วันนี้ (24 ตุลาคม) รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหารือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับปัญหาภาวะทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และพะเยา โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เห็นว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง และยังคงมีข้อจำกัดและอุปสรรคที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนี้
- ให้ศึกษาปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสถานการณ์ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และดำเนินการขจัดอุปสรรคต่างๆ
- ทบทวนนโยบายห้ามเผาเด็ดขาด คำนึงถึงบริบทเชิงพื้นที่และความจำเป็นของประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
- พิจารณาจัดทำตัวชี้วัดที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงแก้ไขการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศ
โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว จากนั้นจึงสรุปผลพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป
โดยที่ประชุม ครม. ยังรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2566 ณ สปป.ลาว โดยปลัด ทส. ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลพิษ โดยจะร่วมต่อสู้กับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2065
โดยที่ประชุมได้มีการรับรองและรับทราบ เช่น รับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนของไทย จำนวน 2 แห่ง (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติภูกระดึงในจังหวัดเลย) รับรองร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรับทราบผลสรุปความสำเร็จความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ