลค่าของอาคารสำนักงาน (Office Building) หลายแห่ง ‘ลดลงอย่างหนัก’ เนื่องจากพนักงานหลายล้านคนติดใจการทำงานทางไกล (Remote Working) ส่งผลให้พื้นที่สำนักงานจำนวนมากว่างเปล่าหรือมีการใช้งานน้อยเกินไป

 

ในเวลาเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ก็ทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developers) ซึ่งมักจะกู้เงินจำนวนมาก ‘ชำระหนี้ได้ยากขึ้น’

 

โดยหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ Aon Center อาคารสำนักงานสูงเป็นอันดับ 3 ในลอสแอนเจลิส เพิ่งถูกขายไปในราคา 147.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง ‘ถูกกว่า’ ราคาซื้อครั้งก่อนในปี 2014 ประมาณ 45%

 

ตามรายงานของ JPMorgan Chase & Co. ที่เผยแพร่ในเดือนเมษายน ระบุว่า สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ คิดเป็น 28.7% ของสินทรัพย์ธนาคารขนาดเล็ก เทียบกับสัดส่วนเพียง 6.5% ของธนาคารรายใหญ่ 

 

ทำให้ Justin Onuekwusi ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทจัดการความมั่งคั่ง St. James’s Place กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าการเชื่อมโยงระหว่างภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ และธนาคารภูมิภาคถือเป็นความเสี่ยงในปี 2024”

 

แบงก์เอเชีย-ยุโรปเสี่ยงติดเชื้อ?

 

ความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยธนาคาร Aozora ในญี่ปุ่นกล่าวว่า มีหนี้เสียที่เชื่อมโยงกับสำนักงานในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ธนาคารขาดทุนถึง 2.8 หมื่นล้านเยนเมื่อปีที่แล้ว โดยหลังจากข่าวออกไป หุ้นธนาคารก็ดิ่งกว่า 21%

 

โดยธนาคาร Aozora ยังประเมินอีกว่า ต้องใช้เวลาอีก 1 หรือ 2 ปีก่อนที่ตลาดสำนักงานในสหรัฐฯ จะ ‘มีเสถียรภาพ’ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากจะค่อยๆ กลับมาทำงานที่สำนักงาน และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดอัตราดอกเบี้ยลง

 

ด้าน Julius Baer ไพรเวตแบงก์และบริษัทจัดการความมั่งคั่งสัญชาติสวิส เปิดเผยว่า กำไร (Adjusted Profit) ของบริษัทลดลง 55% ในปีที่แล้ว เนื่องจากขาดทุน 586 ล้านฟรังก์สวิสจากการให้เงินกู้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่ง Reuters รายงานว่าเป็น Signa Group บริษัทอสังหาออสเตรเลีย 

 

ทั้งนี้ Signa Group ได้ซื้อส่วนหนึ่งของอาคาร Chrysler ในนิวยอร์กเมื่อปี 2019 โดยบริษัทในเครือ Signa หลายแห่งก็ได้ยื่นฟ้องล้มละลายไปเมื่อเดือนธันวาคม

 

นอกจากนี้ Deutsche Bank ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนี กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (1 กุมภาพันธ์) ว่า บริษัทได้จัดสรรเงิน 123 ล้านยูโรในช่วงไตรมาสที่แล้ว เพื่อรองรับการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์พาณิชย์ของสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าของจำนวนที่เคยจัดสรรไว้ในช่วงเดียวกันในปี 2022

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X