×

เปิดตัวตน ความรัก คำนิยามของผู้หญิงทั้ง 7 คน ในวัน Lesbian Visibility Day

26.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ปี 2008 เป็นครั้งแรกที่วัน Lesbian Visibility Day ได้รับการบันทึกบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่ดูเหมือนว่าความเป็นมาของวันนี้ยังเป็นปริศนา
  • แม้ประเทศไทยจะดูเหมือนเป็นสังคมที่เปิดกว้างสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่คนจำนวนมากยังไม่มีความเคารพหรือยอมรับตัวตนของชาว LGBT โดยเฉพาะการมีอยู่ของวาทกรรมอย่าง ‘แก้ทอม ซ่อมดี้ คืนสตรีสู่สังคม’ ที่สะท้อนถึงของความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนหญิงรักหญิง
  • THE STANDARD ชวนผู้หญิงต่างวัยและต่างอาชีพทั้ง 7 คน มาร่วมแชร์คำนิยามตัวตน มุมมองความรักต่อผู้หญิง

26 เมษายนของทุกปี ถือว่าเป็นวัน Lesbian Visibility Day หรือ ‘วันตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของเลสเบี้ยน’

 

ทำความรู้จัก วัน Lesbian Visibility Day

การเฉลิมฉลองนี้มีขึ้นเพื่อให้เกิดการยอมรับในความหลากหลายของกลุ่มเลสเบี้ยน หรือชาวหญิงรักหญิง ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะนิยามตัวตนว่าอย่างไร ผู้หญิง ทอม ดี้ เลสเบี้ยน เควียร์ ไบเซ็กชวล นอน-ไบนารี กะเทย หรือด้วยคำที่คุณไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่งตัวสไตล์ไหน ไว้ผมทรงอะไร ควรได้รับความเคารพและความเข้าใจจากสังคม

 

ปี 2008 เป็นครั้งแรกที่ วัน Lesbian Visibility Day ได้รับการบันทึกบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่ดูเหมือนว่าความเป็นมาของวันนี้ยังเป็นปริศนา แม้แต่เว็บไซต์เกี่ยวกับวัฒนธรรมของหญิงรักหญิงอย่าง AfterEllen เองก็ไม่ทราบถึงต้นกำเนิดของวันนี้ สิ่งที่พอจะสืบค้นได้มีเพียง รายชื่อของวันที่เกี่ยวข้องกับ LGBT บนเว็บไซต์วิกิพีเดียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าที่มาที่ไปจะไม่สำคัญเท่ากับเหตุผลที่เรายังต้องมี ‘วันตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของกลุ่มหญิงรักหญิง’

 

ในช่วงปีแรกๆ นั้น วัน Lesbian Visibility Day ไม่ได้รับการกล่าวถึงโดยสื่อต่างๆ มากนัก จนกระทั่งปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ต่างประเทศอย่าง Huffington Post และ Pink News ได้รวบรวมลิสต์รายชื่อของชาวหญิงรักหญิงเพื่อเฉลิมฉลองวันนี้ และในทวิตเตอร์ก็มีการติดแฮชแท็กทวีตที่เกี่ยวข้องด้วยคำว่า #LesbianVisibilityDay ในภาษาต่างๆ ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเกาหลี รวมทั้งการเริ่มแฮชแท็ก #NotVeryVisible ที่กล่าวถึงการละเลยตัวตนของเลสเบี้ยนและการเพิกเฉยถึงความสำคัญของวันดังกล่าว

 

แล้วทำไม ‘วัน Lesbian Visibility Day’ ถึงสำคัญ

แม้ประเทศไทยจะดูเหมือนเป็นสังคมที่เปิดกว้างสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่คนจำนวนมากยังไม่มีความเคารพหรือยอมรับตัวตนของชาว LGBT (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และทรานส์เจนเดอร์) ไม่ว่าจะเป็นการมีอยู่ของวาทกรรมอย่าง ‘แก้ทอม ซ่อมดี้ คืนสตรีสู่สังคม’ ที่สะท้อนถึงของความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนหญิงรักหญิง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายด้วยวาจา ร่างกาย ข่มขืน ไปจนถึงการฆาตกรรม และยังเป็นการลบตัวตนของบุคคลที่เป็นหญิงรักหญิง

 

รวมทั้งการที่ประเทศไทยยังไม่มีข้อกฎหมายอันแสดงถึงสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ซึ่งสามารถสื่อได้ว่ารัฐนั้นยังไม่ยอมรับในการมีอยู่ของประชาชนที่เป็น LGBT ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแต่งงานสำหรับคนรักเพศเดียว กฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัว เช่น การรับอุปการะบุตรบุญธรรม การอุ้มบุญ รวมกฎหมายคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติด้วยอคติเนื่องจากเพศสภาพและเพศวิถี เช่น ปฏิเสธการจ้างงาน ระเบียบการบังคับใส่เครื่องแบบตามเพศกำเนิด

 

หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นตัวละครชายรักชายมีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครมากขึ้น แต่ในมุมกลับกันนั้น เรื่องราวของตัวละครที่เป็นผู้หญิงรักผู้หญิงไม่ได้มีพื้นที่เพิ่มตามไปด้วย หลายเรื่องเปิดพื้นที่ให้ตัวละครที่เป็น ‘ทอม’ เพียงเพราะจะได้ ‘รับการแก้ไข’ โดยตัวละครผู้ชายที่จะเปลี่ยน ‘ทอม’ กลับเป็นผู้หญิงรักผู้ชายอีกครั้งเท่านั้น ถึงแม้การมีอยู่ของตัวละครที่เป็นเลสเบี้ยนบนสื่อบันเทิงอาจจะดูเป็นสิ่งไม่สำคัญ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อบันเทิงเป็นเครื่องมือทางการสื่อสารที่สำคัญ คงจะดีไม่น้อยที่เด็กทุกคนสามารถเติบโตมาโดยเห็นตัวตนของพวกเขาบนหน้าจอ

 

THE STANDARD ชวนผู้หญิงต่างวัยและต่างอาชีพทั้ง 7 คน มาร่วมแชร์คำนิยามตัวตน มุมมองความรักต่อผู้หญิง

 

 

เจ้า-วราลี สังแก้ว นักศึกษาปี 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นิยามตัวเอง

เจ้าเป็นคนเรื่อยๆ อย่างการเรียนไม่เคร่งแต่ก็ขอให้เกรดผ่าน เป็นคนไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองว่าจะดีพอหรือเปล่า แต่ในเรื่องของเพศของเรา เรามั่นใจและชัดเจน กล้าพูดนะถ้ามีคนถาม

 

คิดอย่างไรกับคำว่าเลสเบี้ยน

มันเป็นปกติของมนุษย์ที่จัด category และเข้าใจได้ว่าทำไมถึงต้องตีตราทุกคนด้วยคำนิยามต่างๆ ในอนาคตถ้าจะไม่มีการจัดแบ่งเพศเลย เราว่ามันก็เป็นเรื่องยาก เพราะมองว่ามนุษย์จะทำความเข้าใจง่ายขึ้นเมื่อได้จัดแบ่ง category

 

สำหรับคำว่าเลสเบี้ยน เราก็ไม่ได้รู้สึกในแง่บวกหรือลบ ไม่ได้รู้สึกแปลกประหลาดกับคำนี้ เพราะเป็นคำที่เราเติบโตมาด้วย  และก็รู้สึกว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเรารู้จักคำว่า ‘ยูริ’ (Yuri) ก่อน จากการอ่านการ์ตูน และมารู้ทีหลังว่ายูริก็คือเลสเบี้ยน

 

 

นิยามความรัก

เราว่าความรักเป็นคืออะไรที่หวังผล เวลาที่คนบอกว่าความรักไม่ต้องการอะไรเป็นสิ่งที่ไม่จริงเสมอไป คนเราเวลามีความรักก็ต้องการอะไรอยู่แล้ว เช่น ต้องการความรักตอบ ความสนใจ ถ้าความรักที่ให้ไปโดยไม่หวังผลมันก็เฮิร์ตไง แบบนั้นมันก็ดู unhealthy พูดแบบนี้อาจฟังดูเห็นแก่ตัว ดูใจร้าย แต่จากที่เราผ่านมาหลายครั้ง เรารู้สึกว่ามันคาดหวัง เราโกหกตัวเองไม่ได้ มันดูสวยงามเกินไป

 

ความรักครั้งแรก

ย้อนไปครั้งแรกที่รู้สึกว่ารักนะ ไม่ได้ปลื้มเป็นช่วงมัธยมต้น ซึ่งเราเป็นติ่งเกาหลีและเจอคนที่เป็นติ่งเหมือนกันผ่านทาง MSN ก็นัดไปเจอกัน ซึ่งพวกเราติ่งวงเดียวกันและคุยกันถูกคอมาก แต่เขาเป็นคริสต์และอยู่โรงเรียนคริสเตียน แม้เขาจะไม่เคร่ง คนรอบข้างเคร่งมากๆ ซึ่งเพื่อนก็จับได้ว่าเขาคุยกับผู้หญิง และก็ขู่ๆ ว่าจะบอกซิสเตอร์บราเธอร์ของโรงเรียน ซึ่งตอนนั้นพวกเราก็เด็ก เขาก็กลัว ก็เลยต้องเลิกกัน แต่เราก็เข้าใจเขาได้นะ เขาเป็นคนที่เราคิดลึกซึ้งด้วย เขาน่ารัก อย่างตอนประถมก็มีฟีลปลื้มเพื่อนคนหนึ่งที่น่ารัก มองอยู่บ่อยๆ แต่เราชอบฝ่ายเดียวก็เลยไม่ได้มองว่ามันเป็นความรัก

 

ความรักปัจจุบัน

ตอนนี้ความสัมพันธ์มันซับซ้อนมากๆ เพราะเราก็รู้สึกว่าลึกซึ้งกับเขา แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าสมหวังขนาดนั้น มีเสียใจ ผิดหวัง หลายอย่าง แต่ทุกครั้งที่มีความรัก เราไม่เคยโทษตัวเองว่า ‘ทำไมเราชอบผู้หญิง’

 

อยากฝากอะไรในฐานะหญิงรักหญิง

นี่ก็ปี 2018 แล้ว คนเราควรเปลี่ยน Mindset ได้แล้วนะ สังคมไทยปากบอกว่าเปิดแต่ใจก็ไม่ได้เปิดขนาดนั้น เรารู้สึกว่ามันเป็นเหมือนตลกร้ายเวลาที่คนบอกว่าเมืองไทยเป็นเหมือนสวรรค์ของ LGBT ทำไมคุณถึงกล้าพูดเหรอ จริงอยู่ที่ Mindset ของคนไทยอาจจะถือว่าดีกว่าบางประเทศที่เราเดินบนถนนแล้วไม่โดนปาหิน แต่เราก็ยังแต่งงานไม่ได้ ไม่มีกฎหมายอะไรมารองรับพวกเราสักอย่าง เพราะการแต่งงานมันไม่ใช่กระดาษใบเดียว อย่างอนาคตเราอาจจะไม่ได้แต่งงาน เราอาจจะนกไปตลอด แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปห้ามใครไม่ให้แต่งงาน

 

 

บัว-นันท์นภัส หาญตระกูล ฟรีแลนซ์คนทำดนตรีประกอบหนังสือนิทาน ครูสอนดนตรีสำหรับเด็ก และธุรกิจส่วนตัว

 

นิยามตัวเอง

เราเป็นคนคิดมาก จริงจังกับงาน ชอบจัดระเบียบในชีวิต เป็นผู้หญิงชอบผู้หญิง และเป็นคนจริงจังในความรัก นิยามว่าเป็น ‘ทอม’ ก็ได้ เพราะเราชอบผู้หญิง แต่ส่วนตัวจะกลัวผู้หญิงที่เข้ามาแล้วเรียกตัวว่าเป็น ‘ดี้’ อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม

 

คิดอย่างไรกับคำว่าเลสเบี้ยน

มองว่า ‘ผู้หญิงกับผู้หญิง’ อย่างบัวคนก็จะมองว่าเป็นทอม เพราะเราไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นอย่างไร แต่จริงๆ ก็เหมือนเราที่เป็นคู่ของผู้หญิง แค่ภายนอกเป็นคนละแบบกัน แต่ใจก็เหมือนกัน เป็นคนสองคนรักกัน

 

 

นิยามความรัก

เรารักใครก็จริงจัง อาจจะดูเจ้าชู้เพราะเป็นคนตลกและขี้เล่น แต่ถ้ามีแฟนก็จะหยุดทุกอย่าง จริงจังและวางอนาคตกับคนนี้ เพราะเราเคยผ่านประสบการณ์ที่เราทำพัง เราเสียใจที่ไม่ได้มีโอกาสแก้ตัว เราเลยตั้งใจว่ารักครั้งต่อไปเราจะทำให้ดีขึ้น ส่วนสเปกก็ชอบผู้หญิงที่ทำงานเก่ง มีความเป็นผู้นำ เข้ากับเราได้ ส่วนมากก็จะเป็นคนที่เด็กกว่า เพราะเราชอบดูแลเทกแคร์

 

ความรักครั้งแรก

ตอนเด็กๆ เราก็จะมีแอบปลื้มรุ่นพี่ ซื้อขนมไปให้เขา แต่ถ้าเป็นความรู้สึกที่ดีจังเลยคือตอน ป. 6 กับเพื่อนร่วมห้อง เวลาเจอกันทุกวันนี้ยังเขินๆ ตลกๆ อยู่เลย เป็นความรักที่ทำให้เรารู้สึกตัวว่า ‘กูคงเป็นทอมนี่แหละ’ (หัวเราะ)

 

ความรักปัจจุบัน

พอโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็อยากหาคนที่วางอนาคตด้วยกันได้ ตอนนี้คนที่คุยอยู่ก็ผ่านด่านหนึ่งแล้ว พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายโอเค แต่ก็ต้องศึกษากันไปเรื่อยๆ ว่าสุดท้ายจะไปด้วยกันได้หรือเปล่า อย่างที่บอกก็คือรักทุกครั้งจะต้องดีกว่าครั้งก่อน

 

อยากฝากอะไรในฐานะหญิงรักหญิง

ไม่ว่าจะเป็นคู่หญิงหญิง ชายชาย หรือชายหญิง มันก็คือความรัก ไม่มีผิดหรือถูก เราอย่าไปจำกัดพวกเขาด้วยคำที่เราสร้างมา แบบคู่นี้เรียกแบบไหน เพราะพวกเขาสองคนรักกัน ถ้าเขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

 

และอีกอย่างก็คือการพาดหัวข่าวและการใช้คำของสื่อ จำได้ว่าช่วง ม.ต้น มีข่าวทอมฆ่าปาดคอ ซึ่งสื่อใช้คำพาดหัวที่แย่มาก เคยมีรุ่นน้องที่โรงเรียนมาแอบบอกเราว่า แม่เตือนให้ระวังเรา อยู่ๆ ห่างพี่บัวไว้ เพราะแม่เห็นในข่าวว่าทอมเป็นคนไม่ดี รุนแรง มันทำให้เรารู้สึกแย่มาก แต่เวลาผ่านไปพ่อแม่เขาก็รู้ว่าเราไม่ใช่คนแบบนั้น เพราะเวลาพิสูจน์ว่าเราเป็นคนยังไง การที่เราเป็นทอมก็ไม่ได้เป็นแบบพาดหัวข่าว เหมือนคนพาดหัวข่าวคิดแค่สนุก ให้คนด่าแล้วดัง เรียกกระแส แต่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบว่าคนที่เป็นแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร ส่วนตัวเราก็คิดว่าเรื่องนี้มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นซึมเศร้า เพราะบัวไม่เคยรู้สึกดีที่ต้องเกิดมาแล้วต้องเป็นแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกผิด

 

 

ออย-ฐิติมา งามวงษ์วาน มาร์เก็ตติ้ง และ ยุ้ย-พัชรินทร์ ชัยวโร ธุรกิจส่วนตัว

 

นิยามตัวเอง

ออย: เราเป็นเหมือน ‘Open Book’ สำหรับคนรู้จักกัน แต่สำหรับคนที่ไม่รู้จักมีคนเคยบอกว่าเราดูหน้าหยิ่ง ดูไม่น่าคุย แต่ถ้าคนรู้จักจะเป็นคนเปิดเผยมากๆ เป็นคนไม่มีตรงกลาง ถ้าใครดีมาเราก็ดีด้วย ถ้าเขาทำไม่ดีกับเรา เราก็จะรู้สึกไม่ดีกับเขาไปเลย และก็นิยามว่าตัวเองเป็นผู้หญิง เราไม่มีปัญหาเวลาคนมาเรียกคู่เราว่า ‘คู่ทอมดี้’ แต่ว่าเรียกว่าเลสเบี้ยนได้

ยุ้ย: เป็นคนไม่ค่อยเปิดเผยกับใคร เบื้องหน้ามันจะดูเป็นคนตลก เข้ากับคนง่าย แต่ต้องสนิทมากๆ ถึงจะยอมเปิดใจด้วย เราเป็นคนจริงใจและหยาบคายด้วย (หัวเราะ) ภายนอกก็ดูเป็น ‘ทอม’ แต่เราไม่ชอบให้ใครมาจำกัดนิยามเราว่านี่เป็น ทอม ดี้ เลสเบี้ยน หรืออะไร

 

คิดอย่างไรกับคำว่าเลสเบี้ยน

ออย: เราเฉยๆ เพราะเรามองว่าคำนี้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อเรียกรูปแบบความสัมพันธ์ แทนการเรียกความสัมพันธ์ของหญิงรักหญิงว่าเป็นเลสเบี้ยน

 

ยุ้ย: เราไม่ชอบคำว่าเลสเบี้ยนเพราะไม่ชอบให้มาจำกัดความ แต่ก็คิดเหมือนออยว่าคำนิยามนี้เขาก็คงคิดมาเพื่อเรียกแทนคำนิยาม แต่ถ้าฟังก็ยอมรับได้ว่าเป็นคำที่เขาใช้เรียกกัน

 

 

นิยามความรัก

ออย: ความรักไม่มีเหตุผล เราใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินใจ ถ้าให้พูดตรงๆ ก็ ‘The Heart Wants What It Wants’ เวลามีความรักก็จะทุ่มมากๆ ไม่ค่อยเป็นค่อยไป แบบก้าวกระโดดตลอดไป

 

ยุ้ย: แต่เราจะตรงข้ามกับออยเลย เราเป็นคนใช้เหตุผล ไม่รู้เพราะเราโตขึ้นด้วยหรือเปล่า ตอนแรกๆ เราก็เป็นคนพุ่งเข้าไปหาเหมือนกันนะ แต่ตอนนี้ก็ใช้เหตุผลมากกว่า ต้องมีตรงกลาง เราต้องไปด้วยกันได้

 

ความรักครั้งแรก

ยุ้ย: ที่ผ่านมาเคยมีแฟนมา 3 คน รักแรกเป็นรักที่เริ่มตั้งแต่สมัยมัธยมจนเรียนจบ 11 ปี มันเป็นความรักที่โตมาด้วยกัน ผ่านชีวิตที่ต้องมีเป็นช่วงปรับเปลี่ยน เราคิดว่าชีวิตคนเราจะต้องเปลี่ยนทุกๆ 7 ปี เช่นช่วง ม.6 เข้ามหาวิทยาลัยเราเปลี่ยนไป ซึ่งพอเราเข้าช่วงวัยทำงาน เรามองเห็นว่าความรักมันโตขึ้น โตเกินกว่าที่จะเป็นความรักแบบเด็กๆ ซึ่งเราก็ไม่อยากดึงเขาไว้ เราก็ยังไม่พร้อมที่จะดูแลเขา เราก็ยอมรับได้ว่าความรักครั้งแรกเราก็ต้องปล่อยไป ทั้งเราและเขาต่างก็ต้องไปเติบโตในแบบของแต่ละคน เพราะถ้ายังจับมือกันต่อไปก็คงมันไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม ย่ำอยู่กับที่ เพราะเราโตมาด้วยกันไม่เคยไปไหน

 

ความรักปัจจุบัน

ออย: ขอเลือกพูดถึงความรักปัจจุบันดีกว่า เรามีเหตุผลมากขึ้น จากที่ตอนเด็กๆ เราจะไม่มีเหตุผล แต่พอเราโตและผ่านความรักมา เราก็โตขึ้น และถ้าพูดถึงแฟนเราก็เป็นคนที่โต มีอนาคตที่เราสามารถเดินไปกับเขาได้ เรามองว่าเป็นความรักที่พอดี ไม่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาเหมือนสมัยเด็กๆ แต่เราก็คิดถึงกันตลอด เป็นความรักที่เข้าใจกัน

 

ยุ้ย: ความรักปัจจุบันคือความรักที่ลงตัวพอดี เราอยู่ในจุดที่เราพร้อม เราดูแลเทกแคร์เขาได้ และเรายังโตด้วยกันไปได้อีก มันอาจจะมีจุดเปลี่ยนอีก แต่เราก็จะก้าวไปด้วยกันได้

 

อยากฝากอะไรในฐานะหญิงรักหญิง

ออย: เราอยากให้เลสเบี้ยนมีบทบาทมากขึ้นในสังคม ที่เราเห็นตอนนี้ก็จะมีแต่เกย์และตุ๊ดจากรายการ ซีรีส์ต่างๆ ที่พวกเขาทำกัน แต่ภาพลักษณ์ของเลสเบี้ยน ทอม ดี้ ในสังคมยังดูไม่ดีเท่าเกย์ในสังคม เราเองก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่อยากให้คนมองเราเปลี่ยนไป เพราะอย่างทุกวันนี้คนก็มองเกย์เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน

 

 

ยุ้ย: อาจจะต้องรอเวลาให้คนเปิดใจกันมากกว่า อย่างตอนเด็กๆ คนยังไม่รู้จัก LGBT ยังเรียกว่า ‘ชอบไม้ป่าเดียวกัน’ แต่ตอนนี้คนก็เริ่มเข้าใจและแบ่งแยกกันได้ดีขึ้น อาจจะเป็นรุ่นที่เด็กกว่าพวกเราที่พวกเขาจะสามารถเปิดเผยกันมากขึ้น มีการยอมรับกันมากขึ้นอย่างเมื่อก่อน

 

ออย: ผู้ใหญ่ก็ควรเลิกครอบความคิดเด็กเอาไว้ แยกเพศผู้ชายผู้หญิงอย่างชัดเจน เพราะกลัวลูกจะ ‘เบี่ยงเบน’ เช่น เด็กผู้ชายใช้ของสีชมพูไม่ได้ เล่นตุ๊กตาไม่ได้ แต่เรามองว่าเด็กก็คือเด็ก เราไม่ควรไปปิดกั้นเขา พวกเขาควรจะได้ค้นหาว่าตัวเองเป็นอะไร ชอบอะไรดีกว่า เพราะผู้หญิงไม่จำเป็นต้องชอบสีชมพู ผู้ชายต้องใช้แต่สีฟ้า

 

ยุ้ย: เพราะถ้าคนจะเป็นอะไรเขาก็เป็น (หัวเราะ) ไม่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่โตมา ครั้งแรกสมัย ป.5 มีเพื่อนมาถามว่า ‘ชอบไม้ป่าเดียวกันเหรอ?’ เป็นครั้งแรกที่เคยได้ยินคำนั้น ซึ่งมองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าเราเป็นก่อนที่จะรู้จักคำนี้และเข้าใจ และตอนเด็กๆ เราก็เคยอยากไปเรียนโรงเรียนหญิงล้วน แต่แม่กลัวว่าจะเป็นทอมเลยให้ไปเรียนโรงเรียนสหศึกษาแทน แต่สรุปเราก็เป็นของเราอย่างนี้อยู่ดี (หัวเราะ)

 

 

เม-จุฑามาศ สุขอากาศ ดีเจ Mae Happyair และ Co-Founder ของ Go Grrrls และ NON NON NON

 

นิยามตัวเอง

เราเป็นดีเจประจำและทำปาร์ตี้ที่ชื่อว่า Go Grrrls และ NON NON NON และก็เป็นเควียร์ อย่างตอนแรกบอกที่บ้านว่าเป็นเกย์ แต่เขาก็บอกว่าเกย์คือผู้ชายนะ ซึ่งเราเองก็ไม่รู้สึกว่าคนอื่นนิยามเกย์เหมือนเราหรือเปล่า เราสบายใจกับคำว่า ‘เกย์’ อย่างนิยามคำว่า ‘เควียร์’ มันสนุก ขี้เล่น กว่าการนิยามว่าเป็นเกย์ ดูเปิดรับมากกว่า เราเคยเปิดเพลงอยู่แล้วเจอเลดี้บอยสวยมาก อยากรู้จัก แม้ว่ารู้ตอนหลังว่าเขาเป็นเลดี้บอย แต่เราก็ยังอยากรู้จัก เขาก็ยังเป็นคนสวยสำหรับเรา อาจจะเรียกว่าเป็นความเควียร์ในตัวเรา

 

คิดอย่างไรกับคำว่าเลสเบี้ยน

รู้สึกว่าห่างไกลเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นผู้หญิงรักผู้หญิง อาจเป็นเพราะเราอยู่กับเพื่อนที่เป็นเลสเบี้ยนน้อยจริงๆ ส่วนใหญ่เพื่อนมีความหลากหลายมาก เป็นเควียร์กันหมด ส่วนตัวไม่ต่อต้านคำว่าเลสเบี้ยน แต่ชอบให้เรียกว่า ‘เกย์’ มากกว่า ถ้าเพื่อนสนิทก็อนุญาตเรียกว่า ‘อีทอม’ เราโอเคนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าคนไม่รู้จักมาเรียกเราไม่โอเค น้ำหนักเสียงมันต่างกัน ถ้าคนรู้จักเขาเรียกเรา เรียกคำไหนก็ได้ไม่มีปัญหาหรอก

 

 

นิยามความรัก

เรานึกถึงวิธีการคบหากันมากกว่า แบบไม่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลาก็ได้ เพราะคนที่เราคบด้วยเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง อยากเป็นตัวของตัวเองสูง มีความเป็นเรา ความรักของเราคือคนสองคนที่พร้อม อิ่มตัวในชีวิตของตัวเองแล้ว และเวลามันทำให้เราได้อยู่ด้วยกัน

 

ความรักครั้งแรก

ความรักครั้งแรกมันแย่มาก แบบว่าเราเป็นเด็กวัยรุ่น เราอ่อนไหว เขาก็ไม่รู้จักพอ แบบตอนนั้นมีแต่ความรักนำทาง เหมือนเป็นคนไม่มีสติมาคบกัน คนหนึ่งไม่หยุด อีกคนก็โดนหลอกได้ตลอด

 

ความรักปัจจุบัน

คนปัจจุบันไม่เรียกแฟน เรียกว่าเป็น Open Relationship ดีกว่า เข้าใจกันมากที่สุด แต่ไม่มีแววจะได้อยู่ด้วยกันเลย อาจจะตลอดชีวิต เพราะว่าเราต่างต้องมีชีวิตของตัวเอง ตอนอยู่ด้วยกันก็รักกันมาก แต่เราก็เหมือนสูญเสียความเป็นตัวเอง แต่พอไม่ได้อยู่ด้วยกัน ได้ตัวเองคืนมา แต่ก็อยากเจอกันบ้าง ความรักครั้งใหม่ตั้งใจว่าจะไม่รีเพลย์เรื่องแย่ๆ เก่าๆ มาแล้ว คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามทางของมัน

 

อยากฝากอะไรในฐานะหญิงรักหญิง

เท่าที่ฟังจากเพื่อนเกย์ เควียร์ ต่างชาติ มักจะบอกว่าพวกเราโชคดีนะ แม้จะไม่สามารถแต่งงานได้ตามกฎหมาย แต่เห็นคนเดินจับมือและกอดกันได้ ถือว่าเป็นความเปิดกว้างในเลเวลที่เราโอเค แต่เราเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของเสียงให้การแต่งงานอย่างถูกกฎหมายมันเกิดขึ้นได้ เพราะเราเชื่อว่าคนรักกันก็อยากอยู่ด้วยกัน

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

นิยามตัวเอง

ตามหน้าที่การงานคือนักวิจัย อาจารย์สอนวรรณคดีศึกษา ในด้านการเมืองเราเป็นเฟมินิสต์ ถ้าเป็นอัตลักษณ์ทางเพศสภาพคือหญิงรักหญิง อดีตหญิงรักชายและหญิงรักหญิง แต่ในห้วงขณะเวลานี้คือหญิงรักหญิง

 

คิดอย่างไรกับคำว่าเลสเบี้ยน

ภาษาหรือคำเกิดมาในบริบทที่เฉพาะเจาะจง ความหมายถูกทำให้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่มีความหมายไหนที่ฟิกซ์ เราไม่ติดใจอะไรที่มีคนเรียกเราว่าเลสเบี้ยน ตัวเองจะได้นำไปใส่ในเครื่องหมายคำพูด ให้คุณลองไปตามประวัติศาสตร์ของคำ และตั้งคำถามกับคำคำนี้ เพราะในบางประเทศที่ปิด คำว่าเลสเบี้ยนกลายเป็นคำด่า หรือจะเรียกเราว่าไบเซ็กชวลก็ได้ เพราะเราก็เคยมีคนรักเป็นผู้ชายก่อน หรือจะเรียกเราว่าเป็นทอม เราก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะความเป็นชายเป็นหญิงมันเป็นสิ่งที่สร้าง เพราะเราไม่ควรปิดกั้นคำว่าเลสเบี้ยน มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการตีความที่ต่างออกมา

 

 

นิยามความรัก

ความรักสำหรับเราคือการเปิดพื้นที่สำหรับการเติบโต การที่เป็นเราอย่างทุกวันนี้ก็ต้องยกเครดิตให้ครอบครัว ครอบครัวเราให้อิสรเสรีในการค้นหาตัวเอง ในการคบใครก็ได้ ทำให้นึกถึงสิ่งที่นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Jean-Paul Sartre (ฌอง-ปอล ชาตร์) บอกไว้ว่าความรักต้องใส่ไว้ในเครื่องหมายคำพูดเสมอ เพราะเราจะได้ทบทวนคำว่ารักว่าแปลว่าอะไร เพราะเขาบอกว่ายากที่จะตีความหมายคำว่ารัก เราต้องตามความรู้สึกความอยากเป็นเจ้าของเขา การมอบพื้นที่ให้คนนั้นมีอิสรเสรีให้เขาเติบโตคงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

 

แต่ถ้าให้พูดถึงความรักแบบคู่รักและคู่ชีวิต เราเห็นด้วยกับ Judith Butler นักคิดชาวอเมริกันที่พูดว่า คำว่า ‘I love you.’ และแนวความคิดของคำว่า ‘รัก’ มันมีนัยยะว่า I เป็นศูนย์กลางของจักรวาล มันมีความเฉพาะเจาะจง และคำนี้กลายเป็น branding ที่เป็นทั้งส่วนตัวและสาธารณะ และสิ่งที่เหนือกว่าคำว่ารักคือ commitment คือความเชื่อมั่น ภักดี แต่ก็ไม่สามารถเป็น eternal ได้ เพราะตัวเราเองยังเปลี่ยนแปลงเลย ทุกอย่างมันก็มีรีเฟรชอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันไม่มีหรอก ‘eternal love’

 

ความรักครั้งแรก

รักครั้งแรกเกิดขึ้นสมัยมัธยมโรงเรียนคาทอลิกหญิงล้วน แอบชอบเพื่อนคนหนึ่งหนักมาก แม่เราเป็นคาทอลิกที่เคร่งมาก เราเองก็เคยเป็นคาทอลิกที่เคร่งมาก ช่วงนั้นก็เหมือนเป็นการค้นหาตัวเอง ตอนนั้นก็ crush เขาหนักมาก แต่ก็ไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้ กลัวทั้งศาสนาและกลัวว่าเขาจะไม่รู้สึกเหมือนเรา แต่โชคดีที่เขาคิดเหมือนกัน เราก็สมหวัง แต่ความสัมพันธ์ก็จบลง รักครั้งแรกไม่มีใครลืมได้หรอก มันเป็นความรักที่อยู่กับเราตลอด

 

ความรักปัจจุบัน

ความรักเกิดขึ้นต่างแดนที่ประเทศสโลวาเกีย ตอนนั้นไปเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก เราได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับวรรณกรรมอังกฤษที่ต่างเมือง ขากลับเราก็ไปรอรถไฟกลับ Bratislava ที่สถานีรถไฟที่เก่ามาก เรามัวแต่อ่านหนังสือจนมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาบอกว่า “ขอโทษนะ กำลังจะกลับเมืองบราติสลาวาใช่ไหม เมื่อกี้เพิ่งมีประกาศว่าต้องเปลี่ยนไปขึ้นชานชาลาอีกฝั่ง” ซึ่งเขาก็กลับไปเมืองเดียวเลยได้คุยระหว่างที่นั่งรถไฟก็พบว่าเขาเป็นผู้หญิงที่อยู่ในห้องเลกเชอร์ ซึ่งห้องเลกเชอร์มันใหญ่มากเราจำใครไม่ได้ แต่เขาจำเราที่เป็นเลกเชอร์ เราก็คุยจนมาถึงทุกวันนี้ ทุกครั้งเวลาที่เราขึ้นรถไฟแล้วได้ยินประกาศของสถานีก็จะทำให้คิดถึงช่วงเวลานั้น ถ้าเธอไม่ได้มาเตือนฉัน ฉันก็คงจะตกรถไฟและไม่ได้เจอเธอ

 

อยากฝากอะไรในฐานะหญิงรักหญิง

เราคิดว่า visibility สำคัญมาก ต่อทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าจะได้เรียนรู้ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าคิดแบบเก่าก็เชื่อว่าหญิงรักหญิงมีมาตั้งนานแล้ว แต่อย่าแสดงตัวได้ไหม อยู่แบบเจี๋ยมเจี้ยมไป ซึ่งนั่นคือความอดทนอดกลั้น ตราบใดที่คุณอยู่อยู่ส่วนคุณ ฉันอยู่ส่วนฉัน ช่วยปฏิบัติตนในแบบที่ฉันอยากเห็นแล้วกัน เหมือนที่อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์บอกว่า ‘สังคมไทยยอมรับ LGBT ด้วยเงื่อนไข’ การที่เรา visible ขึ้นมา เราสามารถล้างมายาคตินี้ได้ เหมือนออกมาประกาศว่า ‘ฉันจะไม่อยู่ใต้พรมเธอนะ มองฉันสิ ฉัน Out & Proud’

 

สำหรับคนรุ่นใหม่ เราก็คิดถึงตัวเองและคนรักที่อยู่สโลวาเกียเหมือนกัน เพราะเขาเองมีปัญหามาในช่วงอายุน้อยแล้วไม่มี role model อะไรเลย เพราะสังคมเขาปิดกว่าเราเยอะ เราคิดว่า visibility สำคัญมากๆ การตระหนักรู้ตัวตนของเลสเบี้ยนที่กำลังค้นหาตัวเองได้มองสังคม มองไปรอบตัว มองสื่อแล้วได้เห็นเลสเบี้ยนอยู่ทุกก้าวในชีวิต ทุกสาขาอาชีพ เห็นเลสเบี้ยนเป็นอาจารย์หรือทำงานด้านศิลปะ เป็นนักวิทยาศาสตร์ และพวกเขาล้วน comfortable กับตัวเอง เพราะความหลากหลายทางเพศสภาพเป็นเรื่องธรรมดา แต่สังคมไม่ปกติทำให้เรื่องนี้ไม่ปกติไปเสียเอง เขาจะได้มีความมั่นใจ และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ต้อง depressed และจะได้มีภูมิคุ้มกันตั้งแต่เด็ก เข้าใจว่าโลกมีคนที่เป็น homophobia ซึ่งเป็นสภาวการณ์ที่ผิดปกติ LGBT ต่างหากเป็นสิ่งปกติ เหมือนกับนิยามความรักคือให้พื้นที่ ให้ความหลากหลายทางเพศนี้งอกงาม เรารณรงค์อยากให้ทุกคนแสดงความออกมาให้มองเห็นและตระหนักรู้ เรามองว่าการมี visibility มันสำคัญกว่าการเขียนเปเปอร์วิชาการอีก มันช่วยชีวิตคนได้ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ปิดกั้นไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ

 

 

เล็ก-ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ เจ้าของสำนักพิมพ์สะพาน (เน้นนิยายเกี่ยวกับความรักของหญิงรักหญิง)

 

นิยามตัวเอง

เมื่อก่อนก็คิดว่าตัวเองเป็นหญิงรักหญิง แต่ก็ตั้งคำถามว่าเราต้องมีแฟนหรือเปล่า ถ้าเป็นหญิงโสด ก็ถูกมองว่าเป็นหญิงโสดธรรมดา แต่ถ้าให้นิยามตัวเองก็คือเป็นหญิงรักหญิงที่เป็น asexual (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้มีความรู้สึกรักโรแมนติกกับผู้หญิงตลอดเวลา ไม่ค่อยมีความสนใจในเรื่องนั้นเท่าไร เราต้องมีความสนิทสนมก่อน บางครั้งก็มีความรู้สึกแปลกแยกจากกลุ่มหญิงรักหญิงในโลกเลสเบี้ยน เพราะเรามองว่าพวกเขามีความลุ่มหลงในผู้หญิงมากๆ แต่เรารู้สึกว่าไม่ใช่ เราชอบได้แค่บางคน แต่ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร

 

คิดอย่างไรกับคำว่าเลสเบี้ยน

ในแง่ของคำเรียกก็ถือว่าครอบคลุมกลุ่มหญิงรักหญิงดีนะ แต่คนส่วนหนึ่งในสังคมไทย เช่น กลุ่มทอม-ดี้ เคยไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าคำนี้ได้รับการยอมรับดีขึ้น ส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไรกับคำนี้ ยอมรับได้ ไม่ซีเรียสว่าใครจะเรียกเราว่าอะไร ถือเป็นคำสากลทั่วไป แค่ในเมืองไทยไม่ชินกับคำนี้เท่าไร เมื่อก่อนมันใช้คำหนังโป๊ คนเลยแอนตี้คำนี้เพราะความหมายของมันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศมากไป แต่เดี๋ยวนี้ความหมายเหมือนสากลมากขึ้น

 

 

นิยามความรัก

เป็นคนที่ไม่สนใจความรักสักเท่าไร มีความรักก็ได้ไม่มีก็ได้ มันไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับเรา เราชอบอ่านหนังสือมากกว่า สำหรับบางคนเขาต้องมีแฟนถึงจะโอเคกับตัวเอง แต่สำหรับเราก็รู้สึกสบายดีกับการเป็นโสด และก็ไม่ใช่การหลอกตัวเอง ที่ผ่านมาก็เคยมีแฟน แล้วกลับรู้สึกว่ามันยุ่งยากกว่าอีก เพราะว่าเราต้องใส่ใจดูแลเทกแคร์แฟน เรารู้สึกว่าเราทำได้ไม่มากพออย่างที่เขาต้องการจากเรา เราอาจไม่เหมาะกับการเป็นคนที่มีแฟน คือมีก็ได้แต่ก็ไม่ได้ต้องการ (หัวเราะ) คงเพราะไม่ใช่คนขี้เหงาด้วยตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

 

ความรักครั้งแรก

ไม่รู้หรอกว่าตัวเองสามารถชอบผู้หญิงได้ เพราะโตมาก็ชอบผู้ชายปกติ จนกระทั่งมีแฟนเป็นผู้หญิง เราก็ ‘อ้าว เราสามารถชอบเพศเดียวกันได้ด้วยเหรอ’ (หัวเราะ) ความสัมพันธ์กับผู้หญิงก็มีเรื่องเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนวัยรุ่นที่ชอบผู้ชายก็ไม่มีเรื่องเพศ ไม่รู้เพราะเป็นผู้หญิงด้วยกันหรือเปล่ามันก็เลยง่ายขึ้นที่จะมีอะไร จริงๆ ก็ไม่ถือว่าเป็นรักครั้งแรก แต่ความสัมพันธ์แบบ ‘แฟน’ ครั้งแรก เกิดจากความใกล้ชิดและเราก็อยู่ด้วย มีเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ก็ไม่ใช่รักแรกพบแบบจี๊ดๆ อย่างตอนวัยรุ่นก็เคยกรี๊ดรุ่นพี่ผู้ชาย นักร้องผู้ชาย แต่คนที่คบเป็นแฟนคนแรกก็เป็นผู้หญิง หลังจากนั้นก็มีแฟนเป็นผู้หญิงมาตลอด (หัวเราะ) เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบกึ่งแฟนและกึ่งเพื่อนมากกว่า คบกันมา 7 ปี แต่ก็เลิกกันไป

 

ความรักปัจจุบัน

ช่วงวันวาเลนไทน์เนี่ยจะรู้สึกว่าการเป็นโสดนี่มีความผิดกว่าการรักเพศเดียวกันเสียอีก ถูกทำให้รู้สึกอย่างนั้น ‘คุณต้องมีแฟนนะ การที่ไม่มีแฟนกลายเป็นคนชายขอบ เหมือนเราเป็นคนด้อยค่า ซึ่งเราก็อยากบอกว่าเรามีความสุขดีที่เป็นคนโสด

 

อยากฝากอะไรในฐานะหญิงรักหญิง

ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่ดูมีการเปิดกว้างในการเป็นหญิงรักหญิงมาก ดูง่ายกว่า 20 ปีที่แล้ว ไม่เก็บกดเท่า จนทำให้เราสงสัยว่าสังคมเริ่มเปิดกว้างนั้นมากขนาดนั้นจริงๆ เหรอ เพราะในอีกมุมหนึ่งก็เด็กรุ่นใหม่กลุ่มเดียวกันก็ยังเจอปัญหาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัญหาครอบครัวบางคนไม่ยอมรับ บางคนแค่จะมาซื้อหนังสือยังไม่ได้เลย จะเข้ามาบูธดูหนังสือก็ไม่กล้าเข้า เราเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ในทางหนึ่งก็ดูเปิดกว้าง แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีคนที่ประสบปัญหาเหมือนเมื่อก่อน หรือมันเปิดกว้างเฉพาะบางกลุ่ม แล้วมันมีอุปสรรคปัญหาอะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างในคนรุ่นเดียวกัน ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เหมือนกัน ไม่ต่างกับคนรุ่นเก่าๆ ที่ไม่ควรมีอยู่แล้ว

 

อ้างอิง:

FYI

ทำความเข้าใจนิยามและตัวตนของ ‘เลสเบี้ยน’

  • เลสเบี้ยน ตามความเข้าใจของคนไทยจำนวนไม่น้อยคือผู้หญิงผมยาวที่คบกับผู้หญิงผมยาว ตามความคุ้นชินของการจัดแบ่งประเภทคนภายในกลุ่มหญิงรักหญิงออกเป็น ทอม ดี้ และเลสเบี้ยน จัดกลุ่มจากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ทรงผม และไลฟ์สไตล์ ในขณะที่สังคมชาวตะวันตกจะใช้คำว่าเลสเบี้ยน (Lesbian) ซึ่งเป็นคำครอบคลุม (Umbrella term) เรียกกลุ่มผู้หญิงที่รักผู้หญิง ไม่ว่าจะมีรูปลักษณ์ภายนอกและอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์กับผู้หญิงเช่นใด แต่ก็ยังมีคำนิยามอย่าง butch และ femme ที่มีความหมายที่ใกล้เคียงกับทอม-ดี้ในบริบทสังคมไทยเช่นกัน
  • บางคนก็ใช้คำนิยามเรียกตนเองว่า ‘เกย์’ (Gay) ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Umbrella term สำหรับคนที่ไม่นิยามตนเองว่าเป็นคนรักต่างเพศ (Heterosexual) และในปัจจุบันชาวหญิงรักหญิงจำนวนไม่น้อยเลือกนิยามตนเองว่า ‘เควียร์’ (Queer) ซึ่งเป็นคำนิยามที่ทลายกรอบเดิมอย่าง ‘ไร้คำนิยาม’ และมีความลื่นไหลทางเพศมากกว่า (Gender Fluid) และไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะนิยามตัวตนว่าอย่างไรก็ควรได้รับความเคารพในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ต่างกับผู้หญิงที่รักต่างเพศ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X