จากคำถามที่ว่า “จะเปิดตัวโปรดักต์ผลิตภัณฑ์ดาวน์นี่กลิ่นใหม่ ‘กลิ่นหอมแดดและสวนดอกไม้’ อย่างไร จึงจะสร้างความสุขให้กับกลุ่มเป้าหมายและสร้างประโยชน์ให้กับเมือง” นำไปสู่การค้นพบอินไซต์ที่น่ากังวลของกรุงเทพฯ เกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียว
จากผลสำรวจพื้นที่ในกรุงเทพฯ 48% คือพื้นที่อาคารและคอนกรีต ส่วนพื้นที่สวนมีเพียง 2% เท่านั้น ในขณะที่จำนวนประชากรคนกรุงเทพฯ มีมากถึง 6 ล้านคน แต่มีพื้นที่สีเขียวเพียง 6.9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ว่า เมืองเมืองหนึ่งควรมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 9 ตารางเมตรต่อคน
ถ้าจะให้ดีประชากรควรเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายในระยะ 300 เมตรจากที่พักอาศัย แต่ระยะทางเฉลี่ยในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวสำหรับคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ราว 4.5 กิโลเมตร ทำให้คนกรุงเทพฯ ขาดพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ รวมถึงคุณภาพชีวิตโดยองค์รวม
ประเด็นที่ว่านี้ หากแบรนด์จะลงแรงสร้างพื้นที่สีเขียวสักแห่งแล้วมอบให้กับกรุงเทพมหานคร ก็เป็นวิธีแก้ปัญหาที่เข้าท่า แต่ดาวน์นี่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการมอบพื้นที่สีเขียวที่เบ่งบานอย่างยั่งยืนกว่านั้น
เกิดเป็นแคมเปญ ‘Blooming Bangkok บานสะพรั่งทั่วกรุง’ โดยเริ่มจากการปลุกกระแสคนเมืองให้เห็นความสำคัญของปัญหาการขาดแคลนพื้นที่สีเขียว ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์กับผู้คนผ่านกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์
แคมเปญถูกคิกออฟมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่การจับมือกับหลากหลายสื่อร่วมกันสะท้อนเสียงคนกรุงจากหลากหลายอาชีพและมุมมอง ถึงความขาดแคลนและถวิลหาพื้นที่สีเขียวเพื่อพาร่างกายและจิตใจของพวกเขาไปรับความสดชื่น และเบ่งบานในแบบของตัวเอง
เสียงสะท้อนที่ได้ยิ่งตอกย้ำว่า ไม่ว่าใครก็ต้องการพื้นที่สีเขียวใกล้ตัวด้วยกันทั้งนั้น แบรนด์จึงลงมือทดลองสิ่งใหม่ด้วยการจำลองประสบการณ์ความเบ่งบานทั่วกรุงผ่าน CGI VDO และ AI Static เพื่อชวนให้พวกเราได้เห็นกรุงเทพฯ มุมใหม่ที่เบ่งบานไปด้วยดอกไม้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า “จะดีแค่ไหน ถ้ากรุงเทพฯ เบ่งบานได้ทั่วทุกมุมเมืองแบบนี้”
พอกระแสตอบรับทางโซเชียลดีเกินคาด จึงเนรมิตไอเดียออนไลน์ให้กลายเป็นสวนจำลอง ‘Downy Blooming Park’ ที่สกายวอล์กแยกสาทร-นราธิวาส พร้อมส่งต่อความเบ่งบานด้วยการแจก ‘Downy Blooming Bomb’ เมล็ดดอกคอสมอสพร้อมปลูก กลับไปสร้างพื้นที่เบ่งบานของตัวเอง
กิมมิกที่เห็นแล้วใจฟูและเบ่งบานก็คือ แบรนด์จะให้คนที่ได้รับ Downy Blooming Bomb สแกน QR Code ข้างกล่องเพื่อปักหมุดพื้นที่ที่นำดอกคอสมอสไปปลูก และสามารถดูได้ด้วยว่าตอนนี้ทั่วกรุงเทพฯ มีที่ไหนถูกปักหมุดแล้วบ้างผ่านทางเว็บไซต์ www.DownyBloomingBangkok.com
‘สวน 39 Wattana Pocket Park’ บทสรุปความเบ่งบานอย่างยั่งยืน
สิ่งที่ทำให้เห็นว่าดาวน์นี่จริงจังกับเรื่องการเพิ่มพื้นที่สวนให้กับคนกรุงเทพฯ ก็คือ การจับมือกับกรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา และเครือข่าย we!park ต่อยอดโครงการสวน 15 นาทีของกรุงเทพมหานคร พัฒนาพื้นที่รกร้างริมคลองแสนแสบให้กลายเป็น ‘สวน 39 Wattana Pocket Park’ พื้นที่สาธารณะที่มีประโยชน์ต่อชุมชนในระยะยาว
การเนรมิตพื้นที่รกร้างขนาด 373 ตารางเมตร ริมคลองแสนแสบ ท้ายซอยสุขุมวิท 39 ให้กลายเป็น ‘สวน 39 Wattana Pocket Park’ ยังได้รับความร่วมมือจากหลายพาร์ตเนอร์ร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่เบ่งบานให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานเขตวัฒนา, สสส., สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, ฉมา (Shma) และ we!park
โดยดาวน์นี่สนับสนุนงานออกแบบและงานโครงสร้างสวนทั้งหมด ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ ปรับพื้นที่ กระบะปลูกพืช ระบบรดน้ำและระบายน้ำ รวมถึงซุ้มชิงช้า
ด้าน we!park คือผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม พัฒนาพื้นที่ว่างให้เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวขนาดเล็กที่มีคุณภาพและยั่งยืนของเมืองตามโครงการสวน 15 นาที ของ กทม. โดยมี บริษัท ฉมา จำกัด ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม พัฒนาแบบร่วมกับบุคลากรจากสำนักงานเขตวัฒนาผ่านโครงการ Park Coaching (โครงการพัฒนาทักษะบุคลากรและให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาสวน) และกิจกรรม Pop Park BKK เพื่อทดลองใช้พื้นที่สวน
ในขณะที่สำนักงานเขตวัฒนา กทม. เป็นผู้สนับสนุนส่วนงานพืชพรรณ (Softscape) การทำพื้นที่สวนกินได้ การปลูกดอกไม้ และไม้พุ่มชนิดต่างๆ
ถึงจะเป็นแค่สวนเล็กๆ แต่ก็มีทุกอย่างที่สวนสาธารณะพึงมี ไม่ว่าจะเป็น ลานกิจกรรมชุมชนพร้อมจุดนั่งพักผ่อนรูปแบบต่างๆ รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ลานโล่งสำหรับกิจกรรมนันทนาการ เก้าอี้นั่งแบบกลุ่ม รวมถึงชิงช้าที่ออกแบบจากโครงสร้างเดิมที่ถูกทิ้งร้าง อีกทั้งยังมีพื้นที่สวนกินได้ เพื่อให้คนในชุมชนได้มาใช้ประโยชน์และพักผ่อนอย่างครอบคลุม
วรภัฏ วรปัญญา Senior Brand Manager ผลิตภัณฑ์ดาวน์นี่ โดย บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า “ดาวน์นี่มีแนวคิดว่า ทุกคนควรมีพื้นที่ที่สามารถเบ่งบานได้ทุกเวลา ซึ่งสวนเป็นสถานที่ที่มอบความเบ่งบานให้ได้ในหลากมิติ ทั้งการพักผ่อนระหว่างวันที่เหนื่อยล้า ความสดชื่นจากต้นไม้ใบหญ้าที่มีสีสันสดใส หรือพื้นที่ที่สร้างบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ และเอื้อให้ผู้คนได้ทำกิจกรรมเพื่อการเติบโตของชีวิต เราจึงสนับสนุนให้คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่สวนได้อย่างทั่วถึง การร่วมมือกับกรุงเทพมหานครฯ ในการพัฒนาโครงการสวน 15 นาที ให้กับชุมชนในเขตวัฒนา นอกจากจะเป็นการปิดจบแคมเปญ ‘Blooming Bangkok บานสะพรั่งทั่วกรุง’ แล้วเราก็หวังว่าจะเป็นแบบอย่างที่สำคัญในการจัดทำแคมเปญที่ส่งผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาวให้กับสังคม”