วันนี้ (12 ธันวาคม) จากกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. …. ที่เสนอโดย ชัยธวัช ตุลาธน สส. ก้าวไกลกับคณะ
โดยมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของสภาระหว่างวันที่ 9 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา รวมระยะเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็น 1 เดือน ปรากฏว่ามีประชาชนมาลงทะเบียนแสดงความคิดเห็นจำนวน 631 คน โดยมีผู้เห็นด้วย 28.37% ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วย 71.32%
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ก้าวไกลยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมคดีจากเหตุจูงใจทางการเมือง นับแต่ชุมนุมพันธมิตรฯ 11 ก.พ. 49 ถึงปัจจุบัน ตั้งกรรมการวินิจฉัยคนเข้าเงื่อนไข เว้น ม.113 และเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินเหตุ
- เปิดเงื่อนไขกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ใครเข้าเงื่อนไข ใครตัดสินชี้ขาด
สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีดังนี้
1. กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่ผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ช่วงเวลาที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 คือนับตั้งแต่วันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2. การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ ตลอดจนจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113
3. กลไกในการนิรโทษกรรมจะกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม คณะกรรมการชุดนี้ในร่างของพรรคก้าวไกลเสนอให้มีจำนวน 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภาจะเป็นผู้แต่งตั้ง องค์ประกอบมาจาก
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
- บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี 1 คน
- บุคคลที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกอีก 2 คน
- องค์ประกอบที่มาจากผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม 1 คน
- ตุลาการหรืออดีตตุลาการศาลปกครอง 1 คน
- พนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการ 1 คน
- เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
4. กำหนดสิทธิผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรือจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากระเบียบประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือมติ หรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิดเพื่อการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย คือมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
อ้างอิง: