การศึกษาล่าสุดของ Meta ภายใต้หัวข้อ ‘Bold Moves: Leading Southeast Asia’s Next Wave of Consumer Growth’ ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกและมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับเทรนด์ผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีการร่วมมือกับ Bain & Company ในการจัดทำ
รายงานนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงทิศทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเน้นย้ำเป้าหมายและกลยุทธ์ที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของตลาดในปี 2567
หนึ่งในเทรนด์ที่น่าจับตามองคืออิทธิพลของ Gen Z ซึ่งเกิดระหว่างปี พ.ศ. 2539-2555 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะในประเทศไทย กลุ่มประชากร Gen Z ที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานและเริ่มมีรายได้นั้นมีจำนวนกว่า 500 ล้านคนในภูมิภาค และจะคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในไม่ช้า
จากการสำรวจล่าสุดของ Meta พบว่า 82% ของ Gen Z ในภูมิภาคแสดงว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนออนไลน์อยู่แล้ว ในขณะที่รายงาน Meta Gen Z Shoppers – Thailand Report เผยว่า 91% ของ Gen Z ใช้ Facebook และ 83% ใช้ Instagram
เทรนด์ของเศรษฐกิจของครัวเรือนแบบอยู่คนเดียว (Solo Economy) ก็เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สำคัญ ผลศึกษาดังกล่าวได้เผยว่าจำนวนครัวเรือนขนาดเล็กลงและครัวเรือนแบบอยู่คนเดียวกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วภูมิภาค ในปัจจุบันจาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอัตราการเพิ่มของครัวเรือนแบบอยู่คนเดียวสูงที่สุด มี 3 ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยมีการคาดการณ์ว่าจำนวนครัวเรือนแบบอยู่คนเดียวในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 20% ภายในปี 2573 การเติบโตของกลุ่มประชากรนี้มีผลกระทบต่ออัตราการเลี้ยงสัตว์เลี้ยง และความต้องการด้านการอยู่อาศัย สินค้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยคนเดียวก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
รวมถึงรูปแบบการพักผ่อนและการเลือกรับสื่อก็ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไป โดยความต้องการซื้อสินค้าขนาดเล็กจะเพิ่มสูงขึ้นและมีความถี่มากขึ้น และในอนาคตจะมีกลุ่มลูกค้าที่ใช้เวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้นในการติดตามครีเอเตอร์ รวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบนโลกออนไลน์
เทคโนโลยี AI ก็เป็นเทรนด์ที่มีความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปีที่เทคโนโลยี AI ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการพัฒนาเทคโนโลยี Generative AI โดยมีการคาดการณ์ว่าการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้และในอนาคต
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการที่วงการการตลาดและครีเอทีฟได้นำเทคโนโลยี Generative AI มาทดลองใช้ในหลากหลายขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่การเขียนคำโฆษณา (Copywriting) ไปจนถึงการสร้างสรรค์แนวคิดเชิงครีเอทีฟในการเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น
การส่งข้อความเชิงธุรกิจก็เป็นเทรนด์ที่มีการเติบโต โดยในแต่ละวันมีบทสนทนาระหว่างผู้ใช้งานทั่วไปกับธุรกิจบนแพลตฟอร์ม Meta กว่า 600 ล้านข้อความต่อวัน ผลศึกษาระดับโลกล่าสุดโดย Kantar ที่สนับสนุนโดย Meta เผยว่า 71% ของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเลือกที่จะส่งข้อความหาเพจธุรกิจมากกว่าการหาข้อมูลบนเว็บไซต์ และ 69% ของลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าหรือทำธุรกิจกับบริษัทที่สามารถติดต่อได้ผ่านการส่งข้อความ
นอกจากนี้ สำหรับในประเทศไทย การส่งข้อความเชิงธุรกิจยังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องอย่างสูง โดยจากผลสำรวจเผยว่า 81% ของคนไทยรู้สึกใกล้ชิดกับธุรกิจมากขึ้นเมื่อพวกเขาสามารถส่งข้อความหาธุรกิจได้โดยตรง และมีกว่า 78% ของคนไทยที่ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์ส่งข้อความหาธุรกิจอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
สุดท้ายคือความนิยมของวิดีโอขนาดสั้น เช่น Reels เป็นรูปแบบคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ตที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งในด้านวัฒนธรรมและประชากรศาสตร์ จากการสำรวจผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 13-64 ปี ในภูมิภาค
เมื่อเร็วๆ นี้ โดยทีมวิจัยการตลาดธุรกิจและธุรกิจอัจฉริยะ (Business Marketing Research and Intelligence) ร่วมกับองค์กรวิจัย Factworks พบว่าผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มที่จะติดตามธุรกิจมากขึ้น 77% แท็กแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ 72% หรือซื้อสินค้า 72% หลังจากการรับชม Reels นอกจากนี้ 84% ของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคยังเคยแชร์ Reels ให้กับเพื่อนหรือครอบครัวอีกด้วย
ปัจจุบันมีผู้ใช้ Reels กว่า 2 แสนล้านครั้งต่อวันบน Facebook และ Instagram นอกจากนี้ Reels ยังเพิ่มการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มมากขึ้นกว่า 40% โดยประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ของโลกที่นิยมในการสร้างคลิปวิดีโอ Reels
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีผลกระทบต่อวิธีการทำตลาดและกลยุทธ์ทางธุรกิจ ตั้งแต่การเติบโตของกลุ่ม Gen Z ที่มีอิทธิพลต่อตลาดดิจิทัล ไปจนถึงการเติบโตของ Solo Economy ที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของความต้องการด้านสินค้าและบริการ
การใช้งาน AI และการสื่อสารผ่านข้อความเชิงธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวิธีการเข้าถึงและการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ขณะที่การใช้วิดีโอขนาดสั้นเป็นการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของการบริโภคคอนเทนต์และการสื่อสารทางการตลาด
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่ธุรกิจและนักการตลาดควรให้ความสนใจและปรับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันและอนาคต