×

ฉากทัศน์ช่องแคบไต้หวัน หลัง DPP ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี

15.01.2024
  • LOADING...
ผลเลือกตั้ง ไต้หวัน

การเลือกตั้งไต้หวันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2024 จบลงไปแล้ว โดยชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นของพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) โดย ไล่ชิงเต๋อ ได้คะแนนเสียง 40.05% ในขณะที่ โหวโหย่วอี๋ แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และ เคอเหวินเจ๋อ จากพรรคไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) ได้คะแนน 33.49% และ 26.46% ตามลำดับ

 

ชัยชนะของ DPP ที่ได้เป็นประธานาธิบดี 3 สมัยเป็นครั้งแรกของไต้หวันถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่สะท้อนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มี ‘Identity Crisis’ และความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นบทสรุป เมื่อ 1. กว่า 80% ของนิสิต-นักศึกษา และกว่า 62% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียกตนเองว่าคนไต้หวัน ที่ออกมาแสดงฉันทมติว่าพวกเขาไม่ต้องการการรวมชาติกับจีน (ณ​ ปัจจุบัน) พร้อมๆ กับที่ 2. พรรค TPP คือทางเลือกใหม่ที่ต้องการรื้อสร้างสถาบันเก่า นั่นทำให้เสียงของกลุ่มกลางๆ ที่ต้องการรักษา Status Quo กับแผ่นดินใหญ่มีเสียงที่แตกออกเป็น 2 กลุ่มระหว่าง KMT และ TPP 

 

การเลือกตั้งในปี 2024 ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่ของเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ จากเดิมที่มักจะเป็นการเปลี่ยนขั้วสลับไปมาระหว่าง DPP (ที่ผู้นำปัจจุบันลดความสุดโต่งที่ต้องการประกาศเอกราชลง) สลับกับ KMT ที่ยึดมั่นในหลักการจีนเดียว (ที่มีการตีความแตกต่างจากแผ่นดินใหญ่)

 

จากการสังเกตการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลที่ผ่านมาของผู้เขียน โดยความคิดเห็นส่วนตัว ผู้เขียนวิเคราะห์ถึงประเด็นฉากทัศน์สถานการณ์ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และการแทรกแซงของมหาอำนาจภายนอกไว้ 5 ฉากทัศน์ ดังนี้ 

 

ฉากทัศน์ที่ 1 ดำรง Status Quo (โอกาสความเป็นไปได้: มากกว่า 50-60%)

 

สังเกตจากการที่ก่อนเลือกตั้ง ไล่ชิงเต๋อเลิกเรียกตนเองว่าเป็นฝ่าย Pro-Independence ในขณะที่หลังการเลือกตั้งฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่ก็โฟกัสที่ชัยชนะของฝ่ายไต้หวันสายจีนเดียวและอยู่ร่วมกับจีนอย่าง KMT (สส. 52 คน เพิ่มขึ้น 14 คน) และ TPP (สส. 8 คน) ในสภานิติบัญญัติ ถึงจะไม่ได้ที่นั่งแตกต่างจนมีนัยสำคัญกับฝ่าย DPP (สส. 51 คน ลดลง 10 คน) แต่แน่นอนว่าเสียงในสภาที่ DPP ไม่ได้ชนะอย่างขาดลอยจะทำให้การบริหารของรัฐบาลไล่ชิงเต๋อลำบากไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง

 

ฉากทัศน์นี้วางอยู่บนหลักการที่ว่าทุกฝ่ายไม่ต้องการความสูญเสีย และพิจารณาจากผลสำรวจความคิดเห็นที่คนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการรักษา Status Quo (สถานภาพที่เป็นอยู่เดิม)

 

ฉากทัศน์ที่ 2 กดดัน ตึงเครียด แต่ไม่ปะทะ (โอกาสความเป็นไปได้: มากกว่า 20-25%)

 

การซ้อมรบในบริเวณช่องแคบไต้หวันโดยฝ่ายจีนอาจมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นและมีความถี่ที่สูงมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการกดดันทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากไต้หวัน หรือในวันที่จีนมีศักยภาพเพียงพอในการพึ่งพาตนเองทางเซมิคอนดักเตอร์ (ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ วันนี้ ปัจจุบันนี้ทุกๆ 1 นาทีจีนส่งออกชิปคอมพิวเตอร์มากกว่า 5 แสนชิ้นสู่ตลาดโลก) นั่นจะทำให้จีนลดการพึ่งพาไต้หวันได้อย่างมีนัยสำคัญ และยิ่งทำให้จีนสามารถเพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันได้มากขึ้น

 

ฉากทัศน์ที่ 3 เดินหน้าสู่การยึดครองไต้หวัน โดยสูญเสียน้อยที่สุด (โอกาสความเป็นไปได้: 10-15%)

 

หากรัฐบาล DPP ดำเนินนโยบายที่ดูก้าวร้าวสำหรับจีนมากยิ่งขึ้นและมีมหาอำนาจภายนอกให้การสนับสนุน การยึดครองไต้หวันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจีนประกาศเจตนารมณ์ไว้แล้วในทุกครั้งว่า การรวมชาติเป็นภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จีนคงไม่ต้องการสร้างความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินให้กับคนไต้หวันบนเกาะ เพราะจะมีประโยชน์อะไรหากชนะสงครามแต่ได้ความเกลียดชังของผู้คนบนเกาะที่จะเป็นมณฑลแห่งใหม่เข้ามารวมกับประเทศเดิม เพราะนั่นเท่ากับว่าเป็นการสร้างคลื่นใต้น้ำลูกใหม่ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในหลังการรวมชาติ 

 

ดังนั้นจีนจะไม่ใช้อาวุธหนักประเภทขีปนาวุธถล่มเข้าไปบนเกาะไต้หวัน หากแต่จะใช้วิธีกดดันทางเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการที่ไม่ทำให้เกิดความสูญเสียจนเกินไปนัก โดยจะดำเนินการจากเบาไปหาหนัก เช่น เริ่มต้นจากการตัดเคเบิลใยแก้วของระบบโทรคมนาคมทั้งหมด ที่จะทำให้คนไต้หวันไม่สามารถเข้าถึงระบบสื่อสารโทรคมนาคม, การควบคุมเส้นทางการเดินเรือ จนไม่สามารถขนส่งอาหารและพลังงานเข้าสู่เกาะที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองทางความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ไปจนถึงสูงสุดอย่างการทำลายสนามบิน ท่าเรือ และที่มั่นทางการทหาร ซึ่งแน่นอนว่าจีนล็อกเป้าเหล่านี้ไว้โดยระบบขีปนาวุธที่มีความแม่นยำสูงอยู่แล้ว โดยในฉากทัศน์นี้ปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงที่ต้องจับตาคือ การดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกา

 

ฉากทัศน์ที่ 4 สงครามเต็มรูปแบบเพื่อยึดครองไต้หวัน (โอกาสความเป็นไปได้: น้อยกว่า 5%)

 

หากไต้หวันประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ โดยอาจจะใช้ชื่อ ‘สาธารณรัฐไต้หวัน’  เพื่อแสดงออกว่าเราไม่ใช่คนจีนและไม่เป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกต่อไป โดยมีมหาอำนาจตะวันตกสนับสนุนอย่างออกนอกหน้า นั่นหมายความว่าจีนก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้กองกำลังเข้ายึดครองไต้หวันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตามคาดการณ์ของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ เชื่อว่า จีนจะมีความพร้อมทางการทหารสูงสุดหลังปี 2027 (ซึ่งเร็วขึ้นกว่าการคาดการณ์เดิมที่ปี 2030) 

 

หากแต่โอกาสเกิดขึ้นของฉากทัศน์นี้เชื่อว่าจะต่ำอย่างยิ่ง เนื่องจากสหรัฐฯ เองก็มีภาระเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมกับภาระในการสนับสนุนสงครามในตะวันออกกลางและในพื้นที่อื่นๆ อยู่แล้ว ร่วมกับปัจจัยการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ เองที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2024 ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะและได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2025

 

ฉากทัศน์ที่ 5 ไต้หวันที่เดินหน้าสู่กระบวนการรวมชาติ (โอกาสความเป็นไปได้: ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากใกล้ 0% จนถึงต่ำกว่า 5% ณ​ ปัจจุบัน สู่ความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยสำคัญจนถึงปี 2049)

 

ระเบียบโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว และคงมีโอกาสต่ำมากที่โลกจะกลับไปอยู่ในรูปแบบมหาอำนาจขั้วเดียวที่สหรัฐฯ ควบคุมระเบียบในทุกมิติทางการเมือง ความมั่นคง จนถึงเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จีนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีพลังอำนาจในการกำหนดระเบียบโลกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในการกำหนดกฎกติการสากลร่วมกันในรูปแบบ Biased Multipolarity ที่สหรัฐฯ จีน และยุโรปยังมีอิทธิพลสูง แต่ประเทศอื่นๆ ที่รวมกลุ่มกันติดก็จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นหากสิ่งแวดล้อมในอนาคตไปในทิศทางนี้ 

 

ควบคู่กับการที่จีนยังคงยึดมั่นในเป้าหมายที่เขียนไว้ชัดเจนในอารัมภบทแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ว่า “Taiwan is part of the sacred territory of the People’s Republic of China. It is the sacred duty of all the Chinese people, including our fellow Chinese in Taiwan, to achieve the great reunification of the motherland.” (ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนทุกคน รวมถึงเพื่อนชาวจีนของเราในไต้หวันที่จะต้องบรรลุถึงมหาการรวมแผ่นดินมาตุภูมิครั้งใหญ่) 

 

ทำให้เชื่อว่า ในอนาคต…จีนคงจะหาแนวทางที่สร้างสรรค์ในการรวมชาติได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ภาพ: ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising