ส.อ.ท. ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ปี 2567 ที่ 1,900,000 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.17% จับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤตทะเลแดง ฉุดส่งออกอุตสาหกรรมยานยนต์และห่วงโซ่ซัพพลายเชน
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ประมาณการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทปี 2567 อยู่ที่ 1,900,000 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งผลิตอยู่ที่ 1,841,663 คัน เพิ่มขึ้น 3.17%
แยกเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกที่ 1,150,000 คัน ลดลงจากปี 2566 มียอดผลิตเพื่อส่งออกที่ 1,156,035 คัน หรือ 0.52% การผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน เทียบกับปี 2566 การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 685,628 คัน เพิ่มขึ้น 9.39%
จับตา ‘ความเสี่ยง’ กระเทือนภาคการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์
อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองโลก โดยเฉพาะตลาดภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งขณะนี้ต้องเกาะติดวิกฤตทะเลแดง ซึ่งไทยเองก็ส่งออกรถยนต์ตลาดตะวันออกกลาง 19-20% ล้วนผ่านเส้นทางทะเลแดงที่เป็นเส้นทางขนส่งซัพพลายเชนรถยนต์ตลาดเอเชีย-ยุโรป บวกกับภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและชะลอตัว ต่างมีผลต่อการส่งออกทั้งสิ้น
อีกทั้งต้องจับตาภาวะเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น การแข่งขันที่รุนแรงในสินค้าประเภทเดียวกัน และคู่แข่งเกิดขึ้นในภูมิภาคมากขึ้น รวมไปถึงนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีสรรพสามิตในรถยนต์บางประเภทของ สปป.ลาว
ขณะที่ตลาดในประเทศขณะนี้ยอมรับว่า “ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยทั้ง 4 ตัวที่ยังคงสูง ส่งผลกระทบทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ยังคงเห็นการยึดรถต่อเนื่อง อีกทั้งยอดขายอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีซัพพลายเชนหลายอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้รายได้คนงานก่อสร้างและโรงงานลดลง จึงคาดหวังว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่น่าจะเบิกได้ในเดือนพฤษภาคมนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากล่าช้าก็จะกระทบได้เช่นกัน
“เช่นจะเห็นได้ว่าช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รถกระบะผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP นี่คือสิ่งที่ต้องจับตาในปีนี้”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก ไทยยังคงมีจุดแข็งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะ และการขาดแคลนชิ้นส่วนเช่นชิปที่คลี่คลายลง การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยที่จะส่งผลให้ปีนี้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการที่จีนเปิดประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลกและการท่องเที่ยวเติบโต บวกกับคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ, ยุโรป, จีน รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) และอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในช่วงขาลง ทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สมรภูมิทะเลแดงป่วนค้าโลก! จับตาราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และอาหาร หลังต้นทุนขนส่งพุ่ง 4 เท่า
- WEALTH IN DEPTH: เกิดอะไรขึ้นที่ทะเลแดง เหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้าของกลุ่มกบฏฮูตีเขย่าซัพพลายเชนโลก และกำลังสะเทือนถึงไทย?
- ชมคลิป: วิกฤต ‘ทะเลแดง’ ฉุดส่งออกไทย | Morning Wealth 23 ม.ค. 2567
อย่างไรก็ตาม เป้าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศปี 2567 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ยังคงคาดหวังจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากกฎระเบียบและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น
ปี 2566 ส่งออก 1,117,539 คัน สูงสุดในรอบ 5 ปี
ส่วนยอดจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนธันวาคม 2566 ผลิตรถยนต์ 133,621 คัน ลดลงร้อยละ 15.75 ขาย 68,326 คัน ลดลงร้อยละ 17.48 ส่งออก 90,305 คัน ลดลงร้อยละ 19.09 ขายรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 8,753 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 239.92 ปี 2566 ส่งออก 1,117,539 คัน สูงสุดในรอบ 5 ปี
ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สรุปยอดจดทะเบียนปัจจุบันอยู่ที่ 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ 18.19%
จับตาค่าระวางเรือ พ่นพิษราคาสินค้าและเงินเฟ้อ
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนา ‘ความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจไทยปี 2024 โดย The Better Future Forward 2024’ ว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความท้าทายเช่นเดียวกับปี 2566 แต่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในแง่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก
โดยเฉพาะจากกรณีการสู้รบของอิสราเอล-ฮามาสที่ขยายวงกว้าง หลังมีการโจมตีเรือเดินสินค้าในทะเลแดงจนกระทบต่อการขนส่งที่ต้องอ้อมไปยังแหลมกู๊ดโฮปที่ใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึง 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ค่าระวางเรือสินค้าปรับขึ้นอย่างมาก จึงนับเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในทุกมิติ
“หากค่าระวางเรือขึ้นต่อเนื่อง ที่สุดจะกระทบต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อจะกลับมา และถ้าโจมตีไปยังบ่อน้ำมันต่างๆ เกิดระเบิด อาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งกลับมาอีก ถือเป็นความเสี่ยงที่มาก เพราะเป็นสงครามในทุกมิติเศรษฐกิจ ไทยเองพึ่งพาส่งออกคิดเป็น 60% ของจีดีพี แม้ว่าการส่งออกปี 2566 ไทยติดลบ 1% แต่ปี 2567 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าจะโตได้ 2-3% แต่นั่นหมายถึงสงครามต้องไม่บานปลายจนกระทบส่งออก เพราะทะเลแดงเป็นเส้นทางสำคัญส่งสินค้าไปยังเอเชียและประเทศตะวันตก”