วานนี้ (19 มกราคม) ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืนให้ทันท่วงที
โดยให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับพวก รวม 10 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 ว่าละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
ศาลปกครองเชียงใหม่ให้เหตุผลว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และกรมควบคุมมลพิษ ปรากฏว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือมีฝุ่น PM2.5 ในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พ.ศ. 2566 ประกอบกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 1 (เชียงใหม่) ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคมะเร็งปอด และโรคหืดหอบ โดยมีจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2566
เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นว่าพื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีค่าสูงกว่ามาตรฐานในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง กรณีนี้ถือว่าพื้นที่ภาคเหนือเกิดภาวะมลพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน, แพร่, น่าน, ตาก, สุโขทัย และพิษณุโลก มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินกว่า 50 มคก./ลบ.ม. เป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน และบางช่วงมีปริมาณสูงเกินกว่า 100 มคก./ลบ.ม. (ระดับที่ 4) เป็นอย่างมาก
แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะได้ดำเนินการเพื่อสั่งการให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือยังคงตกอยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่อยู่ในสถานการณ์วิกฤตในระดับที่ 4 และพิจารณากลั่นกรองแนวทางแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5 เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน
กรณีนี้จึงถือว่านายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควรในการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลร้ายจากฝุ่น PM2.5