นักเศรษฐศาสตร์ไม่เซอร์ไพรส์เงินเฟ้อไทยติดลบ ชี้เป็นผลจากฐานสูงและมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ แต่ต้องจับตาเงินเฟ้อพื้นฐานหากหดตัวติดต่อกัน 2-3 เดือน อาจสะท้อนถึงภาวะเงินฝืดอ่อนๆ
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ถึงกรณีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนตุลาคมปรับลดลง 0.31% ซึ่งถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 25 เดือน ว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนที่ผ่านมาออกมาติดลบน่าจะเกิดจาก ฐานที่สูงในปีก่อน และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหดตัวไปกว่า 10% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยพิเศษอย่างเทศกาลกินเจที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลง
“ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ออกมาถือว่าต่ำกว่าที่ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์เอาไว้ว่าจะขยายตัวเป็นบวกแบบอ่อนๆ ที่ 0.1-0.2% ไม่ถึงขั้นติดลบ อย่างไรก็ดี หากดูเงินเฟ้อพื้นฐานจะเห็นว่ายังเป็นบวกที่ 0.66% น้ำหนักจึงน่าจะเป็นเรื่องฐานและมาตรการลดค่าครองชีพ และยังเร็วไปที่จะกังวลถึงภาวะเงินฝืด” ณัฐพรกล่าว
ณัฐพรกล่าวว่า หากย้อนกลับไปในช่วง 1-2 เดือน จีนก็เคยมีตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบจนนำไปสู่ความกังวลของตลาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว เกิดภาวะเงินฝืด แต่ถ้าดูให้ดีจะพบว่าในช่วงนั้นเงินเฟ้อพื้นฐานของจีนยังเป็นบวก ซึ่งในท้าทายที่สุดเงินเฟ้อของจีนในเดือนล่าสุดก็กลับมาเป็นบวกได้ จึงมองว่าในเคสของไทยน่าจะมีลักษณะที่คล้ายกัน
“เราประเมินว่าเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 1.4% โดยคำนวณมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐเข้าไปแล้ว แม้ในช่วงที่เหลือของปีเงินเฟ้อยังมีโอกาสอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เชื่อว่ายังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประมาณการ อันที่จริงเรามองว่าช่วงปลายปีมีความเสี่ยงเรื่องภัยแล้งที่อาจทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นราว 01.-0.2% ด้วย” ณัฐพรกล่าว
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าภาวะเงินฝืดยังไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ เพราะตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบเป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อน และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่ทำให้ราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าปรับตัวลดลง ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าอุปสงค์ในประเทศของไทยยังฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ทำให้ต้องจับตาดูเช่นกันว่าเงินเฟ้อพื้นฐานในระยะข้างหน้าจะลดต่ำลงด้วยหรือไม่ หากเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวแบบรายเดือนติดต่อกัน 2-3 เดือน อาจสะท้อนว่าภาวะเงินฝืดอ่อนๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว
“ในกรณีที่มีสัญญาณเงินฝืดอ่อนๆ มาตรการกระตุ้นการบริโภคอาจมีความจำเป็น แต่ขนาดและปริมาณต้องมีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจ ถ้าไม่ถึงขั้นวิกฤตเราก็ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเหมือนในช่วงวิกฤต” นริศกล่าว
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืด เนื่องจากเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐและฐานที่สูง แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจเช่นกัน เพราะการแถลงภาวะเศรษฐกิจรายเดือนล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หรือ PCI ติดลบจากเดือนก่อนหน้า
“นอกจากฐานที่สูงและมาตรการลดค่าครองชีพ ส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนตุลาคมติดลบอาจมาจากภาวะเศรษฐกิจเองที่อุปสงค์ไม่ได้เร่งตัวแรงเหมือนคาด กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่ค่อยดี การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคท่องเที่ยวและคนชั้นกลางและระดับบน แต่คงยังเร็วเกินไปที่จะกังวลเรื่องเงินฝืด” อมรเทพกล่าว