×

ลุ้นไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ไปต่อหรือพอแค่นี้

02.02.2024
  • LOADING...
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หนึ่งในเมกะโปรเจกต์ในฝัน ปลุกการลงทุนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่า 224,544 ล้านบาท ผ่านมา 7 ปียังไม่มีความคืบหน้า จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า โครงการนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร 

 

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า EEC ยื่นคำขาดถึงบริษัทผู้ชนะการประมูล เอเชีย เอรา วัน ถ้ายังไม่ดำเนินการลงทุนสร้างรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ก็ให้ยกเลิกสัญญา 

 

เลขาฯ EEC รีบออกมายืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะอำนาจของการพิจารณายกเลิกสัญญาไม่ได้เป็นของ EEC แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญา ซึ่งอยู่ภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาว่าจะมีมติให้ซีพีดำเนินการอย่างไรในฐานะคู่สัญญา

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

วันนี้ (2 กุมภาพันธ์) จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าอีกว่า กลุ่มซีพีอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ขอ BOI ต่ออายุออกบัตรส่งเสริมการลงทุน และได้แนะทางออกยื่นขอสิทธิประโยชน์จากกฎหมาย EEC ได้ยกเว้นภาษีสูงสุดถึง 13 ปี บวกกับฟรีวีซ่า Work Permit พร้อมย้ำว่า เอกชนและ รฟท. ไม่ยกเลิกสัญญาระหว่างทางแน่นอน เนื่องจากอาจเกิดการฟ้องร้องได้

 

จุฬาระบุอีกว่า “หลังจากที่โครงการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ไปตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ยอมรับว่าโครงการล่าช้าและยังไม่เริ่มนับ 1 เนื่องจากยังไม่มีการลงทุนใดๆ บวกกับอุปสรรคเรื่องของการออกบัตรส่งเสริมที่ได้หมดอายุไปแล้ว โดยทาง BOI ไม่ขยายเวลาให้กับผู้ชนะการประมูล บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เครือซีพี) ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ BOI ขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริม”

 

ดังนั้นระหว่างนี้จึงรอคำตอบจากทาง BOI ซึ่งคาดว่าจะได้คำตอบภายในสัปดาห์หน้า 

 

เมื่อได้คำตอบแล้ว หาก BOI ยังคงยืนยันไม่ต่ออายุออกบัตรส่งเสริมให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด สามารถยื่นขอสิทธิประโยชน์จาก EEC ได้ หรือที่เรียกว่าสัญญาสิทธิประโยชน์ เนื่องจากภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ได้ให้สิทธิประโยชน์ไว้ครอบคลุมทั้งเรื่องของภาษี ซึ่งจะได้พื้นที่การยกเว้นภาษีที่ 8 ปี และจะบวกเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้อีกตามประเภทกิจการ โดยเฉพาะหากเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ต้องทำตามเงื่อนไข เช่น การวิจัย การจ้างคน ลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมที่ประกาศทั้ง 37 เขต จะได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มอีกถึง 5 ปี 

 

EEC ย้ำ เว้นภาษีสูงสุดที่ 13 ปี

 

ดังนั้นสิทธิประโยชน์จาก EEC ให้เว้นภาษีสูงสุดที่ 13 ปี และยังได้สิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ อีก เช่น ฟรีวีซ่า การเช่าที่ดิน ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ทั้งนี้ ยังอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนแบบที่เดียวจบ (One Stop Service) ซึ่งแน่นอนว่าสูงกว่า BOI

 

“ขึ้นอยู่กับว่าทางบริษัทเอรา วัน เขาอยากจะขอสิทธิประโยชน์ของ BOI ใหม่หรือไม่ ถ้าเขาอยากได้สิทธิตรงนั้น เขาก็ยื่นขอใหม่ ก็เริ่มกระบวนการขอใหม่ แต่ถ้าไม่อยากได้ก็มาขอสิทธิกับทางเรา EEC ก็มีให้ หรือถ้าเขาไม่อยากได้สิทธิอะไรเลยก็ไม่ต้องขอก็ได้ เพราะมันไม่ได้กระทบการเดินหน้าโครงการลงทุนอยู่แล้ว เขาก็แค่ไม่ได้สิทธิเรื่องของภาษีในตอนที่มีรายได้ขึ้นมา”

 

ในสเต็ปถัดไป เมื่อ BOI ชัดเจนแล้วว่าไม่ต่ออายุออกบัตรส่งเสริมให้ ก็จะแจ้งไปทาง รฟท. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่ร่วมลงทุนอยู่ในสัญญารับทราบ เพื่อยกเลิกข้อที่ระบุในสัญญาเรื่องสิทธิประโยชน์ จากนั้นก็จะสั่งให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เริ่มลงทุน เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องบัตรส่งเสริมแล้ว 

 

หาก รฟท. ขอยกเลิกสัญญา ‘เสี่ยงถูกฟ้อง’ 

 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีว่า รฟท. ขอยกเลิกสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็จะเข้าไปสู่กระบวนการฟ้องร้องกันอย่างแน่นอน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งการจะขอยกเลิกสัญญาไม่ว่าจะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมเกิดการฟ้องร้องขึ้นแน่นอน 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด การเดินหน้าโครงการต่อ EEC ไม่สามารถตอบแทนเอกชนได้ แต่ยังคงยืนยันว่าไฮสปีดต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นโครงการที่เชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภา หากล่าช้าออกไปมากกว่านี้อาจกระทบโครงการอื่น 

 

“รัฐบาลปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และถือว่าเป็นโครงการ EEC และอยากให้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการได้”

 

ย้อนไทม์ไลน์ 7 ปีไม่คืบ

 

หากย้อนดูไทม์ไลน์ โครงการนี้เริ่มตั้งไข่ตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งเปิดการประมูลในปี 2561 ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือกลุ่มซีพี

 

หมายความว่าปีนี้จะเป็นปีที่ 7 ที่ยังไม่มีการลงทุนอะไร นอกจากเวนคืน ปรับปรุง เคลียร์พื้นที่ 

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีมูลค่าการลงทุน 224,544.36 ล้านบาท มีรูปแบบการลงทุนแบบร่วมรัฐและเอกชน (PPP) เป็น 1 ใน 4 เมกะโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็นมหานครการบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 รวมไปถึงแผนปัดฝุ่นโครงการ MRO ของการบินไทย ด้วยหลายปัจจัยที่ผ่านมา มีการขอแก้ไขสัญญา ผลกระทบจากโควิด และผู้โดยสารน้อยลง ทำให้โครงการชะงักและล่าช้า

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้ารถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน และมีเป้าหมายทำให้สำเร็จในปี 2570 

ภาพ: Jacek Kadaj / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X