จาก Dynamite, Butter ถึง Boy With Luv เสียงร้องอันสดใสและจังหวะดนตรีสนุกๆ ชวนให้แฟนเพลงทั่วโลกอยากขยับแข้งขาตามนั้นเป็นผลงานของ BTS ศิลปินวงบอยแบนด์จากประเทศเกาหลีใต้ที่ขึ้นแท่นเป็นขวัญใจของคนทั่วโลก
ความนิยมของพวกเขาเทียบได้เท่ากับคำว่าปรากฏการณ์ เป็นหนึ่งในศิลปินเกาหลีที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด
แต่จากการที่ BTS ต้องมีการพักวงราว 2 ปีเนื่องจากสมาชิกในวงติดภารกิจในการเข้ารับราชการทหารตามกฎหมายของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้บังชีฮยอก เจ้าของค่าย Big Hit Entertainment ผู้ปลุกปั้นศิลปินวงนี้ขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นโปรเจกต์ใหม่
โปรเจกต์นี้ได้รับการประกาศมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ซึ่งแม้จะยังไม่มีการตั้งชื่อวงอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่เรียกขานกันในนาม ‘The Debut: Dream Academy’ ที่บังชีฮยอกวาดฝันให้กับตัวเขาเองและเหล่านักลงทุนที่อยู่เบื้องหลังค่ายเพลงของเขาว่า จะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สามารถเขย่าโลกดนตรีได้อีกครั้งเหมือนที่ BTS ทำได้
การเดิมพันความฝันครั้งนี้เป็นอย่างไร และจะสามารถเปลี่ยนแปลงวงการ K-Pop ให้ก้าวไปสู่อีกระดับได้หรือไม่?
ข่าวใหญ่ของ Hitman
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ สตูดิโอแห่งหนึ่งในเมืองซานตาโมนิกา บังชีฮยอกได้เชิญเหล่านักลงทุนและสื่อมวลชนกว่า 100 รายมาเพื่อประกาศข่าวอะไรบางอย่าง
“ผมมีความยินดีที่จะแบ่งปันเรื่องราวของความฝันที่ผมมีมาแสนนาน” บังชีฮยอกซึ่งแต่งกายในชุดดำขึ้นกล่าวบนเวที
ความฝันของเขาคือการปั้นวงดนตรีน้องใหม่ที่จะมีความแตกต่างไปจากสิ่งที่เขาเคยทำสำเร็จมาก่อน
วงที่ยังไม่มีชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันในนามโปรเจกต์ ‘The Debut: Dream Academy’ ซึ่งจะเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปที่มีสมาชิกมาจากทั่วโลก เพลงของพวกเธอไม่ใช่ภาษาเกาหลีแต่เป็นภาษาอังกฤษ และทุกคนจะประจำอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาบังชีฮยอกและผู้บริหารของค่าย HYBE ได้รับใบสมัครจากเด็กสาวผู้มีความฝันทั่วโลกมากกว่า 120,000 คน ซึ่งคณะกรรมการได้คัดเลือกจนถึงขั้นสุดท้ายที่เป็นโอกาสในการแนะนำตัวเด็กสาวผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 20 คนแก่ผู้ลงทุนและสื่อมวลชน
เด็กสาวเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ 14 จนถึง 21 ปี มาจากหลากหลายประเทศทั่วโลกซึ่งรวมถึงบราซิล, ญี่ปุ่น, สวีเดน และประเทศไทย ทุกคนสวมชุดเครื่องแบบโรงเรียนที่มีตราสัญลักษณ์ของ Dream Academy ที่มีปีก ก่อนจะแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษและตามด้วยภาษาบ้านเกิดของตัวเองเป็นภาษาที่สอง
แววตาของทุกคนเปล่งประกาย
แต่ลึกๆ ข้างในแฝงไปด้วยหยาดเหงื่อและคราบน้ำตาที่ไหลเป็นทาง
ภาพ: Vivien Killilea / Getty Images for HYBE x Geffen Records
ไอดอลในอเมริกา
กว่าที่เหล่าเด็กสาวทั้ง 20 คนจะได้เปิดตัวในนาม The Dream Academy นั้น พวกเธอต้องมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
ในช่วงเวลานั้นทุกคนจะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับด่านแรกที่ต้องเผชิญนั่นคือการแข่งขันกันเอง
การแข่งขันนั้นจะมีตั้งแต่การแข่งขันเรื่องการร้องเพลง ทักษะการเต้น ไปจนถึงเสน่ห์เฉพาะตัว โดยจะมีการประกวดกันทุกสัปดาห์ผ่านคลิปวิดีโอที่จะมีการโพสต์ขึ้นบน TikTok, YouTube และ Weverse แอปพลิเคชันที่เป็นของ HYBE เอง ที่จะเปิดโอกาสให้แฟนๆ ได้ใกล้ชิดกับศิลปินที่ชื่นชอบได้
เมื่อคลิปวิดีโอขึ้นไปบน YouTube หรือ Weverse แล้ว แฟนๆ ที่รับชมจะสามารถมีส่วนร่วมกับการอนาคตของสาวๆ เหล่านี้ได้ด้วยการโหวต ซึ่งจะนำไปใช้รวมกับการโหวตโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกทีหนึ่งว่าใครสมควรที่จะได้ไปต่อ ซึ่งแม้เวลานี้จะมีจำนวนผู้ที่เข้ารอบเหลือ 20 คน แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าสุดท้ายแล้วจะมีจำนวนสมาชิกในวงในวันที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการสักกี่คน
โดยที่เบื้องหลังของเรื่องราวทั้งหมดได้ถูกถ่ายทำเอาไว้เรียบร้อย และจะมีการนำออกมาเผยแพร่เป็นสารคดีผ่านทาง Netflix ในปีหน้า
โมเดลในการสร้างวงดนตรีเกิร์ลกรุ๊ปแบบนี้ความจริงไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับระบบการสร้างไอดอลของค่าย AKB48 Group ซึ่งได้นำมาต่อยอดในประเทศเกาหลีกับโปรเจกต์ Produce 101 ที่สร้างกระแสการสร้างวงไอดอลในเวลาต่อมา
แต่เรื่องนี้ถือเป็นของใหม่สำหรับตลาดอเมริกาที่มีแนวคิด แนวทาง และความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ตรงนี้คือบทพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งของบังชีฮยอก ว่าเขาจะสามารถสร้าง ‘ปรากฏการณ์’ ได้อีกสักครั้งหรือไม่?
กำเนิด Big Hit Entertainment
ดนตรี Hip-Hop และ British Synth-Pop คือเสียงที่หล่อหลอมบังชีฮยอกให้มีทุกวันนี้
จากจุดเริ่มต้นในการตั้งวงเล่นกับเพื่อน เป็นมือกีตาร์ของวง ลูกชายจากครอบครัวผู้เป็นชนชั้นสูงที่รับราชการในเกาหลีใต้ เริ่มหลงรักดนตรีอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ในขณะที่พ่อของเขาไม่เห็นด้วยและกดดันให้เขาเข้าศึกษาในสายวิชาการที่จริงจัง
แต่บังชีฮยอกยังเดินหน้าต่อ และจุดเปลี่ยนแรกในชีวิตคือการชนะการประกวดวงดนตรีในระดับประเทศเมื่อปี 1994 ซึ่งนั่นทำให้เขาตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะใช้ชีวิตเยี่ยง ‘คนดนตรี’
3 ปีถัดมาเขาพบกับพัคจินยองที่กำลังคิดก่อตั้งบริษัทของตัวเองในนาม JYP Entertainment ซึ่งทั้งคู่ถูกคอกันอย่างมากถึงขั้นที่มีการชักชวนให้บังชีฮยอกมาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งด้วยกัน ซึ่งแค่เริ่มก็ประสบความสำเร็จกับการปั้นศิลปินหลายราย รวมถึงวงบอยแบนด์ ‘G.O.D’ (Groove Over Dose)
สำหรับพัคจินยอง ช่วงชีวิตที่เติบโตในนิวยอร์กทำให้เขามีความฝันเล็กๆ ที่จะผลิตผลงานเพลงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาและบังชีฮยอกได้อาศัยบ้านเพื่อนในลอสแอนเจลิส เพียงแต่ความสำเร็จในบ้านเกิดของพวกเขาไม่มีความหมายอะไรเลยในดินแดนแห่งเสรีภาพ
จักรวาลดนตรีในอเมริกาและเกาหลีใต้แตกต่างกันอย่างมาก และช่วงเวลาที่ได้ไปทำเพลงร่วมกับพัคจินยองที่แอลเอช่วยทำให้เขาได้เห็นสิ่งที่แตกต่าง โดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมดนตรีที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
และมันทำให้เขาคิดอยากที่จะกลับบ้าน
ไม่ใช่เพราะยอมแพ้ แต่เพราะเขาอยากจะเริ่มต้นใหม่ในบ้านเกิด ด้วยการตั้งค่ายเพลงที่มีอิสระเหมือนในอเมริกา
นี่คือจุดเริ่มต้นของ Big Hit Entertainment บริษัทแรกของบังชีฮยอก ซึ่งตัดสินใจอำลา JYP Entertainment เพื่อมาเริ่มต้นใหม่เองในปี 2005 ซึ่งชื่อบริษัทนั้นก็มาจากสมญาของเขา ‘Hitman Bang’ ที่เหล่าโปรดิวเซอร์ในสหรัฐอเมริกายกย่องให้ในฐานะคนที่ผลิตผลงานเพลงฮิตมานับไม่ถ้วน
กระนั้นกว่าที่จะก้าวขึ้นมาผงาดได้ก็แสนลำบาก เพราะในเกาหลีใต้มี 3 ยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง SM Entertainment, YG ENTERTAINMENT และ JYP Entertainment ขวางหน้า จนทำให้ Big Hit Entertainment เองก็ร่อแร่อยู่เหมือนกัน
แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในวันที่ความมหัศจรรย์มาถึง
ภาพ: Demetrius Freeman / The Washington Post via Getty Images
ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ ‘BTS’
เหตุการณ์มหัศจรรย์ที่แท้จริงในชีวิตของบังชีฮยอกเกิดขึ้นในปี 2010 เมื่อ Pdogg หนึ่งในโปรดิวเซอร์ของเขา ส่งเทปเดโมของเด็กวัย 15 ปีคนหนึ่งมาให้
เด็กคนนั้นใช้ชื่อในการแสดงว่า Runch Randa ซึ่งทันทีที่ได้ดู บังชีฮยอกก็ตัดสินใจได้ทันทีว่า “ภารกิจในชีวิตต่อจากนี้ของผมคือจะต้องแจ้งเกิดเด็กคนนี้ให้ได้”
โปรดิวเซอร์มือทองหลงรักในพรสวรรค์ของเด็กคนนี้ที่ครบเครื่องทุกอย่าง ทั้งยังสามารถใส่จิตวิญญาณลงไปในบทเพลงนั้นได้ด้วย ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา Big Hit Entertainment ได้เริ่มต้นการเฟ้นหาศิลปิน Hip-Hop รุ่นใหม่ที่จะมาร่วมไปด้วยกันกับ Runch Randa ที่เปลี่ยนชื่อในการแสดงอีกครั้งเป็น Rap Monster และต่อมาคือ RM
บังชีฮยอกค้นพบเด็กหนุ่มอีก 2 คนที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์เช่นเดียวกันคือ SUGA และ j-hope ซึ่งได้ร่วมกับ RM เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งวง BTS ขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะมีการคัดเลือกสมาชิกเพิ่มเติม และได้ JIN, Jimin, V และ Jung Kook มาร่วมเป็นสมาชิกของวง โดยที่เด็กฝึกทุกคนมีอิสระในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และความเป็นตัวของตัวเองนี่แหละที่มีส่วนสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์กับแฟนๆ จนก่อเกิดเป็นความรักในตัวศิลปินในเวลาต่อมา
สุดท้ายเมื่อทุกอย่างพร้อม BTS จึงได้เริ่มต้นปล่อยผลงานอัลบั้มแรกในปี 2013 ที่แม้จะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างนัก แต่ด้วยกลยุทธ์ในการตลาดที่ใช้พลังของโซเชียลมีเดียให้เป็นลมใต้ปีก และด้วยความสามารถอันเอกอุในตัวของพวกเขาเอง BTS ได้ค่อยๆ เปลี่ยนจากสายลมที่อ่อนโยน กลายเป็นสายลมโหมกระหน่ำโลกดนตรี โดยที่ไม่ได้หยุดแค่เพียงในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ข้ามไปถึงสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งความฝันของบังชีฮยอก
ARMY กองทัพที่เป็นแฟนคลับของพวกเขา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้ามาของแอปพลิเคชันสตรีมมิงเพลงที่เป็นปรากฏการณ์เช่นกันอย่าง Spotify รวมถึง YouTube ที่เริ่มเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญของวงการดนตรี และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากความสามารถและตัวตนของสมาชิกทั้ง 7 คนที่เป็นตัวของตัวเอง เข้าถึงได้ง่าย และเติบโตไปพร้อมกันกับแฟนๆ เรียกได้ว่าเมื่อของดีจริง ช่องทางเปิดกว้าง ทุกอย่างก็ก้าวหน้าไปเหมือนติดจรวด
ในเวลาไม่นาน BTS กลายเป็นหนึ่งในวงดนตรีที่มีจำนวนผู้ติดตามสูงที่สุดบนโซเชียลมีเดีย ผลงานของพวกเขาติดอันดับท็อปใน Billboard Global ต่อด้วยใน US Charts บัตรคอนเสิร์ตถูกจำหน่ายหมดลงอย่างรวดเร็ว แบรนด์ต่างๆ ต้องการที่จะร่วมงานด้วยเพื่อเกาะกระแส เช่น McDonald’s ที่ทำโปรโมชัน BTS Meal ซึ่งเสิร์ฟ McNuggets 10 ชิ้น พร้อมกับซอสพิเศษที่ได้แรงบันดาลใจตำรับเกาหลี
ยิ่งเวลาผ่าน ผลงานของ BTS ก็ยิ่งดังกระหึ่มโลก ไม่ว่าจะเป็น Dynamite หรือ Butter ที่ฮิตติดหูคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว พวกเขากลายเป็นหนึ่งในวงที่ช่วยเปิดประตูให้คนทั่วโลกได้รู้จักและหลงรัก K-Pop
แต่ในช่วงเวลาของความสำเร็จ บังชีฮยอกได้เริ่มคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ชีวิตหลัง BTS ของเขาและ Big Hit Entertainment จะเป็นอย่างไร?
ไปกันใหญ่! Go So Big (Hit)
ในช่วงที่ BTS สร้างปรากฏการณ์ในโลกดนตรี ก็เป็นช่วงที่ Big Hit Entertainment สามารถทำเงินรายได้อย่างมากมายมหาศาลจากความรักของเหล่า ARMY ที่พร้อมสนับสนุน BTS ในทุกด้าน
รายได้ของ Big Hit Entertainment เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2019 ที่สามารถทำรายได้ถึง 16,600 ล้านบาท (กำไร 2,000 ล้านบาท) และปี 2020 ที่ทำรายได้ 22,500 ล้านบาท (กำไร 2,500 ล้านบาท) ทำให้บังชีฮยอกมองข้ามช็อตไปอีกขั้น
เขาตัดสินใจนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเดือนตุลาคม ปี 2020 เปิดขายหุ้น IPO ระดมทุนได้มากมายมหาศาล พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Hybe Corporation (Hybe Corp.) ซึ่งกลายเป็นบริษัทความบันเทิงที่มีมูลค่าสูงที่สุดของเกาหลีใต้ มีมูลค่าถึง 3.6 แสนล้านบาท สูงเสียยิ่งกว่า 3 ยักษ์ใหญ่ดั้งเดิมอย่าง SM Entertainment และ YG ENTERTAINMENT และผู้ที่เคยร่วมงานกันมาอย่าง JYP Entertainment รวมกันเสียอีก
แต่ถึงความสำเร็จของ BTS, Big Hit Entertainment และ K-Pop จะมากมายมหาศาลขนาดไหน แต่มันมีสัญญาณบางอย่างที่คนในระดับ ‘เจ้าพ่อ’ อย่างบังชีฮยอกจับได้
ยอดขายนอกสหรัฐอเมริกาเริ่มตกลงอย่างช้าๆ และนั่นหมายถึงความเป็นไปได้ที่ ‘Hallyu’ หรือ The Korean Wave ที่พัดกระหน่ำทุกพื้นที่ทั่วโลกจะเริ่มกลายสภาพจากคลื่นใหญ่เป็นคลื่นเล็ก
ไม่นับการที่ BTS อยู่ในช่วงของการพักวงเป็นเวลา 2 ปี เพราะมีสมาชิกที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งแม้ว่าวงจะมีการกำหนดไว้ว่าจะกลับมา Reunite กันอีกครั้งในปี 2025 แต่ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเมื่อถึงเวลานั้นทุกอย่างจะยังเหมือนเดิมหรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะกับสมาชิกในวงเอง แต่รวมถึงความรู้สึกของแฟนๆ ARMY ด้วย
ช่วงที่ผ่านมาบังชีฮยอกใช้เงินไปกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 46,000 ล้านบาทในการซื้อค่ายเพลงต่างๆ ในบ้านเกิด รวมถึงเคยมีความพยายามที่จะซื้อ SM Entertainment เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นประเด็นใหญ่ในวงการบันเทิงเกาหลี แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่การได้ค่ายอย่าง SOURCE MUSIC, ADOR, PLEDIS Entertainment, Koc ทำให้ HYBE มีศิลปินหน้าใหม่ที่แจ้งเกิดได้ตลอด โดยกลุ่มที่มาแรงที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือ NewJeans วงเกิร์ลกรุ๊ปที่เป็นขวัญใจของวัยรุ่นทั่วโลกไปแล้ว กับผลงานเพลงฮิตอย่าง Super Shy มีจำนวนยอดผู้ฟังเพลงบน Spotify เดือนละ 32 ล้านคน ตามหลังวงพี่อย่าง BTS ไม่มาก
HYBE (ซึ่งล้อมาจากคำว่า Hive หรือรวงผึ้ง) ยังลงทุนกับเรื่องของเทคโนโลยี เพื่อหวังจะเป็นผู้นำในตลาดด้านนี้ ด้วยการดึงตัว พัคจีวอน อดีตผู้บริหารที่มีความชำนาญในเรื่องธุรกิจวิดีโอเกมมาเพื่อดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ปลุกปั้นแพลตฟอร์ม Weverse เพื่อรองรับแฟน K-Pop ที่มีจำนวนมากมายมหาศาล
มีการประเมินกันว่าแฟนเพลงของวง BTS จะใช้เงินเฉลี่ยเดือนละ 50 ดอลลาร์ หรือราว 1,780 บาท หรือมากกว่านั้น เพื่อซื้อแท่งไฟไว้เชียร์ในงานแสดง และยังเป็นแฟนเพลงที่อุดหนุนแผ่นซีดีที่ไม่ว่าจะผลิตออกมากี่แบบ กี่เวอร์ชัน ก็ขายได้หมด
Weverse เองยังมีจำนวนผู้ใช้เฉลี่ยถึงเดือนละ 10 ล้านคน โดยแฟนๆ จะใช้ติดตามข่าวสารจากศิลปินซึ่งจะโพสต์ภาพ วิดีโอ รวมถึงใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตและสินค้าที่ระลึกแบบเอ็กซ์คลูซีพ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นแผนการกระจายความเสี่ยงที่ดี เพราะไม่มีใครรู้ว่า BTS จะยังคงเหมือนเดิมหรือไม่เมื่อถึงเวลากลับมารวมวงกันอีกครั้ง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบังชีฮยอกจะครองโลกดนตรีได้ทั้งใบ
และอย่าลืมว่า HYBE ไม่ได้เป็นของเขาคนเดียว งานของเขาคือการปั้นวงให้ดัง ทำเพลงให้ฮิต เพื่อหารายได้มาให้เหล่านักลงทุนที่เชื่อใจ
Dream Academy ปรากฏการณ์ขั้นต่อไป
ชเวมินฮา นักวิเคราะห์จาก Samsung Securities มองว่าถึง HYBE จะยิ่งใหญ่แค่ไหนในเกาหลีใต้ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็น ‘คนนอก’ สำหรับตลาดเพลงในสหรัฐอเมริกาอยู่ดี
เรื่องนี้เป็นเพราะธรรมชาติของวงการเพลงทั้งสองประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก เอาแค่เรื่องของก้าวแรกของการมาเป็นศิลปินก็เป็นคนละเส้นทางแล้ว ในขณะที่ศิลปินในเกาหลีต้องผ่านการฝึกฝนอย่างเข้มงวดตามกรอบที่ค่ายกำหนด ศิลปินในอเมริกาผ่านการขัดเกลาด้วยตัวเองขึ้นมาก่อน จนเมื่อมีผลงานเพลงฮิต มีชื่อเสียงมากพอ จึงจะถูกดึงตัวเข้าสู่ค่ายใหญ่
ไม่นับเรื่องของรายละเอียดสัญญาที่แทบจะเป็นคนละเรื่องและการบริหารงานคนละแนว เพราะในเกาหลีค่ายจะดูแลทุกอย่าง แต่ในอเมริกานั้นงานแต่ละส่วนก็จะมีผู้ที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป เช่น ค่ายดูแลเรื่องเพลง แต่จะมีคนดูแลศิลปิน คนที่จัดการเรื่องการตลาด และบริษัทที่ดูแลเรื่องของการเดินสายทัวร์คอนเสิร์ต
ข่าวการพักวงของ BTS ยังส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของ HYBE จนถึงขั้นตกลงไปกว่า 50% จากหุ้นละ 349,000 วอน เหลือแค่ 173,500 วอนมาแล้ว เพียงแต่ในปีนี้บังชีฮยอกได้เดินหน้าทั้งส่วนของการซื้อค่ายเพลง ความสำเร็จของ Weverse และการเดินหน้าหาพาร์ตเนอร์ในต่างแดน ทำให้มูลค่าหุ้นกลับมา 40% ในช่วง 9 เดือนแรก
โดยเฉพาะการจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่การซื้อ Ithaca Holdings ในปี 2021 ซึ่งดูแลศิลปินระดับโลกอย่าง Justin Bieber และ Ariana Grande และเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เพลง 6 อัลบั้มแรกของ Taylor Swift ด้วยมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 35,800 ล้านบาท
และในงานเปิดตัว Dream Academy คนที่ขึ้นเวทีมาร่วมกับบังชีฮยอกก็คือ จอห์น ยานิก ซีอีโอและประธานของ Interscope Geffen A&M Records (IGA) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือ Universal Music Group ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในค่ายเพลงที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่พร้อมปั้นศิลปินหน้าใหม่เข้าวงการมากมาย อาทิ Billie Eilish และ Olivia Rodrigo รวมถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดัน BLACKPINK ให้ขึ้นสู่เวทีโลก
นั่นหมายถึงโปรเจกต์ Dream Academy ไม่อาจเป็นเพียงแค่โปรเจกต์ทดลองเฉยๆ
แต่นี่จะเป็นความพยายามในการสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งของบังชีฮยอก โดยอาศัยคนที่เข้าใจตลาดเพลงในสหรัฐฯ ดีอย่างยานิก ที่แม้ต่างจะมองเห็นตรงกันว่าโมเดล ‘ไอดอล’ นั้นเป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันอาจจะไม่เก็ต แต่ดูเหมือนว่าเขาจะค้นพบความลับอะไรบางอย่าง
“ผมคิดว่าตำรามันคงจะเอามาใช้ที่สหรัฐฯ ไม่ง่ายนัก แต่ตอนนี้ผมเชื่อว่าผมได้เจออะไรบางอย่างแล้ว และการสร้างสิ่งใหม่ๆ มันอยู่ไม่ไกลจากเราแล้ว”
ถ้ามันไปได้สวยงาม โมเดลนี้จะถูกนำไปใช้ต่อในอีกหลายที่ของโลก และจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ต่อจาก BTS
อย่างไรก็ดี มันก็มีโอกาสที่ความพยายามทุกอย่างจะล้มเหลวได้เหมือนกัน เพราะลึกๆ แล้วในใจของบังชีฮยอกเขาก็รู้ว่า BTS คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและคงไม่มีอีกแล้ว
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาจะอยู่เฉยๆ อย่างน้อยภาพของเด็กสาวที่แววตาเต็มไปด้วยความฝัน กำลังทุ่มเทฝึกซ้อมทั้งการร้อง การเต้น และการพัฒนาบุคลิกภาพตัวตน ก็เป็นภาพที่ไม่ใช่ใครจะสามารถละสายตาได้ง่ายๆ
บังชีฮยอกเองก็เป็นหนึ่งในคนที่จะเฝ้ามองพวกเธอเช่นกัน
ด้วยความหวังว่าเขาจะค้นพบเพชรแท้ที่ทำให้หัวใจพองโตอีกครั้ง เหมือนวันที่ได้พบกับ RM เป็นครั้งแรก
ภาพ: Christopher Polk / Billboard via Getty Images
อ้างอิง: