บรรดานักวิเคราะห์ต่างจับตามองทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังความตึงเครียดในตะวันออกกลางทำให้ตลาดโลกเตรียมพร้อมรับผลกระทบ โดยเหล่านักลงทุนต่างจับตาดูความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจดันราคาน้ำมันให้พุ่งสูงขึ้น หากสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มก่อการร้ายฮามาสขยายวงกว้างดึงประเทศอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
โดยราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 6% ในวันศุกร์ (13 ตุลาคม) เนื่องจากนักลงทุนกำหนดราคาในความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กว้างขึ้น ในขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.5% ในการซื้อขายวันเดียวกัน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปก็พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมเช่นกัน เนื่องจากแหล่งก๊าซของอิสราเอลที่ส่งไปยังอียิปต์และจอร์แดนถูกปิดชั่วคราว ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอุปทาน
Ben Cahill นักวิจัยอาวุโสในโครงการความมั่นคงด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (CSIS) กล่าวว่า สถานการณ์ในอิสราเอลดูเหมือนว่าโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่การรุกรานฉนวนกาซาครั้งใหญ่และการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่โลกมีความขัดแย้งในระดับดังกล่าว ตลาดก็มักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองในทางลบ
ทั้งนี้ ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากทางการอิสราเอลระบุเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (15 ตุลาคม) ว่าจะยังคงอนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยในฉนวนกาซาที่กลุ่มฮามาสควบคุมอพยพไปทางทิศใต้ต่อไป ในขณะที่กองกำลังป้องกันประเทศอิสราเอลเตรียมการโจมตีภาคพื้นดินเพื่อตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 1,300 คน
รายงานระบุว่า บรรดานักลงทุนต่างแห่กันไปที่สินทรัพย์ที่ปลอดภัย ผลักดันราคาทองคำให้สูงขึ้นมากกว่า 3% ในขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหนึ่งสัปดาห์ และราคาของพันธบัตรรัฐบาลก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ปฏิกิริยาของตลาดค่อนข้างเงียบงันในช่วงสัปดาห์แรกของสงคราม แม้ว่าค่าเงินเชเกลของอิสราเอลจะมีการซื้อขายที่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปีที่ 3.87 เมื่อเทียบกับดอลลาร์ก็ตาม ธนาคารกลางของอิสราเอลขายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้มากถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินอิสราเอล
ด้าน Bernard Baumohl หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ The Economic Outlook Group ประเมินว่า หากความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไป ก็มีแนวโน้มจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมราคาที่พุ่งสูงขึ้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะเห็นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าว แต่ทางสหรัฐฯ อาจเป็นข้อยกเว้นหากนักลงทุนแห่เทเงินทุนลงในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ขณะที่ Erik Nielsen หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐศาสตร์กลุ่มของ UniCredit แสดงความเห็นว่า ถ้าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสขยายวงกว้างออกไป ตนเองก็ไม่รู้เช่นกันว่าตลาดจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ค่อนข้างดี (Well-behaved) ต่อไปหรือไม่
อ้างอิง: