วันที่ 27 มกราคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากลที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นการรำลึกและเป็นเกียรติแก่ชาวยิว 6 ล้านคน รวมถึงเด็กๆ 1 ล้านคน และกลุ่มผู้คนอื่นๆ อีก 5 ล้านคน ที่ถูกนาซีสังหารอย่างเป็นระบบและโหดเหี้ยมในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล โดยเริ่มด้วยการจุดเทียน 6 เล่มเพื่อรำลึกถึงชาวยิวผู้เสียชีวิต 6 ล้านคน โดย ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอล, ดร.แอร์นสต์ วอล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเยอรมนี และ กีตา ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
หลังจากนั้นเอกอัครราชทูตเยอรมนีได้กล่าวสปีชในหัวข้อ ‘ทำความเข้าใจสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และวิธีที่เยอรมนีนำการศึกษามาใช้เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก’ ตามด้วย ดร.เกลน ชัทเทลิเอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวถึง ‘วิธีเตรียมนักศึกษาให้เข้าใจเรื่องเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ พิธีจบลงด้วยการกล่าวสปีชโดยเอกอัครราชทูตอิสราเอลที่กล่าวถึงผลอันเกิดจากความล้มเหลวในการจัดการศึกษาที่ดี
เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 80 ปี แต่ทว่าบทเรียนจากความโหดร้ายมิได้หยุดอยู่ในช่วงเวลานั้น กลับยังคงมีความเกี่ยวเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ความเกลียดชัง การไม่ยอมรับความแตกต่าง การสังหารหมู่ และเหตุการณ์เลวร้ายอื่นๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก
เอกอัครราชทูตอิสราเอลกล่าวในระหว่างพิธีว่า “การที่กลุ่มก่อการร้ายฮามาสบุกเข้ามาโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว ถือเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่เตือนเราว่า ความโหดร้ายเช่นนี้มิใช่เพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอีกต่อไป ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนที่จะต้องให้ความรู้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต”
ภาพ: สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
อ้างอิง: สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย
ภาพ: สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย