เศรษฐาเดินทางเยือนจีนตามคำเชิญของสีจิ้นผิง ร่วมประชุม BRF พร้อมจับมือ 50 บิ๊กธุรกิจไทย เพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจีน พร้อมทาบจีนร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 5 อุตสาหกรรมในไทย
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีภารกิจเดินทางเยือนต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมประชุมในช่วงระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคม 2566 ดังนี้
สาธารณรัฐประชาชนจีน
การประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุม BRF ของนายกรัฐมนตรีจะเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจีนและทั่วโลกที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย
ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
การประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ครั้งที่ 1 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย
โดยนายกรัฐมนตรีจะผลักดันความร่วมมืออาเซียน – GCC และไทย – GCC ที่สำคัญ ได้แก่ เรื่องการค้าการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระสีเขียว รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ภูมิภาค เป็นต้น
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ (16 ตุลาคม) เวลา 13.00 น. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อไปเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงจะเดินทางต่อไปยังกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคม 2566
ในส่วนของการเข้าร่วมการประชุม BRF ซึ่งเป็นการประชุมที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญนั้น จะเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีเพิ่มความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนจีนและทั่วโลกในด้านความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทย โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในการเดินทางครั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือกับผู้นำและบุคคลสำคัญหลายคนของจีน ได้แก่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน และ จ้าวเล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทย-จีนให้แน่นแฟ้น และได้เสริมสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิด ทั้งด้านการค้า การลงทุน ความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระดับประชาชน
โฆษกรัฐบาลยังได้กล่าวถึงการเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ครั้งที่ 1 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อาเซียนและ GCC ซึ่งมีชาติสมาชิก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, กาตาร์, คูเวต และโอมาน โดยจะได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีจะเน้นผลักดันความร่วมมืออาเซียน – GCC และไทย – GCC ที่สำคัญ ได้แก่ เรื่องการค้าการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระสีเขียว รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้ง 2 ภูมิภาค
ดึง 50 นักธุรกิจร่วมทริปในฐานะตัวแทนภาคเอกชน
ทั้งนี้ มีรายงานว่ารัฐบาลได้เชิญตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนจากทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยร่วมคณะเพื่อไปเจรจาการค้าและการลงทุนประมาณ 50 คน เช่น ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่มซีพี), กฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC), สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP (กลุ่มกระทิงแดง), ชูศักดิ์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, Yang Zijie บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA), โยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ ประธานกรรมการ บมจ.ดั๊บเบิ้ล เอ (1991), เกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน)
นายกฯ จีบ CITIC ลงทุนพลังงานสะอาด รถยนต์ EV และการเงินในไทย
วันนี้ (17 ตุลาคม) เวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง) ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า Zhu Hexin, Chairman CITIC Group Corporation เข้าเยี่ยมคารวะ เศรษฐา ทวีสิน โดยกลุ่ม CITIC เป็นบริษัทใหญ่ของจีนที่ดำเนินธุรกิจทั้งในส่วนของการบริการทางการเงินแบบครบวงจร และใช้เทคโนโลยีระดับสูง รวมทั้งได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Fortune’s Global 500 เป็นเวลา 15 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2552 และอยู่ในอันดับที่ 100 ในปี 2566 โดย CITIC สนใจลงทุนใน PPP Projects ขนาดใหญ่ของไทย และมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยในหลากหลายธุรกิจ
โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ CITIC มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด, อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV), อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนเชิญชวนให้มาตั้ง Regional Headquarter โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่
ขณะที่ CITIC ประสงค์ขยายความร่วมมือกับไทยในอีกหลายด้าน โดยบริษัทมีธุรกิจครอบคลุมและมีบริษัทในเครือจำนวนมาก มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก รวมทั้งด้านพลังงานสะอาดที่ไทยสนใจ
ทั้งนี้ ไทยและ CITIC จะร่วมมือกันเพื่อต่อยอดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล บริษัทต้องการขยายความร่วมมือและการลงทุนในไทย โดยเฉพาะสาขาที่ไทยสนใจ เช่น พลังงานสะอาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยนายกรัฐมนตรีได้ชวนมาขยายธุรกิจด้านการเงินในไทย ซึ่ง CITIC มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเงินอยู่แล้ว เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มีใบอนุญาตทางการเงินการธนาคารครบถ้วนและอยู่ในอันดับต้นๆ ของจีน จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนในไทยได้ โดยจะได้หารือในขั้นตอนต่อไป
ไทยส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV จึงขอเชิญบริษัทฯ เข้ามาลงทุนลักษณะ Supply Chain ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยไทยสนับสนุนมาตรการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนที่น่าสนใจด้วยมาตรการของ BOI
ทาบ CRRC เชิญชวนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
นอกจากนี้ Yongcai Sun, Chairman and Executive Director, CRRC Group ได้เข้าพบ เศรษฐา ทวีสิน โดย CRRC Group เป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสายการผลิตและบริการแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา ออกแบบ การซ่อมแซม และให้บริการทางเทคนิค ซึ่ง CRRC ได้ทุ่มเทเวลาในการสร้างเครือข่ายและขยายธุรกิจไปสู่ขอบเขตที่กว้างขวาง อาทิ การพัฒนาเมืองสีเขียวและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
โดย CRRC Group แสดงความสนใจลงทุนในประเทศไทยในส่วนที่มีศักยภาพ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนว่ามีโอกาสอย่างมากในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงในสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ BCG Economy, พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัทเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าบริษัทฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางในไทยแบบครบวงจร สร้างมูลค่าและคุณค่าควบคู่กัน ยินดีร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งรถไฟเพื่อการขนส่งอื่นๆ ด้วย และต้องการเชิญนายกรัฐมนตรีไปทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงด้วยตนเอง
โดยไทยให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนจากต่างประเทศด้วยระบบสาธารณูปโภคครบครัน และสิทธิพิเศษการลงทุน จึงอยากเชิญชวนมาตั้งโรงงานในไทยควบคู่กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ไทย ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านแรงงาน และ Healthcare ที่จะดูแลนักลงทุน นอกจากนี้ยังมีความต้องการหัวจักรรถไฟจำนวนมากสำหรับการขนส่งทางรถไฟของไทย โดยไทยเสนอให้บริษัทฯ มองภาพระยะยาวการลงทุนในไทยที่จะดีและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาจพิจารณาตั้งเป็น 2nd Hub ในไทย
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อการขนส่งด้านพลังงานและสินค้า เพื่อย่นระยะเวลาและประสิทธิภาพการขนส่ง สามารถขนส่งไปที่ต่างๆ ของโลกได้ง่ายขึ้นมาก
ทั้งนี้ CRRC Group เปรียบนายกรัฐมนตรีเป็นหัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนทั้งการพัฒนาระบบการขนส่งและการพัฒนาที่จะสำเร็จด้วยดี จึงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งต่อศักยภาพของไทยที่จะเป็น Hub การขนส่งระบบราง
ทางด้าน เศรษฐา ทวีสิน โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X โดยระบุว่า “ระบบขนส่งทางรางเป็นการขนส่งที่ต้นทุนต่ำ ตรงต่อเวลา และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน เยือนจีนครั้งนี้ผมได้พบกับกลุ่ม CRRC บริษัทขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก คุยกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะการลงทุนระบบขนส่งทางรางในไทยครับ
“เดิมที CRRC สนใจลงทุนในไทย แต่ไม่เคยมีใครมาคุยอย่างเป็นทางการ ครั้งนี้ผมจึงมาสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทและชวนให้ตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนของระบบการขนส่งทางรางรถไฟ รวมถึงตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาในไทย ควบคู่กับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อยกระดับและขยายโอกาสให้กับอุตสาหกรรมขั้นสูงของไทยต่อไปครับ”