จะดีกว่าหรือไม่หากเรามีผู้ช่วย AI ขนาดพกพาที่สามารถสั่งการด้วยเสียงโดยไม่จำเป็นต้องหยิบโทรศัพท์มากดคำสั่งบนแอปที่มีอยู่นับสิบนับร้อยในสมาร์ทโฟนของเรา?
ล่าสุดภายในงาน Consumer Electronic Show 2024 ณ ลาสเวกัส สตาร์ทอัพแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า rabbit ได้เปิดตัวอุปกรณ์ขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของ iPhone ชื่อว่า rabbit r1 ที่ออกแบบมาช่วยเราทำแบบนั้นเลย
ภาพ: Techcrunch
สำหรับใครที่ยังสงสัยว่ามันต่างจาก Siri หรือ Alexa อย่างไร? ลองอ่านต่อแล้วเดี๋ยวเราจะอธิบายว่าเจ้า rabbit r1 มันล้ำหน้ากว่าอย่างไร
แนวคิดการออกแบบของ rabbit r1 จากมุมมองของ Jesse Lyu ซีอีโอและผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ rabbit ค่อนข้างตรงไปตรงมา นั่นคือเวลาที่เราต้องการจะทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรียกรถ หาที่กินอาหารสังสรรค์กับเพื่อน หรือว่าจองที่พักผ่อนสำหรับวันหยุด สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสะดวกมากขึ้นกว่าเดิมไหม หากเราไม่จำเป็นต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาจากกระเป๋ากางเกง แต่พูดสั่งให้ AI ทำสิ่งเหล่านั้นแทนเรา
“เรียกรถ Uber ไซส์ใหญ่ไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะให้หน่อย”
“ขอตัวเลือกร้านอาหาร 5 ร้านที่ราคาไม่แพงมาก และสามารถเดินไปได้ภายใน 10 นาทีหน่อย”
“ขอลิสต์ที่พักที่ได้รีวิวดีที่สุดใน Airbnb สำหรับผู้ใหญ่ 6 คน ที่อยู่ไม่เกิน 10 ไมล์จากชายหาด และราคาไม่เกิน 300 ดอลลาร์สหรัฐหน่อย”
rabbit r1 สามารถทำหน้าที่ประเภทนี้ได้หมดเลย
ภาพ: The Verge
ทีนี้คำสั่งแนวนี้คุ้นๆ แล้วใช่ไหม? “Siri ทำนี่ให้ฉันทีสิ” กับ “เฮ้ Google ทำนั่นให้หน่อย” มันก็เป็นผู้ช่วย AI อยู่แล้วนี่ ซึ่งก็ใช่ แต่มันมีจุดที่แตกต่างหลักๆ อยู่ประเด็นหนึ่งหลังจาก Devin Coldewey นักข่าวจาก TechCrunch ได้เข้าไปร่วมฟังในงาน
เดิมทีแล้วผู้ช่วยต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ และเราสามารถใช้ได้อย่างเช่น Alexa, Siri, Google Assistant จะถูกจัดว่าเป็น ‘Voices Interface for Custom Mini-Apps’ ซึ่งหมายความว่าการที่ระบบสั่งการด้วยเสียงแบบเดิมจะสามารถทำงานได้ มันจำเป็นจะต้องอาศัย API (Application Programming Interface) ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารที่ต้องถูกรองรับให้คุยกันได้
แต่ข้อจำกัดของการพึ่งพาวิธีการแบบนี้คือ ความสัมพันธ์ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากฝั่งผู้ให้บริการตัวช่วยคำสั่งเสียง และในฝั่งของแอปพลิเคชัน หากแอปที่เราต้องการอยากใช้ไม่ได้มีการเชื่อมต่อ API กับ Siri หรือ API ของ Alexa ไม่อัปเดต รวมไปถึงแอปเล็กๆ ที่มีผู้ใช้งานไม่เยอะและไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับบริษัทบิ๊กเทคได้ การใช้งานด้วยเสียงก็ไม่อาจทำได้
สิ่งที่ rabbit r1 ทำคือเป็นผู้ช่วยโดยใช้วิธีการเดียวกันกับที่มนุษย์มักจะทำบนแอปหรือเว็บไซต์ เช่น ถ้า rabbit r1 จะสั่งพิซซ่า มันก็ไม่ได้คุยกับ API ที่เชื่อมต่อกับร้านพิซซ่า หากแต่เป็นขั้นตอนแบบที่คนจะทำ ซึ่งก็คือการกดปุ่มต่างๆ จนบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการบนแอปหรือเว็บไซต์
คำถามต่อมาคือ แล้ว rabbit r1 มันทำแบบนั้นได้อย่างไร?
หลายคนที่เคยใช้หรือรู้จัก AI ก็น่าจะต้องเคยได้ยินคำว่า Large Language Model (LLM) แต่ rabbit r1 ใช้สิ่งที่ต่างออกไปนั่นคือ Large Action Model (LAM) ซึ่งคีย์เวิร์ดของคอนเซปต์นี้อยู่ที่คำว่า ‘Action’ เพราะใน LLM ตัวปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้และเข้าใจภาษา แต่ใน LAM ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้และเข้าใจ ‘การกระทำ’
สำหรับ LAM ของ rabbit r1 ทางบริษัทเคลมว่าพวกเขาฝึกฝนและพัฒนา LAM ผ่านสกรีนช็อตจำนวนนับไม่ถ้วน รวมไปถึงวิดีโอการใช้งานของแอปที่คนนิยมใช้ และสิ่งที่ได้ก็คือถ้าเราต้องการจะเล่นเพลงของ Bob Dylan ใน Spotify ตามลำดับความเก่าใหม่ของวันที่เพลงออก ตัวของ rabbit r1 ก็รู้ว่าตัวเองต้องเข้าไปในแอปและเรียงเพลงตามไทม์ไลน์จากเก่าไปใหม่แล้วเล่นตามนั้น โดยสรุปแล้วคือ rabbit r1 เรียนรู้จากการทำซ้ำจนเข้าใจและสามารถทำงานแบบนั้นได้ต่อไปในอนาคต
ณ ปัจจุบัน rabbit r1 สามารถใช้งานกับแอปที่นิยมได้แล้วตามการรายงานจาก TechCrunch แต่สำหรับบางแอปที่ตัวอุปกรณ์ยังไม่เคยรู้จัก ทางสตาร์ทอัพออกมาตอบข้อสงสัยดังกล่าวว่า มันสามารถฝึกให้เรียนรู้เพิ่มได้ แต่ฟังก์ชันนี้ยังพัฒนาไม่เสร็จสมบูรณ์และยังไม่ได้เปิดให้ใช้
แน่นอนว่า rabbit r1 ไม่สามารถกดปุ่มต่างๆ ในแอปเองได้อยู่แล้ว แต่ผู้ใช้งานจะเป็นคนควบคุมผ่านแพลตฟอร์มชื่อว่า ‘rabbit hole’ ที่เป็นเหมือนศูนย์ควบคุมเพื่อเปิดใช้บริการโดยผู้ใช้งานด้วยหลักฐานการล็อกอิน ที่จะไม่ถูกเซฟเก็บไว้กับบริษัทเพื่อความเป็นส่วนตัว
“อยากให้คิดว่าเหมือนเป็นการที่เราส่งโทรศัพท์ไปให้ผู้ช่วยเราทำหน้าที่แทน” Jesse กล่าวกับสื่อมวลชน
มาถึงประเด็นเรื่องราคาและวันเวลาที่จะวางขายกันบ้าง rabbit r1 เปิดให้พรีออร์เดอร์ได้แล้ว และคาดว่าจะเริ่มส่งสินค้าในอเมริกาก่อนเป็นที่แรกประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน โดยราคาของเครื่องอยู่ที่ 199 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7,000 บาท ซึ่งถือว่าราคายังต่ำกว่า Apple AirPods Pro และด้วยฟังก์ชันอันน่าทึ่งของ rabbit r1 ทำให้เจ้า AI ที่พกพาได้อาจเหมาะและคุ้มค่ากับคนที่ต้องการให้หุ่นยนต์มาเป็นผู้ช่วยส่วนตัว
อ้างอิง: