‘เศรษฐา’ จ่อใช้แพ็กเกจ EV 3.5 ดึงดูดการลงทุน Tesla อีกครั้ง ระหว่างทริปสหรัฐอเมริกาในการประชุม APEC ปลายเดือน ส.อ.ท. หนุนไทยเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจใหม่สู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะมาตรการยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ถือว่ามาถูกทาง
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยถึงมติบอร์ด EV ที่อนุมัติมาตรการ EV 3.5 ว่า ท่านนายกฯ วางมาตรการที่มาถูกทางแล้ว เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนและกระตุ้นการลงทุนจากค่ายรถ EV ในไทยและรายใหม่ๆ ให้ต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3.0 ที่จะสิ้นสุดปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดมาตรการ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ EV 3.5 แพ็กเกจใหม่ รัฐบาลช่วยจ่ายเงินอุดหนุนเท่าไร รถประเภทไหนบ้าง
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
ทั้งนี้ คาดว่าปี 2567 จะมีค่ายรถทั้งรายใหม่และรายที่เข้ามาตรการ EV 3.0 ขอเข้าโครงการเพิ่มเติมแน่นอน โดยปลายเดือนนี้ รัฐบาลนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมการประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และจะนำมาตรการนี้เสนอเพื่อดึงดูดการลงทุนจากค่ายรถยนต์รายใหญ่อย่าง Tesla ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจลงทุน EV ในไทยอีกครั้ง
ส่วนค่ายรถจีนคาดว่าจะได้รับความสนใจต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่ค่ายยุโรปอาจยังไม่สนใจมากนัก เพราะราคารถสูงกว่าที่กำหนดในมาตรการ คือ ไม่เกิน 2 ล้านบาท
“ค่ายญี่ปุ่นอาจไม่ลงทุนเท่าจีน แต่เชื่อว่าจะลงทุนรถยนต์สันดาปภายในต่อเนื่อง เพราะนายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ความสำคัญกับค่ายญี่ปุ่นให้ใช้ไทยเป็นฐานผลิตสุดท้ายของรถสันดาป ซึ่งล่าสุดบอร์ด EV ได้อนุมัติต่ออายุรถยนต์ Eco Car ระยะ 1 ต่อไปอีก 2 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ ซึ่งในส่วนนี้เศรษฐาระบุว่ามาตรการตรงกับที่ต้องการ” เกรียงไกรกล่าว
ส่วนมาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่ยังไม่มีการพิจารณา โดยที่ประชุมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำรายละเอียด เพื่อให้มาตรการครอบคลุม ดึงดูดการลงทุนมากที่สุด
เศรษฐาประกาศเปิดประตูรับทุนนอกปักหมุดอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทั้งนี้ เศรษฐายังเปิดเผยในงาน Foreign Industrial Club (FIC) 2023: Reforming Thailand ที่จัดโดย ส.อ.ท. และมีภาครัฐ เอกชน สถานทูตประจำประเทศไทย และนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในประเทศไทยเข้าร่วมจำนวนมาก เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ท่ามกลางความท้าทายระดับโลก ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยจำเป็นต้องรีบเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกำหนดทิศทาง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
รวมทั้งจำเป็นต้องส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสร้างความได้เปรียบ โดยบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของโลก
โดยรัฐบาลไทยกำลังเดินหน้ายกระดับภาคเกษตรกรรมไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง การเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและเกิดความยั่งยืน การเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พร้อมปรับยุทธศาสตร์ไทยให้เป็นประตูยุทธศาสตร์ด้านการค้า
“เราพร้อมเปิดรับและร่วมมือกับภาคเอกชนและนักลงทุน ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจใหม่โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานพาหนะไฟฟ้า ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างสรรค์ และบริการที่มีมูลค่าสูง” เศรษฐากล่าว