กรมสรรพากรออกประกาศสั่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada และ Grab ส่งข้อมูลรายได้ผู้ประกอบการในระบบทั้งหมด มีผลบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป นับเป็นหนึ่งในความพยายามในการต้อนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ยูทูเบอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์เข้าสู่ระบบ
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร โดยกำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย และมีรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเกิน 1 พันล้านบาท ‘มีบัญชีพิเศษ’ หรือจัดทำและนำส่งข้อมูลบัญชีพิเศษผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร
ทั้งนี้ ‘บัญชีพิเศษ’ หมายถึง บัญชีที่แสดงข้อมูลรายรับของอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มที่ได้รับจาก ‘ผู้ประกอบการ’ ซึ่งหมายความว่า บุคคลซึ่งเสนอสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม
โดยประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการส่งข้อมูลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ขายของออนไลน์-ยูทูเบอร์-อินฟลูเอ็นเซอร์’ ต้องเสียภาษีอย่างไร? หลัง ‘สรรพากร’ ตั้งทีมรีดภาษี-ไล่ต้อนเข้าสู่ระบบ
- เพิ่มความสะดวก! สรรพากรเปิดให้ผู้เสียภาษีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีทุกประเภท ชำระภาษีผ่าน Shopee ได้แล้ว! ตั้งแต่ 1 พ.ค.
ปัจจุบันอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทยมีหลายประเภท เช่น e-Commerce, e-Service และ e-Marketplace ตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada, LINE MAN และ Grab
การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของกรมสรรพากรที่ต้องการขยายฐานภาษี และต้อนผู้มีเงินได้จากช่องทางออนไลน์ เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ยูทูเบอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์เข้าสู่ระบบ
อ้างอิง: