ทันทีที่รัฐมนตรี 3 คน ผู้เป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อรุ่นอาวุโสของพรรคเพื่อไทย ลาออกจากตำแหน่ง สส. ได้เปิดโอกาสให้ผู้สมัคร สส. รุ่นใหม่ลำดับถัดไปได้ขึ้นมานั่งตำแหน่งแทน
โดย 1 ใน 3 สส. ใหม่ล่าสุดจากพรรคเพื่อไทยคือ ‘ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช’ หรือ ‘กิ๊ก วันพอยท์’ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย วัย 37 ปี เพิ่งจะรายงานตัวต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 มกราคม หลังจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 11 มีหนังสือขอลาออกจากการเป็น สส. ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 (2) ให้ผู้มีชื่อในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยเลื่อนขึ้นมาเป็น สส. แทน
THE STANDARD สัมภาษณ์ กิ๊ก-ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช คนรุ่นใหม่ สส. สมัยแรก แต่ไม่ใช่คนหน้าใหม่ทางการเมือง เพราะเขาคลุกคลีกับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคไทยรักไทยที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร นับตั้งแต่การเลือกตั้งสมัยปี 2544 โดย กิ๊ก ณณัฏฐ์ แห่ง ‘กลุ่มวันพอยท์’ เป็นบุตรชายของ ‘สาโรจน์ หงษ์ชูเวช’ ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน หนึ่งในทีมงานคนสำคัญ ผู้ทำงานเบื้องหลังตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนกระทั่งเป็นพรรคเพื่อไทย มาตลอดยี่สิบกว่าปี
‘กิ๊ก ณณัฏฐ์’ บอกว่าตัวเขาเองมี DNA ของความเป็นเพื่อไทยเต็มร้อย
ความผูกพันกับพรรคไทยรักไทย สมัย ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรี
สมัยพรรคไทยรักไทยผมเป็นเหมือน ‘เด็กเกาะเบาะ’ ตามพ่อ (สาโรจน์ หงษ์ชูเวช) ไปทำงาน แต่ผมยังไม่มีบทบาทได้แสดงความคิดเห็น และยังไม่ได้ช่วยเชื่อมประสานอย่างปัจจุบัน ตอนนั้นผมอายุแค่ 14-15 ปี ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรมาก เป็นเพียงผู้ตาม แต่รับรู้ถึงเหตุการณ์การเมืองตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล
ต่อมามีการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง และตามมาด้วยการรัฐประหารปี 2549 จนมาถึงเหตุการณ์นายกฯ ทักษิณกลับบ้านครั้งแรก ต่อมามีการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีความสูญเสียปี 2553 และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงเลือกตั้งปี 2554 ถูกรัฐประหารปี 2557 กระทั่งนายกฯ ทักษิณเพิ่งได้กลับไทย เราก็เห็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองเหล่านี้มาโดยตลอด
ตอนหลังเลือกตั้งปี 2544 ไทยรักไทยเป็นรัฐบาลสมัยแรก ผมก็ยังเป็นเด็ก ผมไปเตะฟุตบอลกับคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว ที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน, ท่านอนุชา นาคาศัย, ท่านสรอรรถ กลิ่นประทุม, ท่านเนวิน ชิดชอบ, ท่านบุญลือ ประเสริฐโสภา, ท่านอนุสรณ์ วงศ์วรรณ และอีกหลายท่านด้วยกันครับ ก็มองได้ว่าผมคลุกคลีกับผู้ใหญ่พรรคไทยรักไทยอยู่พอสมควร
เริ่มสนใจการเมืองในวัยเรียนมหาวิทยาลัย
เริ่มมาสนใจการเมืองอย่างเข้มข้นในช่วงรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เข้าเรียนปี 2549 คณะนิเทศศาสตร์ เป็นปีเดียวกับที่รัฐประหาร เพื่อนผมส่วนใหญ่ก็เป็น ‘เสื้อเหลือง’ ความเชื่อทางการเมืองเป็นคนละสีกับเรา ช่วงนั้นกระแสจะเป็นแบบหนึ่ง แต่เรามองว่า ถ้าจะเถียงกันก็เถียงด้วยเหตุและผล บางคนเขาได้ข้อมูลมุมเดียว เขาจะพูดแค่ว่ารัฐบาลไทยรักไทยโกง แต่พอเราถามโกงอะไร เขาก็ไม่ได้ตอบอย่างมีที่มา เรียกได้ว่าต้องรับแรงเสียดทานค่อนข้างเยอะในมหาวิทยาลัย เราโดนทุกทิศทุกทางช่วงนั้น ตกเป็นเป้าเลย
คุณพ่อ ‘สาโรจน์ หงษ์ชูเวช’ อยู่ในลิสต์ผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับการเมือง
คุณพ่อเป็นคนทำงานเบื้องหลังทางการเมืองมาตลอด งานเดิมของคุณพ่อจะเกี่ยวกับด้านการเงิน ตอนเริ่มก่อตั้งพรรคไทยรักไทยก็เป็นผู้ดูแลบัญชีพรรค ต่อมาก็มาเป็น ผอ.พรรค ดูด้านการบริหารจัดการทางการเมืองของพรรคทั้งหมด
คุณพ่อทำงานเบื้องหลังและประสานงานมากกว่าเบื้องหน้า เป็นความถนัด ความคล่องตัวของแต่ละคนที่แตกต่างกัน คุณพ่อคอยช่วยให้การบริหารพรรคเป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อย คอยแก้ไขปัญหา
ล่าสุดเมื่อคุณอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณพ่อผมก็กลับมาอยู่ในตำแหน่ง ผอ.พรรคอีกครั้ง
ตอนรัฐประหารปี 2549 เมื่อรัฐบาลไทยรักไทยถูกรัฐประหาร แล้วยุคนั้นมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ คุณพ่อก็เป็นหนึ่งในชื่อที่ถูก ‘หมายหัว’ ด้วย คืออยู่ในลิสต์ผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับการเมือง พอรัฐประหารปี 2557 ก็อยู่ในลิสต์เช่นกัน
ทหารบุกบ้าน วันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
เราโดนทหารบุกบ้าน โดนทหารติดตาม โดนอายัดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดนอะไรมากมาย แม้จะทำงานเบื้องหลังก็โดน มีเรื่องราวยาวนานเหมือนกัน เช่น ก่อนจะรัฐประหารปี 2557 ผมสังเกตมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 รู้สึกมีความผิดปกติ มีคนตามเรา มีคนมาที่บ้าน พอเช็กไปเช็กมาก็เลยทราบว่าเขามาจาก ‘ราบ 11’ คือรู้ประมาณเดือนมกราคม 2557
พอวันรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ผมไม่ได้อยู่บ้านพอดี เพราะผมไปประชุมที่จังหวัดอุดรธานีเรื่องฟุตบอล วันนั้นผมโทรคุยกับคุณแม่ซึ่งอยู่ที่บ้าน จึงทราบว่าทหารมาบ้าน 40 กว่าคน มาด้วยรถทหาร GMC ใส่โม่งคลุมหน้าคลุมตา พร้อมปืน ไม่เปิดเผยหน้า ไม่แสดงตัว แต่มาถามว่า “ลูกคนเล็กไปไหน” คือเขาถามถึงผม ตอนนั้นผมอยู่ต่างจังหวัด พอพี่ชายทราบว่าทหารไปที่บ้าน พี่ชายผมก็กลับบ้านไปอยู่เป็นเพื่อนแม่
ทหารมาบ้านพลเรือนซึ่งเราก็ไม่ได้มีอาวุธอะไร เหมือนใช้จำนวนทหารมาข่มขวัญ แต่คุณแม่ก็นิ่ง ไม่ได้ไปมีเรื่องโต้เถียงปะทะอะไร จุดมุ่งหมายของทหารคือตามผมกับตามคุณพ่อ เพราะวันนั้นพอรัฐประหารคุณพ่อก็ยังไม่ได้กลับบ้าน ส่วนผมไปประชุมสมาคมฟุตบอลพอดี เราก็ไม่คาดคิด แล้วที่เขาถามถึงลูกคนเล็ก เพราะเขาเห็นรถจอดอยู่ เขาจึงคิดว่าผมอยู่บ้าน
ผมมาปะติดปะต่อเรื่องราวภายหลังจึงทราบว่าเขาตามเรามาก่อนหน้านี้ เพราะรถที่จอดคือรถที่ผมใช้จริง แต่ช่วงก่อนรัฐประหารไม่กี่วันผมยืมรถคันนั้นจากพี่ผมไปใช้ ผมใช้รถคันนั้นได้ไม่กี่วันเอง ผมจึงปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่าเขาตามเรามาเป็นระยะ
จากงานเบื้องหลังมางานเบื้องหน้า
ผมเกิดปี 2530 ตอนรัฐประหารปี 2549 ผมอายุประมาณ 19 ปี ส่วนรัฐประหารปี 2557 ก็อายุ 27 ปี ช่วงที่เริ่มอยากเป็น สส. คือปี 2554 จากเดิมชอบงานเบื้องหลังเพราะได้ซึมซับจากคุณพ่อ เราจึงคิดว่าการทำงานการเมืองไม่จำเป็นต้องอยู่เบื้องหน้าเสมอไป ผมมี DNA ของความเป็นเพื่อไทยเต็มร้อย
การบริหารจัดการเบื้องหลังก็มีความสำคัญ เหมือนทีมฟุตบอลที่การอยู่กองหลังจะเห็นภาพกองกลางและกองหน้าได้อย่างชัดเจน ผมชอบฟุตบอลผมก็ขอเปรียบเทียบกับฟุตบอลดีกว่า (หัวเราะ)
ผมว่าบทบาทการทำงานเบื้องหลังนั้นสำคัญ ถ้าเปรียบเทียบกับฟุตบอล เบื้องหน้าดี แต่ถ้าเบื้องหลังไม่ดี ภาษาฟุตบอลก็ต้องบอกว่าทีม ‘รั่ว’ อันนี้ผมอ้างอิงจากที่ผมเคยดูแลฟุตบอล บริหารสโมสรอุดรธานี เอฟซี กับเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยนะครับ จะทำทีมให้ดี ทั้งกองหน้าและกองหลังต้องสอดรับกันให้ดี ไม่ใช่กองหน้ายิงประตูแทบตาย กองหลังปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามายิงคืนตลอด ก็คงชนะยากนะครับ แบบกองหน้ายิงได้นี่ยังดีนะ แต่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ช่วงนี้กองหน้าก็ยิงไม่ค่อยได้ กองหลังและผู้รักษาประตูก็แจกตลอด นี่พูดจากใจคนเชียร์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เลยนะครับ (หัวเราะ) เรียกว่าทั้งทีมขาดการเล่นที่ประสานกัน จะเห็นได้ว่าฟุตบอลที่เป็นระบบจะสามารถสร้างผลงานได้อย่างดี
การเมืองก็เหมือนกันครับ เราต้องการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการประสานงานกันทุกส่วนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
กระทั่งมีความคิดอยากผลักดันเรื่องกีฬา เรื่องเยาวชน เป็นความถนัดของแต่ละคนในพรรค บางท่านไปถนัดเรื่องเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ ส่วนเราพยายามทำเรื่องที่ถนัดและเราชอบ คือเรื่องกีฬา
แต่ตอนเลือกตั้งปี 2562 ยังทำงานเบื้องหลัง กระทั่งก่อนเลือกตั้งปี 2566 คิดจะเป็น สส. แบบเขต จะได้มีพื้นที่ของตัวเอง ได้ดูแลพื้นที่ด้วย เคยตัดสินใจทำพื้นที่ลาดพร้าวในนามพรรคเพื่อไทย เพราะบ้านเดิมอยู่ที่นั่น ผมเคยเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 คลุกคลีตรงนั้น รู้สภาพพื้นที่ รู้ความต้องการของประชาชน เพื่อนฝูงก็อยู่ตรงนั้นเยอะมาก
สุดท้ายมาลงสมัคร สส. แบบบัญชีรายชื่อ
ช่วงนั้น กกต. แบ่งเขตใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองทุกฝ่ายได้รับผลกระทบหมด ส่วนเขตที่ผมเคยทำพื้นที่มาก่อนก็มีว่าที่ผู้สมัครอีกคนคือพี่อ๋อม-สกาวใจ พูนสวัสดิ์ เป็นว่าที่ผู้สมัครคู่กับผม
ต่อมาผมตัดสินใจถอนตัวเพื่อไม่ให้เป็นปัญหา ไม่ให้กลายเป็นเรื่องว่าผมกับพี่อ๋อมทะเลาะกัน และก็แล้วแต่ผู้ใหญ่ในพรรคจะมอบหมายให้ทำอะไร จะได้ไม่กระทบภาพใหญ่ของพรรคซึ่งมีความสำคัญ โดยพรรคเราต้องการคะแนนเสียง ไม่ได้ต้องการให้เป็นเรื่องทะเลาะกันเองภายในพรรค
ด้วยความที่ผมก็เติบโตจากพรรคนี้มาตั้งแต่เด็ก ผมน่าจะเป็นเด็กคนหนึ่งในไม่กี่คนที่เห็นพรรคนี้มาตลอด อีกท่านที่สำคัญที่เห็นทุกอย่างในพรรคนี้มาตั้งแต่เด็กก็คือท่านหัวหน้าพรรค คุณอิ๊งค์ แพทองธาร ตอนที่ท่านหัวหน้าเข้าเรียนจุฬาฯ ก็อายุไล่เลี่ยกับผม เจอเหตุการณ์ใกล้กัน เป็นคนเจเนอเรชันเดียวกัน
เราเติบโตมาก็ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ลำบากใจ อย่างที่ทราบ คุณพ่อผมก็คอยบริหารจัดการ คอยรับเรื่องราวปัญหา ก็จะเจอเคสแบบผมเยอะมาก ท่านอยู่กับอะไรแบบนี้มาตลอด เช่น ผู้สมัครมีหลายคน พื้นที่ทับซ้อนจะเอาใครลง เขตนี้จะเอาอย่างไร จะเลือกใครดี จะต้องทำอย่างไร
เราเห็นมาหมดแล้ว เราจึงคิดว่าเราถอยเองดีกว่า แล้วแต่ผู้ใหญ่จะมอบหมายบทบาทตรงไหนให้เราทำ
งานการเมืองมีชั้นความลับที่คุณพ่อก็ไม่บอกล่วงหน้า
ผมทราบว่าได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ แต่จะรู้ว่าได้อยู่บัญชีรายชื่อลำดับไหนก็ตอนที่พรรคไปยื่นใบสมัครไปแล้ว ส่วนช่วงก่อนที่พรรคจะไปยื่นใบสมัครผมทราบเพียงว่าอยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่ไม่รู้ลำดับ แม้ว่าคุณพ่อจะทำงานกับพรรคมาตลอด แต่งานการเมืองจะมีชั้นความลับบางอย่างที่คุณพ่อรู้ ท่านก็จะไม่มาบอกใคร
ในขณะเดียวกัน บางอย่างที่ผมทำงานคุณพ่อก็จะไม่รู้ จะเป็นเรื่องการทำงานแต่ละบทบาท ซึ่งคุณพ่อก็จะได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ บางเรื่องรู้ไม่กี่คน คุณพ่อจะมาบอกผมไม่ได้
เรื่องที่อยากผลักดันในฐานะ สส. ใหม่
วันนี้ผมคิดว่าประเทศไทยต้องมีกฎหมายที่ก้าวหน้าทันสมัย โดยเป็นกลไกที่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชน คือเรื่องในรัฐสภา โดยไม่ต้องไปมีเกมบนท้องถนนอีกแล้ว ผมคิดว่าไม่มีใครอยากให้เกิดการปะทะ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมจากฝ่ายไหน ผมคิดว่าเราใช้เวทีรัฐสภา ใช้วิธีเลือกตั้ง ถ้าไม่พอใจก็เลือกตั้งใหม่ใน 4 ปี
ผมเห็นมาตลอด รวมถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่ ณ วันนั้น เราเคยผ่านมาแล้ว เกิดความสูญเสียขึ้นมากมาย เมื่อเทียบการสูญเสีย ระยะเวลา 4 ปีรอการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลใหม่ เทียบกับเหตุการณ์ที่หากจะต้องสูญเสียชีวิตคน และที่สำคัญคือไม่ใช่แค่ชีวิตเดียว แต่คือหลายชีวิต ที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นความสูญเสียที่พรรคเพื่อไทยได้แบกรับไว้
ในความเห็นส่วนตัวผมนะ เราไม่ควรให้ใครต้องเสียสละมากมายขนาดนั้น การเมืองในสภาอาจจะช้า ไม่ทันใจใครหลายคน แต่มันก็รับประกันได้ว่าเราจะไม่ต้องสละชีวิตใครระหว่างทางเพื่อจุดหมายที่ปลายทาง ผมไม่อยากให้กลับไปอยู่ในจุดนั้นอีก ถ้าเลือกได้เราควรถกกันในสภา
ส่วนเรื่องที่อยากผลักดัน ส่วนตัวผมอยากเน้นด้านกีฬา ด้านเยาวชน ผมมองว่าประเทศไทยเสียโอกาสมาหลายปี เช่น เรื่องโครงสร้างทั้งด้านเทคโนโลยี ตัวองค์กรที่รองรับ ร่างกายเยาวชน และด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเราไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่น แต่ตอนนี้เราเหมือนย่ำอยู่กับที่มาเป็นระยะเวลานาน ขาดการส่งเสริมและผลักดันจากภาครัฐ จริงๆ แล้วก็ต้องบอกว่าในการพัฒนานั้นมันต้องถูกตัว ถูกคน และถูกเวลา จึงจะทำให้ไปได้ไกล หากตัวผู้กำหนดทิศทางไม่เข้าใจถึงแนวทางเหล่านี้ การจะทำให้นักกีฬาไทยไปถึงระดับโลกก็คงเป็นเรื่องยาก
ผมจะผลักดันผ่านที่ประชุมรัฐสภาและกรรมาธิการ หรือสะท้อนไปยังท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมาเราไปใช้งบประมาณกับสิ่งที่ไม่จำเป็นเยอะมาก ขณะที่วันนี้เราขาดโอกาส สนามกีฬาที่เรามีก็ไม่สามารถรองรับอีเวนต์ใหญ่ๆ ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือศิลปินระดับโลก เพราะสนามที่มีก็ไม่เอื้ออำนวย ขณะที่รอบประเทศเรา มาเลเซียเขารีโนเวตสนามใหม่ สิงคโปร์ก็ลงทุนสนามกีฬาแห่งชาติสี่หมื่นกว่าล้าน
สนามกีฬาที่เรามี ราชมังคลากีฬาสถาน, สนามกีฬาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ใช้มาตั้งแต่แข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 2541 สร้างนานแล้ว สนามศุภชลาศัยยิ่งเก่าไปใหญ่
บางประเทศขยายสนามกีฬาได้ แต่ของไทยขยายต่อไม่ได้ ผมคิดว่าโอกาสด้านกีฬาเราควรจะมีให้มากกว่านี้ และควรสร้างระบบที่สนับสนุนนักกีฬาทุกประเภท เยาวชนไทยเก่ง แต่เขาขาดโอกาส ขาดการเอาใจใส่จากภาครัฐ ถ้าภาครัฐสนับสนุนไปคนละทิศละทาง หากผู้นำวางแนวทางไม่ดี วางรากฐานไม่ดี ต่อให้นักกีฬาจะมีพรสวรรค์มากมายเท่าไร ก็เป็นเรื่องยากที่นักกีฬาจะเติบโตไปแข่งขันระดับนานาชาติได้
เราควรสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬา เพื่อให้พวกเขาพร้อมไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศ และกลับมาเป็นกำลังหลักในการเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันกับนานาชาติ และเราต้องยอมรับว่าการจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับตัวนักกีฬานั้นต้องใช้งบประมาณ เราปล่อยให้นักกีฬากระเสือกกระสนไปตามยถากรรมไม่ได้ เราต้องวางโครงสร้างด้านกีฬาใหม่ทั้งหมด และต้องทำให้ดีด้วย
ความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนที่เคยมีข่าวว่าผมไปช่วยพรรคพลังประชารัฐ เป็นเพราะผมสนิทกับพี่ไผ่ ลิกค์ หรือ ‘ไผ่ วันพอยท์’ สส. เขต 1 กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ
กลุ่มวันพอยท์เป็นกลุ่มที่มีมายี่สิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ ตอนผมอายุ 12-13 ปี ผมรู้จักรุ่นพี่ในวงการรถแข่ง แต่ยังไม่ได้ไปเข้าร่วมกลุ่ม
กลุ่มเราอยู่กันมายี่สิบกว่าปี ส่วนกลุ่มรถแข่งกลุ่มอื่นๆ ก็มี แต่ขอไม่เอ่ยชื่อพาดพิงเขา ซึ่งประเทศไทยมีคนเก่งด้านนี้มาก เวลาโมดิฟายรถเราดัดแปลงให้เป็นเทคโนโลยีของคนไทยได้ ผมมองว่า ณ ปัจจุบัน คนไทยทำรถได้ดีมาก แต่รถแข่งมีความเฉพาะ บางอย่างต้องทำให้เบา บางอย่างทำให้แรง ช่างไทยได้รับการยอมรับในจุดนี้มานาน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ของไทยก็ไม่ผิดเลย
นิยาม ‘วันพอยท์’
กลุ่มวันพอยท์ก็คือการรวมตัวในจุดจุดหนึ่ง ถ้าจะอธิบายความเป็นวันพอยท์ก็คือ คนที่สนใจด้านมอเตอร์สปอร์ต ด้านรถแข่ง แล้วรุ่นพี่ก็รักษากลุ่มที่มีเครือข่ายหลายร้อยหลายพันคน แต่ละคนก็เติบโตมีตำแหน่งไปในแต่ละวงการหลายคน
ด้วยความที่เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นจึงมีเหตุการณ์ทั้งบวกและลบ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตวัยรุ่นทุกคน
วันพอยท์ ในวันที่เราเติบโตแล้วเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร นิ่งขึ้นตามอายุ ไม่ได้ซ่า ไม่ได้เฮ้วอย่างตอนเด็กๆ เวลาไปเที่ยวต่อให้คนอื่นมาทำร้ายก่อน แต่พอตำรวจเห็นเป็นกลุ่มนี้เขาก็จะตราหน้าพวกเราว่าพวกนี้เริ่มก่อนแน่ แต่จริงๆ แล้วเราโดนเขาทำร้ายก่อน
งานสงกรานต์ มีอยู่ครั้งหนึ่งเราไปเที่ยว ระหว่างเดินกลับก็มีอีกแก๊งหนึ่ง คงจะเป็นวัยรุ่นแถวๆ นั้น มากระชากสร้อยแล้วต่อยหน้าเพื่อนผม แล้วก็วิ่งหายไป เราก็วิ่งตามจะไปเอาสร้อยคืน ก็เลยมีการชกต่อยกัน กลุ่มพวกผมไปกันที 40-50 คน ไม่ได้ไปกันน้อยๆ แต่เราก็ไม่ได้ไปหาเรื่องใครนะ เราไปเที่ยวกัน ไปสนุก พอเกิดเรื่องกลายเป็นเราโดนชี้หน้าก่อนเลย
ตอนนั้นปี 2554 คนในกลุ่มวันพอยท์คนหนึ่งก็เป็น สส. คือพี่ไผ่ ส่วนผมก็เป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นคณะทำงานนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผมไปเที่ยวสงกรานต์ สภาพเล่นสงกรานต์ใส่กางเกงขาสั้น เจอตำรวจเดินมาชี้หน้า เขาคงคิดว่าพวกเราเริ่มก่อน เขาคงไม่คิดว่า สส. หรือนักการเมืองอะไรแต่งตัวแบบนี้ แต่สุดท้ายก็มีภาพจากกล้องวงจรปิด เราไม่ได้เริ่มเรื่องก่อน
นับอย่างไรใครอยู่ในกลุ่ม แล้วร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ในกลุ่มด้วยไหม
นักการเมืองในกลุ่มวันพอยท์มีผมกับพี่ไผ่ ส่วนพี่นัสมีความคลุกคลีกับพวกเรา แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวันพอยท์
คนที่จะเข้ากลุ่มก็จะมีการรับน้อง แต่เราไม่ได้รับน้องพี่นัสนะ (หัวเราะ) เราถือว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักกันมานาน สิบกว่าปีที่แล้วพี่นัสมาเฮฮาด้วย แต่หลังๆ ท่านไม่ได้มาเฮฮาด้วยเพราะท่านมีตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องดูแลพี่น้องประชาชน
กิ๊ก ณณัฏฐ์ กับความทรงจำในไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย
สมัยนายกฯ ทักษิณผมยังเป็น ‘เด็กเกาะเบาะ’ คอยดู คอยเชียร์ แต่รับรู้ว่าท่านทำอะไรบ้าง ผมสัมผัสได้ว่าความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างไร เวลาท่านไปปราศรัยคนจะมาเยอะมาก
ส่วนนายกฯ คนที่ 2 ของพรรคคือท่านสมัคร สุนทรเวช จากการเลือกตั้งปลายปี 2550 ต่อด้วยท่านนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ผมยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยยังอยู่ตึกชินวัตรไหมไทย ถนนพระราม 4 แล้วค่อยกลับมาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตึกปัจจุบัน
เดิมมีตึกมูลนิธิ 111 ไทยรักไทย ย่านนางเลิ้ง มีที่ทำการตรงถนนราชวิถี ใกล้บ้านท่านสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ตรงราชวัตรก็เคยจะใช้ ผมทันทุกตึกที่ทำการพรรค
ท่านนายกฯ สมัคร มีโครงการรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
ส่วนนายกฯ สมชาย พลังประชาชนถูกยุบพรรค ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ พรรคก็มีกลุ่มที่แยกไปพรรคภูมิใจไทย
ช่วงก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก แข่งกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้สภาโหวตเลือกนายกฯ ช่วงนั้นหน้าบ้านผมมีคนเอาระเบิดมาวาง เป็นระเบิดขวดที่ยังทำงานได้ถ้าเกิดความร้อน กับระเบิดน้อยหน่าไม่มีไส้ ก่อนจะเลือกนายกฯ ไม่กี่วัน ตอนนั้นบ้านผมเจอระเบิดมาวางอยู่บ้านเดียว รับจบทุกเรื่องราว (หัวเราะ)
สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ผมเรียนจบแล้ว ผมเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นคณะทำงานนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ได้เจอกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์มาตลอดก่อนที่ท่านจะเข้าการเมือง ได้รับรู้ว่าท่านเป็นนักบริหารและเป็นคนเก่งด้านเทคโนโลยีมากๆ ท่านเป็นผู้บริหารเอไอเอส เวลาเจอท่านก็จะอัปเดตเทคโนโลยีตลอด ท่านเรียนจบนอก หัวสมัยใหม่ ไม่ต้องอัปเดตจากใคร ผมอัปเดตเทคโนโลยีก็จากท่านนายกฯ นี่เอง
แล้วตอนนั้นสถานการณ์บ้านเมืองต้องการคนประนีประนอม นอบน้อม ซึ่งท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์มีคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ ในสถานการณ์หลังปี 2553 มีความคุกรุ่นมาตลอด ภาพจึงซอฟต์ลง แล้วท่านมุ่งมั่นทำงาน มีความเข้มแข็ง ตั้งใจทำงาน ผมไปร่วมทริปกับท่านทุกเหตุการณ์ ตั้งแต่วันแรกที่ท่านประกาศจะลงการเมือง และวันแรกของการลงสมัครรับเลือกตั้ง
ปีนั้นผมอัปเลเวลจาก ‘เด็กเกาะเบาะ’ กลายเป็น ‘เด็กท้ายรถ’ แล้ว (หัวเราะ) ผมจำได้แม่นเลย ในวันที่เดินทางไปสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เพื่อทำการจับหมายเลขพรรค บนรถที่ไปมีไม่กี่คนในรถ มีท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีคุณพ่อ มีผมอยู่หลังรถท่าน
วันนั้นมีคนไปรอเยอะมาก ท่านยงยุทธ วิชัยดิษฐ จับหมายเลข พรรคเพื่อไทยได้เบอร์ 1 ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนั้นผมได้เริ่มติดตามไปกับทีมหาเสียง ต้องบอกเลยว่าท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แกร่งมากจริงๆ ทุกๆ วันต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมตัว วันไหนนัดที่สนามบินเวลา 06.00 น. ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะต้องตื่น 03.00 น. หรือไม่ก็ไม่เกิน 04.00 น. แน่ๆ อันนี้ผมเดานะ เพราะเข้าใจว่าในความเป็นผู้หญิงก็ต้องเตรียมตัวมากหน่อย ต้องออกไปพบคนมากมายก็ต้องมีการเตรียมตัวแต่งหน้าทำผมเป็นเรื่องปกติ จะขึ้นเครื่อง 06.00 น. เวลา 05.00 น. กว่าๆ ก็ต้องเช็กอินแล้วนะ ไหนจะการเดินทางที่บางวันต้องไปหลายจังหวัด กินข้าวบนรถนี่บ่อยมากครับ
บางครั้งกลับกรุงเทพฯ ไฟลต์บินสุดท้ายเวลา 21.00-22.00 น. กว่าจะถึงบ้าน 23.00-00.00 น. เป็นแบบนี้วนไปตลอดการหาเสียง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผมได้เห็นเลยว่าท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นผู้หญิงที่แกร่งมากจริงๆ ทั้งร่างกายและจิตใจเลย
หลังจากชนะการเลือกตั้ง ช่วงนั้นผมยังทำงานเบื้องหลัง คอยประสานงาน รับความต้องการของ สส. เวลาเขามีปัญหา ตอนนั้นยังไม่สนใจในการทำงานเบื้องหน้า สนุกกับการทำงานเบื้องหลังมาก
หลังเลือกตั้งปี 2566 ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
หลังตั้งรัฐบาล ผมเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาลท่านนายกฯ เศรษฐา ต่อมาผมเป็น สส. บัญชีรายชื่อ แต่ก็ได้ไปช่วยงานท่านตั้งแต่ท่านเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เพราะท่านมาจากภาคธุรกิจ ส่วนเราอยู่กับพรรคมานานก็ไปช่วยประสานงาน เพื่อให้ท่านเชื่อมกับผู้สมัครและนักการเมืองได้ราบรื่นขึ้น
ตอนหาเสียงเลือกตั้งต้องปรับตัวกันทุกฝ่าย ต้องพยายามจูนกันให้ติด เพราะการเมืองต้องทำงานกันเป็นทีม ทุกคนมีบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง ตั้งแต่เลือกตั้งมาถึงตอนตั้งรัฐบาล ทุกวันนี้การทำงานร่วมกันเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ท่านนายกฯ เป็นคนทำงาน และทำงานหนักมากๆ ทำงานจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย สส. ก็ยอมรับท่านนายกฯ ว่าท่านทำงานหนักไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เพราะนักการเมืองหลายท่านในวันนี้แต่ละคนเขาก็มีความเก๋าของเขา ก็ต้องมีการ ‘ลองเชิง’ ด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องปกติ แม้ท่านจะมาจากภาคธุรกิจลำดับต้นๆ ของประเทศ ในสังคมไทยอย่างไรก็ต้องมีกระบวนการทดสอบเพื่อให้เป็นที่ยอมรับด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)
ในการทำงานทุกที่ล้วนมีวัฒนธรรมในการทำงานที่แตกต่างกัน ในการเมืองก็มีเหมือนกันครับ ท่านนายกฯ ท่านมาจากภาคธุรกิจ ท่านมีแนวทางแบบนักธุรกิจ คือคิดไว ลงมือเร็ว ฝ่ายการเมืองก็ต้องใช้ทุกองคาพยพที่มีสนับสนุนท่านนายกฯ เมื่อต้องทำงานร่วมกัน ทุกคนล้วนต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ตัวผมเองเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ ในการประสานงานเพื่อให้การทำงานเบื้องหน้าเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งท่านนายกฯ เศรษฐาเข้าใจเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา
ล่าสุดมี สส. ในพื้นที่บอกท่านนายกฯ ว่ามีปัญหาการขายน้ำกระท่อมให้เยาวชน เมื่อท่านนายกฯ ทราบก็ได้ประสานตำรวจจัดการเรียบร้อยหมด ท่านนายกฯ แก้ไขให้ทันที ด้วยความเป็นนักธุรกิจ ด้วยความไวมาก แล้วผมก็ได้เรียนรู้การทำงานจากท่านเยอะมาก
กิ๊ก-ณณัฏฐ์ เป็นลูกชาย ‘พี่สาโรจน์’ โดนรับน้องด้วยไหม
กว่าผมจะผ่านตรงนี้มาก็ไม่ง่ายเช่นกัน ผมก็ต้องผ่านการทดสอบการทำงานที่ต้องมีความอดทน ผมเคยเจอข้อครหาเยอะ แต่สุดท้ายผมแก้ปัญหาทีละเรื่อง ซึ่งก็จะมีทั้งคนที่แฮปปี้และไม่แฮปปี้ เราไม่จำเป็นต้องทะเลาะกับคนที่ไม่แฮปปี้ เราคอยแก้ปัญหาให้เขาใหม่ ถ้าเราทำใจไม่ได้ที่จะมีคนตำหนิเราจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เราต้องหนักแน่นในการทำงาน
ส่วนเรื่องคุณพ่อ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นลูกใคร ทายาทของนักการเมืองทุกคนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะถูกมองเป็น ‘เด็กเส้น’ แต่ผมมองว่า เมื่อเราทำงานแล้วแก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้หรือเปล่า เรารู้ว่าเราทำอะไร ส่วนคนไม่พอใจก็คงมี แต่การที่ทำงานแล้วสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญกว่าใครมองเราอย่างไร
แต่ละพื้นที่ สส. คนไหน ผู้สมัครชื่ออะไร เป็นเรื่องที่เรามีข้อมูลมาตลอด แรงเสียดทานมีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เราก็ต้องหาวิธีทำงานให้ได้
บางคนเขาก็อาจจะมีอคติ เราเห็นมาตลอด มันเป็นเรื่องการเมือง ผมก็โดนมาตั้งแต่เด็กว่าเราเป็น ‘เด็กเส้น’ เพราะเป็น ‘ลูกสาโรจน์’ แต่เราต้องเน้นการทำงานให้คนในพรรค ให้ทุกคนเห็นว่าเราทำได้ เช่นเดียวกับพ่อผมที่ต้องรับทุกเรื่อง ต้องช่วยแก้ปัญหาทุกเรื่องเพื่อให้พรรคราบรื่นที่สุด
ในสนามการเมืองนั้น การที่เราเป็นลูกใคร เป็นคนของใคร หรือที่เรียกว่าการ ‘มีเส้น’ อาจทำให้เราได้รับโอกาสในการเปิดประตูสู่เส้นทางสายนี้ แต่ผลงานและการเป็นที่ยอมรับจากประชาชนจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะเดินบนเส้นทางการเมืองไปได้ไกลเท่าไร ถนนสายการเมืองมันยาวไกลมากนะครับ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเดินบนถนนสายนี้อย่างราบรื่นตลอดไป เส้นสายอาจทำให้เราได้รับโอกาส แต่ความสามารถที่แท้จริงต่างหากที่จะทำให้เราเดินไปได้ไกล อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวผมนะครับ
พรรคเพื่อไทยมีคู่แข่งใหม่คือพรรคก้าวไกล คนเจเนอเรชันเดียวกัน
พรรคเพื่อไทย ท่านนายกฯ คือนายกฯ เศรษฐา และคุณอิ๊งค์เป็นหัวหน้าพรรค ทำงานเรื่อง 30 บาท กับซอฟต์พาวเวอร์ งานท่านเยอะแล้ว
ผมมองว่าทุกพรรคมีมุมที่เขาขายได้ ส่วนเราก็มีมุมที่เราขายได้ ต่างคนต่างมีมุมที่ขายได้ เป็นคู่แข่งทางการเมืองภายในกติการัฐสภา การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร เป็นธรรมชาติการเมืองไทย
รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลังเลือกตั้งปี 2566 มีพรรคร่วมเป็นฝ่ายที่เคยขับไล่ตัวเอง ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนจุดยืนไปแล้วหรือไม่
จุดยืนพรรคเรายังคงเหมือนเดิม คือเราไม่เคยเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร และยึดมั่นในระบบรัฐสภา ทำอย่างไรให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ประเทศไทยสามารถยืนอย่างสง่าผ่าเผยได้บนเวทีโลก เหมือนอย่างที่เราทำมาตลอดตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย
การที่เรามีพรรคร่วมที่เคยขับไล่เรา ไม่ได้แปลว่าเราเห็นด้วยกับพวกเขาในทุกมิติ และเราก็ต้องไม่ลืมนะครับว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคใด สส. ทุกท่านก็ล้วนมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ไม่มีใครได้รับการแต่งตั้งเข้ามา ไม่มีใครจับฉลากเข้ามา ดังนั้นแล้ว ถ้าเราไม่สามารถพูดคุยหรือร่วมงานกับพรรคใดเลยนั่นก็เท่ากับว่าเราปฏิเสธเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคอื่นๆ เข้ามาเช่นกันนะครับ
ดังนั้นแล้ว การหาจุดร่วมเป็นหน้าที่ของ สส. อย่างเราครับ เพราะการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของคน 500 คนในสภาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของประชาชนที่เลือก สส. เข้ามาด้วยครับ
ต้องบอกว่าจุดยืนของพรรคเรายังคงเหมือนเดิม แต่เราต้องสามารถหาจุดร่วมให้กับทุกฝ่ายให้ได้ครับ การเมืองไม่ใช่การเอาชนะคะคานกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา หน้าที่หลักของนักการเมืองและพรรคการเมืองคือการทำงานผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ได้เคยให้ไว้กับประชาชนอย่างสุดความสามารถ เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราต้องหาจุดร่วมกันเพื่อให้สามารถผลักดันนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม รวมไปถึงต้องสร้างสังคมที่รองรับความแตกต่างทางความคิดให้กับทุกฝ่ายเช่นกันครับ