วันนี้ (24 ตุลาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ที่ประเทศอิสราเอลและปัญหาแรงงานไทยว่า เป็นเรื่องที่ทำให้ตนเองสะเทือนใจเป็นอย่างมาก ทำไมรัฐบาลเราถึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวให้เร็วที่สุด เพื่อซ่อมและสร้างอนาคตให้กับประชาชน ปัจจุบันแรงงานไทย 20,000-30,000 คนที่อยู่ต่างแดนต้องเสี่ยงชีวิต เนื่องจากมีคนเอาเงินหลักหมื่นหลักแสนมาล่อ
“ผมได้รับคำถามกลับมาว่านายกรัฐมนตรีไม่เข้าใจว่าเงิน 50,000 บาท 100,000 บาท ให้อยู่ต่อ หรือเสี่ยงชีวิตมีความสำคัญกับชีวิตเขาขนาดไหน เรื่องนี้ผมตระหนักดี” เศรษฐากล่าว
เศรษฐากล่าวต่อว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญ นโยบายการเงินการคลังที่ดีไม่ใช่การรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเดียว แต่ต้องตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดี ไม่ใช่เอาชีวิตไปเสี่ยงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน ซึ่งวันนี้ได้สั่งงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานช่วยดูแลแรงงานไทยที่กลับมาแล้ว ซึ่งต้องดูแลให้ดี เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกท่านตระหนักดี
พร้อมทั้งสั่งการให้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยดูแรงงานเกษตรที่เป็นแรงงานคุณภาพที่กลับมาจากอิสราเอลด้วย โดยเฉพาะเรื่องผลตอบแทน ส่วนการรายงานจำนวนตัวประกัน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตยังเท่าเดิม เราเอาคนกลับเข้ามาที่ประเทศไทยวันละ 600-800 คน และมีผู้แสดงเจตจำนงกลับไทยมากขึ้น
ส่วนที่กลุ่มฮามาสบอกว่าจะปล่อยตัวประกันได้รับรายงานแล้วหรือไม่ เศรษฐาระบุว่ายังไม่ได้รับรายงาน หวังว่าจะมีคนไทยอยู่ในนั้นบ้าง เพราะเรายังไม่ทราบชะตากรรมของคนไทย 19 ชีวิต
ขณะที่ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าถึงการปล่อยตัวคนไทยว่า มีการประสานงานมาโดยตลอด ขณะนี้อยู่ในช่วงการเจรจา มีตัวประกันที่ถูกจับกุมทั้งหมดกว่า 200 ชีวิต และมีคนไทยอยู่ 19 คน เราคาดหวังว่าจะมีการปล่อยตัวประกันคนไทยในเร็ววันนี้ แต่จากสถานการณ์ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เราไม่แน่ใจว่าขณะนี้ตัวประกันคนไทยอยู่ที่ใด กระทรวงการต่างประเทศมีความเป็นห่วงอย่างมาก จึงมีการพูดคุยกับผู้ที่ประสานงานให้เร่งดำเนินการปล่อยตัวประกันให้เร็วที่สุด
ส่วนแนวโน้มภายหลังจากกลุ่มฮามาสแจ้งว่าจะปล่อยตัวประกัน มีตัวประกันจากคนไทยด้วยหรือไม่ ปานปรีย์กล่าวว่า คาดว่าน่าจะมีรับประกันคนไทยด้วย จากการพูดคุยนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ โดยทางกลุ่มฮามาสมองว่า คนไทยไม่ได้มีความขัดแย้งกับทั้งสองฝ่าย แรงงานไทยเข้าไปเพื่อทำงานทำมาหากิน โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอิสราเอล โดยไม่ได้มองว่าคนไทยเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มฮามาส
“เราคาดหวังสูงสุดว่าจะได้ปล่อยตัวประกันคนไทยทั้งหมดในเร็ววัน” ปานปรีย์กล่าว
ปานปรีย์ยังกล่าวอีกว่า การปล่อยตัวครั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึงข้อแลกเปลี่ยน แต่เป็นการพูดคุยในระดับที่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัว และทางกลุ่มฮามาสเองยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าจะมีการปล่อยตัว โดยตนเองได้มีการเจรจาความปลอดภัยของตัวประกันไทยมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ที่สถานการณ์เริ่มเกิดขึ้น กระทรวงการต่างประเทศได้มีการพูดคุยกับทั้งสองฝ่ายให้ดูแลตัวประกันคนไทยให้ดีที่สุด
ส่วนความปลอดภัยในประเทศอิสราเอลนั้น อยากเรียกร้องให้แรงงานไทยที่อยู่ในอิสราเอลกลับประเทศไทย และพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับคนไทย ส่วนฝั่งฮามาสนั้นขอให้ดูแลตัวประกันที่ถูกจับไป ให้ได้รับความปลอดภัย อยากให้ไปอยู่ในที่ที่มีการสู้รบ เพราะมีความเป็นห่วงว่าคนไทยจะได้รับอันตราย
ส่วนความคืบหน้าการพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานไทยที่เสียชีวิตนั้น ปานปรีย์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตบางส่วนได้กลับเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว ส่วนการพิสูจน์อัตลักษณ์นั้นค่อนข้างทำได้ยาก พูดตามตรงว่าแต่ละศพนั้นเริ่มสลายและแปลงสภาพ ในส่วนนี้เราจะต้องมีการพิสูจน์ด้วยดีเอ็นเอ โดยเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยอยู่ในระหว่างกำลังเร่งดำเนินการขอดีเอ็นเอจากญาติพี่น้อง ส่วนที่มีการรายงานว่าจะมีการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศไทยอีกนั้น ปานปรีย์กล่าวว่า เช้านี้ยังไม่ได้รับรายงาน
ส่วนเรื่องการส่งแรงงานไทยกลับประเทศไทยนั้น ปานปรีย์กล่าวว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้แรงงานไทยกลับประเทศไทยให้มากที่สุดและเร็วที่สุด แต่ยังมีแรงงานไทยบางคนที่ไม่ยอมกลับ ด้วยหลายๆ เหตุผล แต่ตนเองมองว่า แรงงานไทยควรรีบกลับประเทศไทย แต่หากไม่กลับแล้วได้รับอันตรายขึ้นมา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
“เรื่องชีวิตเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เขาต้องนึกถึงญาติพี่น้องที่อยู่ที่ประเทศไทยที่อยากจะกลับมา ให้ปลอดภัย ถ้ายังอยู่ที่อิสราเอลต่อก็อันตราย จึงอยากวิงวอนให้ทุกคนกลับประเทศไทยก่อน โดยรัฐบาลพร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หลายกระทรวงพร้อมให้การสนับสนุนเรื่องที่แรงงานยังขาดอยู่” ปานปรีย์กล่าว
ขณะที่ จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงช่องทางในการช่วยเหลือตัวประกันคนไทยว่ามีการเจรจาในทุกวัน โดยใช้ช่องทางทางการทูตและองค์กรอิสระในการกระชับความสัมพันธ์ ส่วนแนวโน้มในการปล่อยตัวประกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศมีการติดต่อไปในทุกช่องทางโดยได้รับการยืนยันจากกลุ่มฮามาสว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายตัวประกัน แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าตัวประกันภัยได้รับความปลอดภัยอยู่หรือไม่