เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ฮาวายกลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านร่างกฎหมายแบนกันแดดที่ผสมสารเคมี เนื่องจากงานวิจัยในระยะหลังส่วนใหญ่พบว่า สารเคมีจำพวกออกซีเบนโซน (Oxybenzone) และออกติโนเซท (Octinoxate) ที่มักนิยมผสมในกันแดด เป็นอันตรายต่อปะการังและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
สารเคมีที่ว่านี้เป็นส่วนประกอบที่พบในกันแดดมากกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก รวมถึงกันแดดแบรนด์ดังอย่าง Hawaiian Tropic, Coppertone และ Banana Boat โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า สารเคมีเหล่านี้จะตกค้างอยู่ในทะเล ซึ่งมีส่วนทำให้ปะการังขาดสารอาหารและเกิดอาการฟอกขาว
มีการคาดการณ์ว่า ในแต่ละปีมีสารเคมีในกันแดดตกค้างอยู่ในทะเลกว่า 14,000 ตันต่อปี เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Haereticus Environmental Laboratory ได้ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณหาด Trunk Bay ที่มีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำทะเลวันละ 2,000-5,000 คนต่อวัน ประเมินว่า มีสารเคมีจากกันแดดตกค้างในทะเลและเป็นอันตรายต่อปะการังในบริเวณนี้มากกว่า 6,000 ตันต่อปี
โดยสารเคมีในกันแดดดังกล่าวไม่ได้เป็นศัตรูตัวฉกาจของปะการังแต่เพียงอย่างเดียว เจ้าปะการังที่ไวต่อสิ่งเร้าและบอบบางเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น เนื่องจากสภาวะเรือนกระจก ของเสียจากภาคเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาขยะในท้องทะเล ซึ่งกลุ่มนักรณรงค์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่า การแบนกันแดดที่ผสมสารเคมีอันตรายเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยยืดอายุของปะการังและสัตว์น้ำบางชนิดให้นานขึ้น เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวทุกคนสามารถช่วยกันได้
ทางด้านผู้ผลิตกันแดดที่ผสมสารดังกล่าว ชี้แจงว่า การทากันแดดจะช่วยป้องกันผิวจากการเผาไหม้ของแดด ลดโอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งสารเคมีบางชนิดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้อง
ปัจจุบันองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กลุ่มนักกีฬา หรือโรงแรมต่างๆ ในฮาวายเริ่มมีการปรับตัวในเรื่องนี้กันแล้ว ก่อนที่ร่างกฎหมายแบนกันแดดผสมสารเคมีนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม ปี 2021
อ้างอิง:
- www.npr.org/sections/thetwo-way/2018/05/02/607765760/hawaii-approves-bill-banning-sunscreen-believed-to-kill-coral-reefs
- today.ucf.edu/lathering-up-with-sunscreen-may-protect-against-cancer-killing-coral-reefs-worldwide
- www.nytimes.com/2018/05/03/travel/hawaii-sunscreen-ban.html
- www.treehugger.com/ocean-conservation/hawaii-approves-sunscreen-ban-effort-save-coral-reefs.html