ภาพยนตร์เป็นหลายสิ่งหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ความบันเทิง การบอกเล่าเรื่องราว การเปิดโปงความเป็นจริง บันทึกความทรงจำ อุทาหรณ์เตือนสติคนดู ฯลฯ
และในกรณีของ Killers of the Flower Moon ผลงานมาสเตอร์พีซเรื่องล่าสุดของ Martin Scorsese ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือแนวสารคดีชื่อเดียวกันของ David Grann ที่ว่าด้วยเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญและชวนให้สลดหดหู่เศร้าหมองที่เกิดขึ้นจริงกับชาวอินเดียนเผ่าโอเซจในรัฐโอคลาโฮมาช่วงทศวรรษ 1920 ถ้าหากใครจะเรียกว่านี่เป็นการสารภาพความผิดบาปก็น่าจะได้เหมือนกัน
เพราะหนังของ Scorsese ไม่เพียงนำคนดูไปร่วมรู้เห็นความละโมบ พฤติการณ์ฉ้อฉล และบ้างก็สุดแสนอำมหิตของเหล่า ‘นักขุดทอง’ ผิวขาวที่หลั่งไหลมาจากภาคตะวันออกช่วงหลังสงครามกลางเมือง น้ำเสียงของคนทำหนังก็ชวนให้รู้สึกและสัมผัสได้ไม่ยากว่าเขารู้สึกอัปยศอดสูต่อความเลวร้ายที่เกิดขึ้น และฉากที่คนทำหนังพาคนดูไปร่วมพิธีกรรมรำลึกและคารวะชนพื้นเมืองนับไม่ถ้วนที่ตกเป็นเหยื่อ ‘การบุกเบิกตะวันตกของคนขาว’ ในช่วงเปิดและปิดเรื่อง ตลอดจน ‘ถ้อยคำไว้อาลัย’ ของใครบางคนในตอนท้าย ก็เจือปนไปด้วยความรู้สึกขอโทษ
หนังสือ Killers of the Flower Moon: The Osage Murders and the Birth of the FBI โดย David Grann
ภาพ: Amazon
แต่ไม่ว่าใครจะมองเห็นหนังของ Scorsese ในแง่มุมใด อย่างหนึ่งที่แน่ๆ มันคือด้านมืดของประวัติศาสตร์การสร้างชาติของอเมริกาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม โชคดีที่ในท้ายที่สุด มันถูกขุดคุ้ยและเปิดโปง และนั่นคือตอนที่ต้องเรียกว่า ‘กรุแตก’ เพราะแง่มุมที่ใครต่อใครนึกไม่ถึงก็คือดีกรีความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ทศวรรษ 1910-1930) เป็นระบบและขบวนการ และตามที่เอ่ยก่อนหน้า ประมาณการกันคร่าวๆ ว่าน่าจะมีคนอินเดียนที่จบชีวิตจากการถูกฆ่าในหลากหลายรูปแบบ (ยิงทิ้งจนถึงวางยาพิษ) นับร้อยๆ คน
ประโยคที่ฟังแล้วน่าตกใจของ David Grann ผู้เขียนหนังสือที่เป็นคนเปิดเผยเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ได้แก่ตอนที่เขาบอกว่า เบื้องต้นเขาคิดว่าตัวเองกำลังสืบหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุอุกอาจที่เกิดขึ้น แต่ยิ่งสาวลึกลงไปเรื่อยๆ คำถามก็เปลี่ยนจาก ‘มีใครบ้างที่เกี่ยวข้อง’ กลายเป็น ‘มีใครบ้าง (วะ) ที่ไม่เกี่ยวข้อง’ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม
ภาพ: Paramount Pictures
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง ต้นสายปลายเหตุของ Killers of the Flower Moon โยงกลับไปเมื่อครั้งที่คนอินเดียนพื้นเมือง ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นเจ้าของประเทศตัวจริง ถูกคนขาวไล่ที่อยู่อาศัยดั้งเดิมและกวาดต้อนไปอยู่ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งถูกเรียกว่าเขตสงวนของชาวอินเดียน วันดีคืนดี พื้นที่ไร้มูลค่าเหล่านั้นกลับเก็บกักน้ำมันดิบมหาศาล และนั่นคือตอนที่เงินทองไหลมาเทมา อันส่งผลให้ชาวอินเดียนเผ่าโอเซจกลายเป็นกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าร่ำรวยที่สุดในโลก
เทียบบัญญัติไตรยางศ์ง่ายๆ ถ้าหากคนขาวฐานะดีมีรถยนต์หนึ่งคันในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เศรษฐีชาวโอเซจก็จะมีรถเป็นสิบคัน หรือกระทั่งเครื่องบินส่วนตัว นั่นคือตอนที่คนขาวพากันมาญาติดีด้วยทุกรูปแบบ และสิ่งที่ติดตามมาก็คือเหตุฆาตกรรมและความตายก่อนวัยอันควรของเหล่าเศรษฐีป้ายแดงที่กลายเป็นปริศนา ซึ่งจากที่หนังของ Scorsese เกริ่นให้คนดูรับรู้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่เคยเข้าไปสอบสวนการตายที่น่าฉงนสนเท่ห์ด้วยประการทั้งปวง
ภาพ: Paramount Pictures
ใครที่ได้อ่านหนังสือของ Grann และดูหนังของ Scorsese คงจะมองเห็นได้ชัดแจ้งว่ามุมมองในการเล่าไม่เหมือนกัน ด้วยความที่ฉบับหนังสือเป็น Non-fiction ลักษณะการนำเสนอจึงเป็นเหมือนการนำรูปคดีมาถ่ายทอดในลักษณะพรรณนาโวหาร และคนอ่านถูกย้ำเตือนตลอดเวลาว่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริงด้วยการแทรกรูปภาพของตัวบุคคลจริงและเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ข้อที่ควรระบุเพิ่มเติมก็คือท่อนสร้อยของชื่อหนังสือ อันได้แก่ The Osage Murders and the Birth of the FBI ก็บอกโต้งๆ ว่า การฆ่าแกงครั้งมโหฬารนี้มีส่วนสถาปนาหน่วยสอบสวนกลางที่ใครๆ ก็รู้จักในชื่อ FBI
หนังของ Scorsese เน้นหนักที่ความสัมพันธ์ระหว่าง Ernest Burkhart (Leonardo DiCaprio) หนุ่มผิวขาวนักแสวงโชค กับ Mollie Burkhart (Lily Gladstone ในบทบาทที่น่าจดจำ) หญิงสาวชาวโอเซจผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในทายาทผลประโยชน์อันมั่งคั่ง ข้อที่ควรระบุอย่างทันท่วงทีก็คือ Ernest เป็นหลานชายของ William King Hale (Robert De Niro) นักธุรกิจที่กว้างขวางและได้รับการนับหน้าถือตาของชุมชน และขณะที่เบื้องหน้า เขาแสดงออกว่าเป็นพรรคพวกเดียวกับชาวโอเซจ พูดภาษาพื้นเมืองได้ และเข้าร่วมในพิธีกรรมของคนเหล่านั้นตลอดเวลา แต่บทสนทนาลับหลังระหว่างเขากับ Ernest ก็เผยให้คนดูได้เห็นธาตุแท้ของตัวละคร ตลกร้ายสุดๆ ก็คือ พวกเขาไม่ใช่คนขาวกลุ่มเดียวที่รุมทึ้งและฉกฉวยประโยชน์จากเหยื่อเคราะห์ร้ายที่น่าเวทนา และข้อมูลที่หนังระบุว่าบรรดาพี่สาวน้องสาวของ Mollie ล้วนแต่งงานกับคนขาว (ที่หวังตกถังข้าวสาร) ก็ตอกย้ำถึงความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น
ภาพ: Paramount Pictures
แต่ก็นั่นแหละ ฉากที่หนังสาธยายให้เห็นพฤติกรรมหาเศษหาเลยจากคนอินเดียนของคนขาวจนหยดสุดท้าย ได้แก่ตอนที่ Ernest พระเอกของเรามาขอให้สัปเหร่อผิวขาวละเว้นการปลดทรัพย์ของน้องเมียชาวอินเดียนของเขาสักราย (ซึ่งดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติลับหลังเจ้าภาพ) ก่อนพบว่าหมอนั่นชาร์จค่าโลงศพแบบขูดเลือดซิบๆ และในทันทีที่ความหน้าเลือดของเขาถูกทักท้วง ใครคนนั้นก็ตอกกลับราวๆ ว่า ‘นี่ไม่ใช่เงินของเอ็ง’ และ ‘ข้าซึ่งทำมาหากินด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานก็สมควรเก็บเกี่ยวดอกผลเหมือนกับที่พระคัมภีร์บอกไว้’ พร้อมกับยิงคำถามที่ทำให้พระเอกพูดไม่ออก ‘ครั้งสุดท้ายที่เอ็งเห็นพวกโอเซจทำมาหากินคือตอนไหนวะ’ ซึ่งไม่มากไม่น้อย มันบอกโดยอ้อมถึงทัศนคติของคนขาวต่อชาวอินเดียน ข้อสำคัญ เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองทำอะไรผิด เพราะถ้อยคำในไบเบิลก็ให้อนุญาตไว้แล้ว
ภาพ: Paramount Pictures
ในทำนองเดียวกับหนังแทบทุกเรื่องของ Scorsese ก็ว่าได้ที่พล็อตไม่ใช่เสาหลักเพียงหนึ่งเดียว หากได้แก่การพาคนดูไปสำรวจบุคลิกตัวละคร หรือที่เรียกว่า Character Study ตัวละครที่อยู่ใน ‘ระยะชัด’ ในที่นี้มีด้วยกันสามคน หนึ่งก็คือ William Hale ผู้ซึ่งเจตนารมณ์อันเปล่าเปลือยล่อนจ้อนถูกเปิดโปงตั้งแต่ชั่วโมงแรก หรือว่าไปแล้ว Hale ก็เป็นแบบฉบับของนักการเมืองที่ด้านหนึ่งสร้างฐานเสียงให้กับตัวเองในฐานะ ‘สหายผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีต่อชาวอินเดียน’
แต่อีกด้านหนึ่งก็ดำเนินแผนสวาปามผลประโยชน์ของชนกลุ่มนี้อย่างเงียบๆ ในลักษณะไม่ต่างจากผีดิบดูดเลือด และด้วยวิธีการสร้างคาแรกเตอร์ที่มีแง่มุมหลากหลายซ้อนทับในคนเดียวกัน บวกกับอานิสงส์จากการแสดงที่จัดจ้านของ Robert De Niro บุคลิกที่ขัดแย้งราวฟ้ากับเหว นรกกับสวรรค์ คนบาปกับนักบุญ ก็กลับหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างกลมกลืน
ข้อสำคัญ William Hale ไม่เหมือนตัวร้ายในหนังนับไม่ถ้วนที่พอถึงม้วนสุดท้าย พวกเขามักสูญเสียการสำรวมและเป็นปีศาจร้ายในชั่วพริบตา ทว่าจากที่หนังบอกเล่า เขาก็ยังคงสวมบทมิตรที่แนบแน่นของชาวโอเซจไม่เสื่อมคลาย และทิ้งคำถามในห้วงคำนึงคนดูตลอดกาลว่า ความปรารถนาดีเหล่านั้นมีสัดส่วนของความจริงแท้แค่ไหน
ภาพ: Paramount Pictures
ตัวละครที่หยั่งตื้นลึกได้ง่ายกว่าก็คือ Ernest ผู้ซึ่งในเบื้องต้น เขาก็เป็นเพียงแค่มือไม้ของ Hale และแผนการของเขาตามที่ผู้เป็นลุงมอบหมายก็คือหาทางทำให้ตัวเขาในฐานะคู่สมรสของ Mollie เป็นผู้รับมรดกบ่อน้ำมันแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็นั่นแหละ สิ่งที่เรียกว่า Dilemma หรือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของตัวละครก็คือการที่เจ้าตัวตระหนักได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ Mollie เป็นเรื่องซีเรียสจริงจัง และตรงไหนสักแห่งแถวนี้ที่ห้วงคำนึงของตัวละครกลายเป็นสมรภูมิสู้รบที่ดุเดือดเลือดพล่านระหว่างความรัก ความภักดี และการทรยศหักบุญผู้มีพระคุณ และสถานการณ์สำหรับตัว Ernest ก็เหมือนเดินอยู่บนเส้นลวดที่การทรงตัวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
The Heiress (1949)
ภาพ: IMDb
แน่นอนว่าคนที่น่าสงสารเห็นใจที่สุดก็คือ Mollie ผู้ซึ่งตกที่นั่งเดียวกับนางเอกจากหนังขึ้นหิ้งของ William Wyler เรื่อง The Heiress (1949) ซึ่ง Scorsese บอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจ หรืออันที่จริง หนังทั้งสองเรื่องบอกเล่าเรื่องเดียวกัน ทายาทมรดกมหาศาลตกหลุมรักชายหนุ่มที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเขาอาจจะหวังเพียงแค่ฮุบสมบัติของเธอ
และไหนๆ ก็ไหนๆ น่าสังเกตว่ารูปโฉมโนมพรรณของ Lily Gladstone ก็ถูกออกแบบให้ดูคล้ายคลึงกับ Olivia de Havilland นางเอกหนังของ Wyler มากๆ และไม่มีข้อสงสัยว่าสำหรับหญิงสาวทั้งสองคน ไม่มีอะไรน่าเจ็บปวดขื่นขมเท่ากับการได้พบว่าคนที่อยู่ใกล้กับหัวใจของพวกหล่อนมากที่สุดกลับเผยด้านที่ไม่เคยได้พบเห็น ไม่เคยได้รับรู้มาก่อนอย่างน่าตกใจ
ภาพ: Paramount Pictures
พูดถึงความยาวของหนังสักหน่อย เห็นใครๆ พูดถึงความเป็นหนังสามชั่วโมงครึ่งของ Killers of the Flower Moon ซึ่งก็ต้องบอกว่ามันกินเวลาฉายนานกว่าปกติจริงๆ แต่ถ้าหากจะเปรียบหนังเป็นเหมือนรูปเขียน ขนาดเล็กหรือใหญ่ของรูปเขียนนั้นๆ ล้วนสัมพันธ์กับสิ่งที่ศิลปินต้องการถ่ายทอด โดยอัตโนมัติ ความสั้นหรือยาวของหนังเรื่องหนึ่งก็เช่นกัน Killers of the Flower Moon เป็นหนังที่ต้องอาศัยผืนผ้าใบที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติจริงๆ เพราะสิ่งที่บอกเล่าไม่ได้เป็นแค่โศกนาฏกรรมส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งของชนเผ่าโอเซจเพียงลำพัง
แต่ก็อย่างที่เอ่ยข้างต้น หนังของ Scorsese วาดให้พวกเราได้เห็นว่า อเมริกาก่อร่างสร้างประเทศจากการเอารัดเอาเปรียบ ความโลภ ความฉ้อฉล การทรยศหักหลัง การเหยียดเชื้อชาติและสีผิวของคนขาวอย่างไร (และยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันอย่างไร) ซึ่งนั่นทำให้ความกว้างและลึกเป็นเรื่องจำเป็น
ขณะที่ในแง่ของจังหวะจะโคนในการบอกเล่า มันก็มีทั้งช้าและเร็วตามตรรกะของมัน บางช่วงก็จู่โจมแบบไม่ทันตั้งตัว หลายช่วงก็ให้ความรู้สึกงดงามราวบทกวี และวิธีการที่ Scorsese ใช้ประโยชน์จากเครื่องไม้เครื่องมือทางด้านภาพยนตร์ในการสื่อสารสิ่งละอันพันละน้อย ก็คงไม่ต้องหยิบยกมาสรรเสริญเยินยอว่ามันล้ำเลิศเพียงใด ยกเว้นที่ต้องพูดถึงเป็นพิเศษก็คือดนตรีประกอบของ Robbie Robertson ผู้ล่วงลับที่ฟังเหมือนเสียงลมหวีดหวิวในทุ่งกว้าง และรู้สึกได้ถึงอันตรายที่แอบซ่อน น่าเชื่อว่าในระยะยาว มันจะกลายเป็นตราประทับของหนังเหมือนกับที่งานของ Bernard Herrmann เป็นสุ้มเสียงที่คนนึกถึงเวลาใครพูดถึง Taxi Driver (1976)
ภาพ: Paramount Pictures
โดยรวมแล้ว เกือบสามชั่วโมงครึ่งของหนังก็ถือเป็นกรอบเวลาที่สมเหตุสมผลในตัวเอง ข้อสำคัญ มันเปิดโอกาสให้คนดูได้ครุ่นคิดพินิจถึงเรื่องวิปโยคอันเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นอย่างตกผลึกและหนักแน่น นั่นทำให้เมื่อนึกย้อนกลับไปถึงประโยคเปิดของข้อเขียนนี้ที่บอกว่าภาพยนตร์เป็นหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน อีกแง่หนึ่งของ Killers of the Flower Moon ก็คือการที่มันสามารถเป็นสติสัมปชัญญะ การกระตุ้นเตือนสามัญสำนึกและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนในสังคม ซึ่งบางทีนี่อาจเป็นธรรมะขั้นปรมัตถ์ของ ‘ภาพยนตร์’ ในปทานุกรมของหนึ่งในคนทำหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
Killers of the Flower Moon (2023)
กำกับ: Martin Scorsese
ผู้แสดง: Leonardo DiCaprio, Robert De Niro, Lily Gladstone