เซอร์ไพรส์! Instagram ปล่อยฟีเจอร์จ่ายเงินซื้อของในแอปฯ รับการขายของออนไลน์ที่เติบโต
Kevin Systrom ผู้ร่วมก่อตั้ง Instagram แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่สำหรับการแชร์รูปภาพที่ครองใจคนทั้งโลกรวมถึงชาวไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าได้บนแอปพลิเคชันแล้ว โดยสามารถใช้งานด้วยการเข้าไปที่ ‘การตั้งค่า’ (Setting) สามารถเพิ่มบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบซึ่งอยู่ในส่วนของโปรไฟล์ ใช้วิธีระบุตัวตนผ่านรหัสผ่านและตรวจสอบการใช้จ่ายย้อนหลังได้โดยไม่ต้องออกจากแอปพลิเคชัน โดยการชำระเงินจะรองรับโดยกฎการชำระเงินของเฟซบุ๊ก บริษัทแม่ของ Instagram
โดยการใช้งานฟีเจอร์นี้เป็นการรองรับการซื้อสินค้าของร้านค้าบน Instagram และซื้อสินค้าได้จากโพสต์ที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีบริการจองร้านอาหารหรือซาลอนได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังจำกัดเฉพาะพันธมิตรธุรกิจบางกลุ่มเท่านั้น ในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การจองตั๋วภาพยนตร์ได้ด้วย ถือเป็นเรื่องที่เกินคาดเนื่องจากก่อนหน้านี้ Instagram ประกาศเปิดตัวแต่ระบบการจอง (Booking) เท่านั้น ไม่ได้พูดถึงระบบการชำระเงินแต่อย่างใด
แม้ขณะนี้จะเปิดใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวเฉพาะบางพื้นที่อย่างสหรัฐอเมริกา แต่ก็ถือเป็นเรื่องฮือฮาในแวดวงธุรกิจ เพราะ Instagram เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีผู้ใช้งานประจำถึง 800 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 1 ใน 3 จะต้องมีบัญชีของ Instagram ขณะนี้มีภาพที่แชร์ในเครือข่ายกว่า 4 หมื่นล้านภาพแล้วนับจากเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2010 และมีคนอัปโหลดภาพเกือบ 100 ล้านโพสต์ต่อวันเลยทีเดียว สำหรับประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10.5 ล้านคนในปี 2017 และคาดการณ์ว่าจะแตะทะลุ 16 ล้านคนในปี 2021 นี้
การเพิ่มระบบการชำระเงินเข้าไปในแอปพลิเคชันจึงถือเป็นลูกเล่นที่น่าจับตาและเป็นกลยุทธ์สำคัญที่หลายส่วนมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ทางเฟซบุ๊กต้องการให้ผู้ใช้งานอยู่ภายในระบบนิเวศของตนให้มากที่สุดแบบไร้รอยต่อนั่นเอง
อ้างอิง:
- www.cnbc.com/2018/05/03/instagram-launches-payments-allowing-users-to-buy-products-in-the-app.html
- techcrunch.com/2018/05/03/instagram-payments
- thenextweb.com/facebook/2018/05/04/instagram-will-soon-let-you-buy-stuff-book-and-restaurant-tables-within-the-app
- www.omnicoreagency.com/instagram-statistics
- www.bangkokpost.com/tech/local-news/1390642/instagram-tapped-to-push-social-commerce