ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 ได้มีมติให้ประกาศยกย่อง พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ได้ผลักดันให้เสนอชื่อพุทธทาสภิกขุต่อยูเนสโก เนื่องจากการอุทิศตนแทบตลอดทั้งชีวิตเพื่อสั่งสอนธรรมะ โดยมีกุศลเจตนาให้สังคมไทยและสังคมโลกประยุกต์หลักธรรมไปใช้ ทั้งในส่วนบุคคลและสังคม เพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติธรรม ยุติธรรม และเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน
ขณะที่หลักเกณฑ์คัดเลือกของยูเนสโกนั้น บุคคลที่จะได้รับการยกย่องต้องมีผลงานที่เป็นแบบอย่างอันดีเลิศ และแสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
พระธรรมโกศาจารย์ หรือพุทธทาส นามเดิมคือ เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี ณ วัดอุบล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2469 โดยมีพระครูโสภณเจตสิการามเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า ‘อินทปัญโญ’ ก่อนจะเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ และศึกษาธรรมต่อที่วัดปทุมคงคา จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
อย่างไรก็ตาม พุทธทาสภิกขุพบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนบิดเบือนไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาพุทธได้ จึงตัดสินใจกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา พร้อมปวารณาตนเองเป็นพุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด โดยอุทิศตนเพื่องานพระศาสนาและทำงานมุ่งช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พบสันติสุขตามปณิธานที่ตั้งไว้ และได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นที่วัดตระพังจิก ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา ในปี 2475 ให้ชื่อว่า ‘สวนโมกขพลาราม’ แปลว่า สวนป่าเป็นกำลังหลุดพ้นจากทุกข์ แต่ต่อมาในปี 2487 ได้ย้ายสวนโมกขพลารามไปยังสถานที่แห่งใหม่คือวัดธารน้ำไหลในปัจจุบัน
ทั้งนี้ พุทธทาสภิกขุมีผลงานทางธรรมมากมาย เช่น หนังสือและเทปบันทึกเสียง และได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทำให้ได้รับการนับถือยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งได้รับการยอมรับจากชาวโลกว่าเป็นสมณปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีบทบาทอย่างสูงต่อพุทธศาสนา