THE STANDARD ชวนย้อนมอง ‘เมือง’ จุดกำเนิด การดำเนินชีวิต แหล่งเรียนรู้ สถานที่สร้างฝันของคนทุกวัย ผ่านความเห็นของ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
เรียนรู้อีกแล้ว เกิดเป็นมนุษย์ทำไมต้องเหนื่อยขนาดนี้ อะไรๆ ก็ต้องเรียนรู้ รถติด ฝนตกกลับบ้านดึก เราจะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้ได้อีก?
เมื่อไรกันที่เรารู้สึกหมดไฟและมองว่า ‘การเรียนรู้’ คือความเหนื่อยหน่าย นั่นเป็นเพราะการพัฒนาตัวเองและการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้มีราคาที่ต้องจ่าย ทั้งเวลา สถานที่ สภาพแวดล้อม ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนต่อต้านแนวคิดดังกล่าว และมองว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งไม่จำเป็น
จะดีกว่าไหม ถ้า…เราได้อาศัยอยู่ในเมืองที่มีแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย ได้ความรู้ที่นำไปใช้ต่อยอดได้จริง สอดคล้องกับวิถีชีวิตจนเป็นเนื้อเดียวของคนทุกวัย หากเป็นแบบนั้นเราคงใช้ทุกวินาทีอย่างคุ้มค่าเพื่อเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนรู้คือต้นทุนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเรียนรู้มีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพให้มนุษย์ขยายความสามารถของตัวเอง แต่นอกจากแหล่งเรียนรู้ที่เป็นทางการ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ฯลฯ เรายังคงโหยหาพื้นที่การเรียนรู้ที่คล่องตัวและเหมาะสมกับชีวิตมากกว่านั้น
ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คำว่า ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ หรือ ‘Learning City’ จึงกลายเป็นวาระสำคัญของหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้อย่างเป็นทางการ
หลายเมืองจากหลายมุมโลกกำลังผลักดันและสร้างสรรค์แนวคิดดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ โดยดึงเอาองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์และสิ่งที่บ่งบอกตัวตนในพื้นที่มาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนทุกวัย
เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่พยายามเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการสร้าง Learning City ทว่ากลับยังมีอุปสรรคหรือเงื่อนไขหลายประการที่ทำให้การเดินไปข้างหน้าหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘วาระการศึกษา’ ของไทยที่ยังพบความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการคืนและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงการวิ่งตามคลื่นพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงไม่ทัน เหตุผลทั้งหมดล้วนเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ยังไม่บรรลุเป้าหมายสักที
เมืองคือห้องเรียนขนาดใหญ่
‘เมืองที่ดี’ ไม่เพียงช่วยให้มนุษย์อยู่รอด แต่อยู่ได้อย่างสุขกายสบายใจ
‘เมืองที่น่าอยู่’ ทำให้มนุษย์มีแรงในการไขว่คว้าความฝันอย่างสุดความสามารถ
ตรงข้ามกัน ‘เมืองที่ไม่น่าอยู่’ กลับดับความฝัน ความหวัง และพลังของมนุษย์ให้ลดน้อยถอยลงไป
แล้วเราจะสร้างเมืองที่ช่วยสร้างความฝันให้มนุษย์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร?
เมืองคือห้องเรียนขนาดใหญ่ ขนาดพื้นดินคูณผืนฟ้าทอดยาวออกไปไม่รู้จบ ที่บรรจุต้นทุนและพลังงานไว้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของมนุษย์ ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และแหล่งความรู้หน่วยเล็กๆ อีกมากมาย แต่เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างเมืองเรียนรู้ให้พลเมืองทุกคนสามารถอ้าแขนรับผลประโยชน์จากห้องเรียนแห่งนี้ จนนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างความฝันให้เป็นจริง
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพการสร้างเครือข่าย Learning City ให้นิยามว่าเมืองแห่งการเรียนรู้คือเมืองที่น่าอยู่
“เมืองน่าอยู่ คือเมืองฉลาดที่มีโอกาสสูง ความเสี่ยงต่ำ เมืองที่เราสามารถมีเสรีภาพในการใช้เวลา เมืองที่อยู่แล้วอายุยืน ไม่เจ็บไม่ป่วย เป็นเมืองที่มีแหล่งเรียนรู้เอื้อต่อทุกอาชีพ ทุกอายุ ทุกรายได้ และเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในหลายๆ มิติ”
ดังนั้นหัวใจในการทำงานของ บพท. คือการปักธงสร้างการรับรู้ว่าเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ โดยพยายามสร้างนวัตกรรมพัฒนาบุคลากรผ่านงานวิจัย และสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อหารือและทำงานร่วม ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญคือการสร้างกลไกความร่วมมือระดับภาครัฐและท้องถิ่น ผ่านการสร้างเครือข่ายเพื่อทำงานร่วมกัน และสร้างพื้นที่ในการทำงานเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถประสานและทำงานร่วมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่สำคัญยังต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมในการช่วยกระจายอำนาจคืนให้หน่วยงานท้องถิ่น ในการออกแบบนโยบายและวางแผนของ Learning City ในแบบฉบับของตัวเอง โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุน โดยอาศัยศักยภาพของหลายภาคีในการลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ (Local Study for Learning City) และสนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นการขยายขีดจำกัดความสามารถในการจัดการเรียนรู้และนวัตกรรมในการออกแบบเมือง
นโยบายจุดประกายจากความเจ็บปวด
“การสร้างนิเวศทางการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีใครเพียงคนเดียวที่จะเสกขึ้นได้ชั่วข้ามคืน”
แน่นอนว่าเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นความฝันในอุดมคติของทุกคน รวมทั้งของหลายประเทศ แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามผลักดันด้วยการสร้างเมืองให้เป็น Low Carbon City, Smart City, Go Park หรือกระทั่งเมืองน่าอยู่มาโดยตลอด แต่ใดๆ ก็ตาม ไม่สามารถจุดประกายให้ความฝันเรื่อง ‘เมือง’ กลายเป็นจริงได้ อาจเป็นเพราะการขาดความเข้าใจต่อผู้ใช้ประโยชน์ของเมือง
หากสำรวจความเจ็บปวด (Pain Point) ของคนแต่ละช่วงวัยผ่านการเรียนรู้ พบว่ามีความน่าสนใจที่ต่างกัน ดร.ปุ่นอธิบายว่า ความเจ็บปวดของคนแต่ละวัยเสมือนเป็น Driving Force หรือแรงขับที่สำคัญในการช่วยให้เรามองเห็นและสร้างความเข้าใจร่วม นี่คือจุดเริ่มต้นที่ควรจะเป็น ก่อนการก่อร่างสร้างนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเมือง
วัยเด็ก: เรียนไปไม่ได้ใช้
“สิ่งที่แท้จริงกว่าการศึกษาคือการเรียนรู้ แต่เราจะเรียนอย่างไรให้มันกินได้?”
ดร.ปุ่นกล่าวว่า ต้นตอของอุปสรรคในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้คือการศึกษา เพราะการตื่นรู้ต่อการศึกษาเป็นฐานรากในการขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ แต่หลักสูตรการศึกษากลับไม่ทันโลกท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เหลื่อมล้ำ เด็กรวยมีโอกาสกว่าเด็กยากจน ไม่อาจนำพาให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม
แนวคิดของ Learning City จึงเข้ามาเขย่าภาพการกำหนดเป้าหมายใหม่ๆ ทางการเรียนรู้ที่ไม่ยึดติดตามตำรา ผ่านการส่งเสริมให้ท้องถิ่นและผู้เรียนเป็นผู้ออกแบบหลักสูตรด้วยตัวเอง เกิดเป็นนิเวศการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่จริง เป็นภาพเมืองที่เด็กๆ เข้าไปอยู่แล้วสามารถเลือกเรียนรู้อะไรก็ได้อย่างหลากหลายและมีความสุข เรียนจนตกผลึกจนเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งกลับคืนสู่ตนเองและชุมชน
วัยทำงาน: สายตัวแทบขาด จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้
“งานวิจัยบอกว่าทรัพย์สินที่สำคัญมากกว่าเงินคือเวลา แล้วคนทำงานกว่าจะถึงบ้านกี่โมง 4-5 ทุ่ม? จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ”
อีกหนึ่งดัชนีที่ชี้วัดว่าเมืองของเราน่าอยู่หรือไม่ นั่นคือเวลา เมืองที่น่าอยู่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดขึ้นได้จากเวลาที่มนุษย์เหลือมากพอจนทำให้เรามีเสรีภาพในการใช้เวลาไปกับการเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆ
Learning City จึงไม่ใช่เรื่องของวัยเด็กเพียงอย่างเดียว ความตั้งใจของมันคือการเชื่อมโยงไปถึงทุกคนไม่เว้นวัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่เจอกับความเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วและหนัก เรื่องจริงวันนี้ที่เจอคือทักษะบางอย่างที่เรียนมา เอามาใช้ไม่ได้จริงเมื่อทำงาน แถมทำงานไปแล้ว ประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญเก่ากลับถูกเขย่าแล้วเททิ้งทุกๆ 3-5 ปี ดังนั้นความสามารถในการ Upskill / Reskill หรือการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่เรามีให้ดีกว่าเดิม และการสร้างทักษะใหม่ขึ้นมาจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อวัยทำงาน เพื่อให้เกิดเป็น Skill Set ใหม่ๆ และตัวช่วยสำคัญในการนี้ คือแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เข้าถึงได้ง่าย และสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนทำงาน
ผู้สูงอายุ: ยิ่งแก่ ยิ่งเจ็บ ยิ่งจน
“หลีกเลี่ยงเมืองที่ป่วยและชรา Learning City จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิด Lifelong Learner และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่ว่าใครก็ควรเข้าถึงได้”
ดร.ปุ่นให้ข้อมูลว่าความท้าทายหนึ่งที่ไม่ว่าเมืองใดจากทั่วทุกมุมโลกต้องเผชิญ คือเมืองที่มีผู้สูงอายุ เจ็บ ป่วย และฐานะยากจน
ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ คือเมืองที่มุ่งสร้างสังคมให้การเรียนรู้เป็นเรื่องพื้นฐาน การเรียนรู้ไม่ได้แปลว่าจะต้องไปนั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยม แต่เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เมืองไม่เจ็บไม่ป่วยและมีอายุยืน โดยแหล่งเรียนรู้จะต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานทุกวัย และผู้สูงอายุคือหนึ่งในนั้น เช่น การเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้เจอกับคนหนุ่มสาวผ่านโครงการที่หยิบเอาประเพณีในชุมชนหรือภูมิปัญญาดั้งเดิมมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างคนหลายวัย สิ่งนี้จะเติมความหมายและคุณค่าให้กับวัยเกษียณได้อย่างดียิ่ง
ฮีโร่คนเดียว สร้างทั้งเมืองเองไม่ได้
ปัจจุบันมีเมืองกว่า 292 เมืองจาก 76 ประเทศทั่วโลกได้เข้าร่วมเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) เพื่อยกย่องความพยายามส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในระดับท้องถิ่นให้เป็นจริงสำหรับทุกคน โดยมี 7 เมืองจากประเทศไทยได้รับเลือก ได้แก่ จังหวัดพะเยา, สุโขทัย, ภูเก็ต, ฉะเชิงเทรา, เชียงใหม่, เชียงราย และเทศบาลนครหาดใหญ่
นี่คือบันไดก้าวแรกที่เดินไปสู่ความสำเร็จในการสร้าง Learning City
ดร.ปุ่นชวนสะท้อนเนื้อหาสาระสำคัญของการสร้างนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ไปยังภาพการเมืองใหญ่ว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากการลงมือทำให้สำเร็จตามความถนัดของหน่วยงานหลายฝ่าย โดยในส่วนของ บพท. พยายามใช้งานวิจัยขยายผลเพื่อระดมความคิดเห็นต่างๆ สังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัย นำเสนอไปสู่นโยบายที่ปฏิบัติจริงได้
ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านโครงการเชิงวิจัยช่วยเหลือเด็กให้หลุดพ้นจากวิกฤตความยากจน เพิ่มโอกาสให้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น ที่สำคัญคือยังช่วยทำให้ครอบครัวของเด็กๆ สามารถยืนหยัดและพัฒนาตัวเองได้ สอดคล้องกับเจตนารมณ์เมืองแห่งการเรียนรู้ที่สร้างโอกาส และทำให้ทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียม
นอกจากนี้ กสศ. ยังเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือการส่งเสริมให้ท้องถิ่นสร้างระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้อย่างเสมอภาคและตลอดชีวิตด้วยตัวเอง
ในภารกิจสร้างเมืองเพื่อการเรียนรู้ อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญคือ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่มีเป้าหมายและหน้าที่ในการเป็นผู้ส่งมอบความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ในการกระจายอำนาจคืนให้กับท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านการจัดโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่
ทั้งหมดทั้งมวล ดร.ปุ่นทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกฝ่ายมอง Learning City เป็นโจทย์ใหญ่ที่มีร่วมกัน และเราจะร่วมกันสร้างเมืองผ่านหัวใจสำคัญที่เป็นรูปธรรม 6 ข้อ ดังนี้
- การร่วมมือ ระดมความคิด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างหน่วยงาน
- กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายที่สอดคล้องไปกับบริบทพื้นที่
- ส่งเสริมให้มี ‘นักจัดการเรียนรู้’ ในเมือง
- จัดตั้งกองทุนเพื่อดำเนินงาน
- วางกลยุทธ์การจัดการศึกษา
- สนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างเมือง
“แต่ละหน่วยก็มีภารกิจต่อการเรียนรู้ที่แตกต่าง แต่เชื่ออย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกันไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม คือการสร้าง Learning City ให้เป็นจริงและจับต้องได้ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างวัฒนธรรม สร้างการท่องเที่ยว สร้างรายได้ และลงทุนให้กับมนุษย์อย่างคุ้มค่าในระยะยาว มันทำคนเดียวไม่ได้ งานมันใหญ่มาก เราจะทำมันไปด้วยกัน”
ดังนั้นการสร้างเมืองในฐานะระบบนิเวศของการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีดอกผลเป็นโอกาสแห่งการพัฒนาต้นทุนชีวิต โจทย์นี้เกิดขึ้นจริงได้ หากทุกคนมุ่งมั่นตั้งใจร่วมปักธงแห่งความสำเร็จครั้งนี้ไปพร้อมกัน เพราะเมืองไม่ใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว แต่เมืองเป็นเรื่องของทุกคน