EEC จับมือ บิทคับ เวิลด์เทค รุกพัฒนาพื้นที่ดันไทยสู่ฮับ E-Sports ระดับโลก พร้อมยกระดับไทยสู่ Digital Transformation อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ดึงดูดและรับกิจกรรมการลงทุนต่อเนื่อง เผยตลาด E-Sports ไทยโตก้าวกระโดด มูลค่าแตะ 3.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี คาดจำนวนผู้เล่นพุ่ง 18.7 ล้านคน ในปี 2570 จากพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนและเล่นเกมบนสมาร์ทโฟน
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับบริษัท บิทคับ เวิลด์เทค จำกัด และบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ว่า EEC กับภาคเอกชนพร้อมพัฒนาไทยมุ่งสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นฐานสำคัญในการผลักดันการลงทุนคลัสเตอร์ดิจิทัล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ EEC โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในต้นปี 2567
ทั้งนี้ มีแผนจะพัฒนาพื้นที่ EEC เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต เพื่อดึงดูดทุนทั่วโลก 3 ส่วน ได้แก่
- พัฒนากีฬา E-Sports ซึ่งเป็นที่นิยมสูงของโลก
- สนับสนุนให้ EEC โดยเฉพาะในโครงการศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่อัจฉริยะ เป็นพื้นที่ศึกษาและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระดับสากลที่จะดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมกีฬา และ E-Sports การส่งเสริมระบบนิเวศการลงทุนที่เหมาะสมให้กลุ่มธุรกิจ Start-up เพื่อให้เกิดกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต (Future Business Cluster)
- สนับสนุนการให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ ซึ่งจะส่งเสริมให้ EEC เป็นพื้นที่แห่งอนาคต ดึงดูดและรับกิจกรรมการลงทุนด้านดิจิทัลได้อย่างต่อเนื่อง
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า Digital Transformation เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขันในสภาพตลาดในปัจจุบัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดและรวดเร็ว รวมถึงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ประกอบธุรกิจที่จำเป็นต้องปรับตัวตาม เพื่อช่วงชิงโอกาสและสามารถใช้พัฒนาการประกอบธุรกิจให้เติบโตได้มากขึ้น
“ความร่วมมือครั้งนี้สำคัญมาก เพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ช่วยพัฒนาและยกระดับธุรกิจการค้าการลงทุนในเขตพื้นที่นี้ให้ขยายขีดความสามารถ รวมถึงส่งเสริมให้คนในประเทศมีความสามารถที่จะแข่งขันในระดับสากล และดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”
วิชัย ทองแตง ผู้ร่วมก่อตั้งบิทคับ เวิลด์เทค กล่าวว่า บิทคับ เวิลด์เทค เป็นบริษัทที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของคนไทย โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
“ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงความเชี่ยวชาญทางด้านกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Sports) เข้ามาพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และวางระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการนำดิจิทัลมาใช้เปลี่ยนแปลงการประกอบธุรกิจ (Digital Transformation) เพื่อให้เศรษฐกิจภาคตะวันออกเกิดการขยายตัวมากยิ่งขึ้น”
ด้าน สกลกรย์ สระกวี ประธานกรรมการบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบิทคับ เวิลด์เทค ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสและสร้างอาชีพสู่โลกอนาคต ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอีกด้วย
อุตสาหกรรม E-Sports ไทยเติบโตก้าวกระโดด 37,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์ไว้ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด และยังเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไร้ขีดจำกัด
โดยนับตั้งแต่ปี 2564 มีผู้เล่นในไทยจำนวนมากถึง 9.8 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.4% ต่อปี เป็น 18.7 ล้านคน ในปี 2570 จากพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนและเล่นเกมบนสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นถึง 67% เมื่อเทียบกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมคอนโซล
นอกจากนี้ตลาด E-Sports ของไทยในปี 2565 ยังมีมูลค่าสูงถึง 37,600 ล้านบาท และขยายตัวเฉลี่ย 20% ต่อปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) ตลาด E-Sports เดิมมีมูลค่า 18,500 ล้านบาท ในปี 2561 ได้เติบโตขึ้นเป็น 22,000 ล้านบาท ในปี 2563 และมีมูลค่า 27,000 ล้านบาท ในปี 2564 ก่อนจะขึ้นมาถึง 37,600 ล้านบาท ในปี 2565
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ตลาด E-Sports ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดมีดังนี้
- จำนวนสตรีมเมอร์เกม (Game Streamer) เพิ่มขึ้น ทำให้มีคนสนใจตลาดเกมเพิ่มขึ้น เกิดผู้เล่นรายใหม่และผู้รับชมกีฬา E-Sports ในตลาดมากขึ้น
- การแข่งขัน E-Sports เป็นการแข่งขันผ่านสื่อดิจิทัล ทำให้ผู้คนสามารถเข้าร่วมแข่งขันและรับชมได้
- บริษัทเกมหันมาจับธุรกิจกลุ่ม E-Sports มากขึ้น เนื่องจากมีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่นานกว่าเกมทั่วๆ ไป ทำให้เกิดการขยายตลาด E-Sports อย่างกว้างขวาง
- ภาคการศึกษาของไทยสนับสนุนการเพิ่มแรงงานทักษะผ่านการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ๆ ด้าน E-Sports มากขึ้น
ขณะที่ Newzoo ซึ่งเป็นสื่อที่วิเคราะห์การตลาดวิดีโอเกมโลก สรุปข้อมูลว่า ตลาดเกมทั่วโลกปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 5.6 หมื่นล้านบาท โดยรวมทุกแพลตฟอร์มทั้งคอมพิวเตอร์และเครื่องเล่นเกมคอนโซล
โดยตลาดเกมที่เติบโตสูงสุดในอาเซียนคืออินโดนีเซีย เนื่องจากตลาด E-Sports ในอินโดนีเซียถูกมองว่าเป็นอาชีพและกีฬา
ส่วนตลาดหลักของอุตสาหกรรมเกมยังคงเป็นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีมูลค่า 85.8 พันล้านดอลลาร์ และในจำนวนนี้กว่า 44.3 พันล้านดอลลาร์ อยู่ในตลาดสหรัฐฯ กับจีน ทั้งนี้ ภายในสิ้นปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีเกมเมอร์ทั่วโลกถึง 3.38 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 6.3% จากปีที่แล้ว
อ้างอิง: