ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI พร้อมด้วย พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษาร่วมแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับผลสอบระดับโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2022 ของเด็กไทยที่มีคะแนนสอบต่ำสุดในรอบ 20 ปีในทุกทักษะ ทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งชี้ว่าผลสอบ PISA ครั้งนี้กำลังสะท้อนสัญญาณเตือนถึงวิกฤตทางการศึกษาของไทยที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ถูกจุด
ผล PISA 2022 บอกอะไรกับประเทศไทย
พงศ์ทัศระบุว่า ผลสอบในครั้งนี้บอก 2 ข้อมูลสำคัญคือ
- ความสามารถเด็กไทยห่างจากความสามารถของเด็กทั้งโลกมากขึ้นทุกที
- โควิดไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ความสามารถของเด็กไทยลดลง
พร้อมทั้งบอก 2 สัญญาณเตือนต่อระบบการศึกษาไทย
- ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ หลักสูตรไม่ทันสมัยและมีข้อจำกัดด้านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
- ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและตรงจุด
ภาพรวมผล PISA เด็กไทยในช่วง 10 ปีล่าสุดเป็นอย่างไร
พงศ์ทัศอธิบายว่า ส่วนต่างคะแนน PISA ของเด็กไทย เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD โดยเฉพาะด้านการอ่าน ห่างจากกลุ่มประเทศ OECD แล้วเกือบ 100 คะแนน และมีแนวโน้มห่างจากคะแนนเฉลี่ยมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยไทยยังคงผลิตเด็กที่มีความรู้ความสามารถสูงได้ แต่ยังถือว่าน้อยมาก และมีแนวโน้มผลิตได้ลดน้อยลงมาโดยตลอด ส่วนกลุ่มเด็กไทยที่มีความรู้ไม่เพียงพอต่อการใช้งานได้จริงนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กเก่ง-อ่อน รวมถึงเด็กรวย-จน ไม่ลดลงเลยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โควิดส่งผลกระทบต่อเด็กไทยหรือคะแนนสอบ PISA ครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน
พงศ์ทัศกล่าวว่า ไทยได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนลดลง โดยไทยปิดโรงเรียนสั้นกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD และเด็กรวยเอาตัวรอดได้ ขณะที่เด็กจนยังคงต้องพึ่งโรงเรียนอยู่ แต่โควิดไม่ได้ทำให้คะแนนของเด็กสองกลุ่มนี้ต่างกันมากขึ้น
ถ้าไม่ใช่เพราะโควิด แล้วเป็นเพราะอะไร
พงศ์ทัศอธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ‘หลักสูตรการศึกษาไทยไม่ทันสมัย’ ใช้หลักสูตรแกนกลางนี้มา 15 ปีแล้ว พร้อมอ้างถึงงานวิจัยของ OECD ฉบับหนึ่งที่ระบุว่า เด็กจะเริ่มนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ต้องมีสมรรถนะ ซึ่งประกอบไปด้วยความรู้ ทักษะและเจตคติ แต่หลักสูตรการศึกษาไทยไม่น่าจะก่อให้เกิดสมรรถนะ เนื่องจากตัวชี้วัดส่วนใหญ่เน้นที่ความรู้เป็นหลัก และความรู้ส่วนใหญ่เน้นท่องจำ ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการคิดขั้นสูง
ประกอบกับ ‘การใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ’ งบประมาณ 78% ถูกใช้เป็นเงินเดือนครู ในขณะที่ปัญหาเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง โดย 94% ของโรงเรียนประถมขนาดเล็ก มีเด็กน้อยกว่า 120 คน มีครูไม่ครบชั้น ดูแลเด็กไม่ทั่วถึง (PISA 2022 ชี้ว่า โรงเรียนที่ขาดครูมากมีคะแนนน้อยกว่าโรงเรียนที่มีครูครบอย่างมีนัยสำคัญ)
ขณะที่งบประมาณอีกส่วน 11% ถูกใช้เป็นโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มเรื่องการรายงานผลตามนโยบายหรือโครงการของกระทรวง เพิ่มภาระให้ครู ทำให้ครูไม่สามารถทุ่มเวลาให้กับการสอนได้อย่างเต็มที่
จะต้องแก้ไขอย่างไรให้ถูกจุด
TDRI เสนอ ข้อเสนอ 3 ระยะในการปรับปรุงระบบการศึกษา
ข้อเสนอระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) คือการลดภาระงานอื่นของครู เพื่อให้ครูสอนได้อย่างเต็มที่ โดยกระทรวงควรที่จะทบทวนโครงการต่างๆ อีกครั้ง
ข้อเสนอระยะกลาง (ภายใน 3 ปี) คือระบบการศึกษาไทยจะต้องยกเครื่องหลักสูตรและออกแบบระบบให้พร้อม เพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ๆ ที่อิงกับสมรรถนะมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมการวิเคราะห์ การประเมิน และความคิดสร้างสรรค์
และข้อเสนอระยะยาว (ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง) คือการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา อาจเริ่มจากข้อเสนอของธนาคารโลกที่สนับสนุนให้ ‘บริหารควบรวมและพัฒนาเครือข่าย’ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ครูไปอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ห่างไกล รวมถึงเพิ่มงบประมาณที่ได้จากการบริหารจัดการอย่างประหยัดและรัดกุมมาเพิ่มให้กับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล
โดย ดร.สมเกียรติ ได้เน้นย้ำว่า “ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีรัฐมนตรีศึกษาธิการน่าจะเกิน 20 คน แต่ละคนอยู่กันวาระสั้นๆ อาจไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปได้ แต่คาดว่าต่อไปการเมืองไทยน่าจะมีเสถียรภาพมากพอสมควร ปัจจัยที่ต้องคิดตามมาคือ รัฐมนตรีมีความเชี่ยวชาญหรือมีความสนใจหรือไม่ ความเชี่ยวชาญอาจคาดหวังได้ยาก เนื่องจากนักการเมืองในฐานะที่เข้ามาถือเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหาร
“ขอให้มีความสนใจหรือมีความสามารถในการบริหารขับเคลื่อน เราอยากเห็นผู้นำมีความเข้าใจ แม้จะไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับงานในมิติด้านการศึกษา แต่ก็สามารถรับข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และไตร่ตรองดูว่าอะไรคือทิศทางที่ควรจะไป ขอให้เข้าใจทิศทางการเปลี่ยนแปลง เข้าใจว่าโลกเปลี่ยนเร็วแค่ไหน หลักสูตรการศึกษาไทยล้าหลังและใช้มานาน 15 ปีแล้ว สิงคโปร์ปรับหลักสูตรการศึกษาไปแล้ว 2 รอบ และกำลังจะปรับรอบที่ 3 ถ้ารัฐมนตรีเข้าใจเรื่องพวกนี้ก็จะเป็นเรื่องดี”
ดร.สมเกียรติ ยังระบุอีกว่า “การปรับหลักสูตรนั้นจะต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมือง และเห็นว่าประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ เด็กไทยจะไม่สามารถอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ถ้ายังเรียนรู้อย่างท่องจำหรือเรียนรู้แล้วไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนหลักสูตรจึงเป็นยาขนานแรกที่จะต้องเร่งให้เกิดขึ้น เพราะว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร”
แฟ้มภาพ: POP-THAILAND / Shutterstock