วันนี้ (18 ธันวาคม) เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) ที่โรงแรมอิมพีเรียล โตเกียว เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการเปิดสัมมนางานภาพรวมของโครงการแลนด์บริดจ์และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยได้ริเริ่มขึ้น จากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งของภูมิภาค และในอนาคตอาจเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 40% ทวีปยุโรปประมาณ 38% ส่วนใหญ่อาศัยการขนส่งทางเรือเป็นหลัก เนื่องจากขนส่งได้ในปริมาณมากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปนั้นส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา โดยมีตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกา 25% ของจำนวนตู้สินค้าที่ขนส่งทั่วโลก และการขนส่งน้ำมัน 60% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทำให้ช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือที่คับคั่ง และแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 70.4 ล้านตู้ต่อปี และจำนวนเรือที่เดินทางผ่านประมาณ 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าในปี 2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ ทำให้เกิดค่าเสียโอกาส และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า
แลนด์บริดจ์ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ไทยได้เห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
เชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นทางเลือกที่สำคัญที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีความได้เปรียบของเส้นทางที่ประหยัดกว่า เร็วกว่า และปลอดภัยกว่า เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนและระยะเวลากับช่องแคบมะละกา ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะเข้ามาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง ( Feeder) ที่เปลี่ยนถ่ายสินค้าจากเรือขนาดใหญ่เพื่อขนไปยังประเทศผู้บริโภค โดยผู้ผลิตในกลุ่มเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ จะขนส่งสินค้าไปยังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ประหยัดต้นทุนกว่า 4% ใช้เวลาเร็วกว่า 5 วัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า สำหรับสินค้าซึ่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มายังประเทศผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง เมื่อมีโครงการแลนด์บริดจ์ จะสามารถประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 4% และประหยัดเวลาได้ 3 วัน
คาดขนส่งสินค้าได้ 33.2 ล้านตู้
ขณะที่สินค้าซึ่งผลิตขึ้นในประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และประเทศจีนตอนใต้ สามารถขนถ่ายตู้สินค้าไปยังประเทศผู้บริโภคต่างๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลาง และประเทศในตะวันออกกลาง ผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้มากถึง 35% และประหยัดเวลาได้มากถึง 14 วัน ดังนั้นเฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางดังกล่าวผ่านแลนด์บริดจ์ จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15%
จากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าทั้งหมดที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของโครงการแลนด์บริดจ์ จะอยู่ที่ประมาณ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกจะอยู่ที่ประมาณ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือต่างๆ ในช่องแคบมะละกาจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%
นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ และพิจารณาการเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่จะเข้ามาเทียบท่าในโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต
คาดแลนด์บริดจ์ดัน GDP โต 5.5% ต่อปี
ขณะที่การขนส่งน้ำมันดิบจากภูมิภาคตะวันออกกลาง 56% หรือประมาณ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งได้อย่างน้อย 6% อีกทั้งในการลงทุนโครงการดังกล่าว นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในภาพรวม จะเกิดการสร้างงานในพื้นที่จำนวนไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และคาดว่า GDP ของประเทศไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือประมาณ 6.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ
“ผมเชื่อมั่นและเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมลงทุนในโอกาสครั้งสำคัญ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เพื่อความเติบโตในเศรษฐกิจร่วมกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
สัมปทาน 50 ปี คืนทุนใน 24 ปี
ด้าน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์มีการวางแผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี 2025-2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม
โดยไทยจะออกกฎหมายใหม่เพื่อพัฒนาโครงการและพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวก การจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และจากการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุนโครงการดังกล่าว ผู้ลงทุนจะคืนทุนใน 24 ปี ซึ่งคิดจากรายได้ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเท่านั้น ยังไม่รวมผลตอบแทนที่จะมาจากด้านอื่นๆ