×

NASA เผยภาพสุดคมชัดของซากซูเปอร์โนวาแคสซิโอเปีย เอ จากกล้องเจมส์ เว็บบ์

12.12.2023
  • LOADING...
NASA

NASA เปิดภาพถ่ายของซากซูเปอร์โนวาแคสซิโอเปีย เอ (Cassiopeia A) ในช่วงคลื่นอินฟราเรดสุดคมชัดจากอุปกรณ์ NIRCam บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่เผยให้เห็นรายละเอียดใหม่ภายใต้ความงามจากซากดาวฤกษ์ที่ยุบตัวและระเบิดไปแล้ว

 

ซากซูเปอร์โนวาดังกล่าวอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 11,000 ปีแสงในกาแล็กซีทางช้างเผือกเช่นเดียวกับระบบสุริยะ โดยเป็นหนึ่งในซากมหานวดาราที่ได้รับการศึกษาจากนักดาราศาสตร์มากที่สุดผ่านกล้องโทรทรรศน์บนโลกและในอวกาศ เพื่อเก็บข้อมูลจากช่วงคลื่นที่แตกต่างกัน

 

แม้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จะเคยศึกษาซากซูเปอร์โนวานี้มาแล้วในเดือนเมษายน 2023 ด้วยอุปกรณ์ MIRI ที่ศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดย่านกลาง ซึ่งภาพก่อนหน้านี้เผยให้เห็นรายละเอียดของโครงสร้างแปลกใหม่บริเวณเปลือกชั้นในของซากมหานวดารานี้ แต่รายละเอียดดังกล่าวกลับไม่ปรากฏในภาพถ่ายช่วงคลื่นอินฟราเรดย่านใกล้ที่ได้รับการเผยแพร่ออกมาในวันนี้

 

นอกจากมีความแตกต่างระหว่างภาพถ่ายทั้งสองแล้ว ความละเอียดของอุปกรณ์ NIRCam ยังช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาซากซูเปอร์โนวาดังกล่าวได้อย่างคมชัดขึ้น โดย Danny Milisavljevic จาก Purdue University หัวหน้าทีมวิจัยที่ศึกษาแคสซิโอเปีย เอ ระบุว่า “ความละเอียดของ NIRCam ช่วยให้เราเห็นว่าดาวฤกษ์แตกสลายอย่างไรในตอนที่มันระเบิด ก่อนปลดปล่อยเศษใยต่างๆ กระจายออกมาเป็นจำนวนมาก

 

“มันน่าเหลือเชื่อมากว่าหลังจากใช้เวลาศึกษาแคสซิโอเปีย เอ มานานหลายปี ปัจจุบันเราจะเห็นรายละเอียดได้ชัดขนาดนี้ ซึ่งมันช่วยเปลี่ยนความเข้าใจและข้อมูลเชิงลึกในแง่ว่าดาวฤกษ์ดวงนี้เกิดระเบิดขึ้นได้อย่างไร”

 

นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องเจมส์ เว็บบ์ พบรายละเอียดกลุ่มก้อนสีส้มและชมพูกระจายอยู่ในเปลือกชั้นในของซากมหานวดารา ซึ่งเผยให้เห็นรายละเอียดของกลุ่มแก๊สอย่างซัลเฟอร์ ออกซิเจน อาร์กอน และนีออน ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดาวฤกษ์มาก่อน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ว่าดาวฤกษ์ดวงนี้อาจแตกกระจายคล้ายกับแก้วแตกในช่วงเวลาที่มันเดินทางมาสู่วาระสุดท้ายของวงจรชีวิต

 

แคสซิโอเปีย เอ ถือเป็นหนึ่งในซากซูเปอร์โนวาที่มีอายุค่อนข้างน้อยที่สุด โดยโลกของเราได้เห็นการระเบิดของดาวฤกษ์ดวงดังกล่าวขึ้นเมื่อประมาณ 340 ปีที่แล้ว และมีโอกาสเป็นไปได้ว่าผู้คนในช่วงเวลาดังกล่าวอาจได้เห็นเศษซากซูเปอร์โนวาด้วย

 

ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X