วันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 เกิดเหตุระทึกที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเตหะรานของประเทศอิหร่าน หลังกลุ่มนักศึกษาติดอาวุธก่อเหตุบุกเข้ายึดสถานทูตและควบคุมตัวชาวอเมริกันอุปทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตรวมทั้งสิ้น 52 คนเป็นตัวประกัน โดยถือเป็นวิกฤตความขัดแย้งทางการทูตครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน
การบุกยึดสถานทูตและจับตัวประกันดังกล่าวเชื่อว่าเกิดจากความโกรธแค้นของกลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุนการปฏิวัติมุสลิม หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ยอมให้อดีตกษัตริย์ ชาห์ ปาห์เลวี หรือพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ซึ่งถูกโค่นล้มอำนาจในปี 1979 ลี้ภัยในแผ่นดินสหรัฐฯ
ขณะที่ จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น เรียกเหตุการณ์จับตัวประกันชาวอเมริกันที่เกิดขึ้นว่าเป็นการ ‘แบล็กเมล’ และตัวประกันทั้งหมดเป็น ‘เหยื่อของการก่อการร้ายและอนาธิปไตยในอิหร่าน’
ทั้งนี้ เหตุการณ์จับตัวประกันเป็นไปอย่างตึงเครียดและยืดเยื้อยาวนานถึง 444 วัน ก่อนที่กลุ่มนักศึกษาอิหร่านจะยอมปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันในวันที่ 20 มกราคม ปี 1981 หลังรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลอิหร่านประสบความสำเร็จในการเจรจาและบรรลุข้อตกลง Algiers Accords ที่มีรัฐบาลแอลจีเรียเป็นตัวกลาง โดยมีการลงนามในประเทศแอลจีเรียเมื่อวันที่ 19 มกราคม 1981
เงื่อนไขสำคัญของข้อตกลงคือ อิหร่านต้องปล่อยตัวประกันทั้งหมดในทันที ขณะที่สหรัฐฯ ต้องยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของอิหร่านมูลค่า 7.9 พันล้านดอลลาร์ และยุติคดีความที่อิหร่านเผชิญในสหรัฐฯ รวมถึงให้คำมั่นว่า ‘นับจากนี้ไปจะเป็นนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของอิหร่านไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งทางการเมืองและการทหาร’
ภาพ: Bettmann / Contributor / Getty Images