‘PROTON’ แบรนด์รถยนต์สัญชาติมาเลเซีย สนใจตั้งฐานผลิตรถยนต์ EV ในไทย คาดช่วยเพิ่มโมเมนตัมของอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตไปอีกก้าว เนื่องจากเจ้าของจากจีน ‘Geely Holding Group’ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท PROTON นั้น ยังเป็นเจ้าของ Volvo และ Lotus และมีหุ้นใน Mercedes-Benz รวมไปถึงเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีให้หลายแบรนด์ดังอีกด้วย
หากจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้ ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียออกมาประกาศว่า มาเลเซียตั้งเป้าเปิดรับการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหมุดหมายแรก ท่ามกลางการแข่งขัน EV ในภูมิภาคที่ดุเดือด จนสามารถมัดใจ อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อ Tesla ให้เลือกมาเลเซียเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาค จึงเป็นที่น่าสนใจว่าการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และการเข้าพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้งสองประเทศต่างหารือถึงการอุตสาหกรรม EV ร่วมกันอย่างไรบ้าง
ล่าสุดรายงานข่าวระบุว่า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในการเยือนมาเลเซียวานนี้ (11 ตุลาคม) ว่า PROTON ผู้ผลิตรถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย อยู่ระหว่างพิจารณาสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ซึ่งมูลค่าของการลงทุนและกำลังการผลิตยังไม่สามารถเปิดเผยได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สำหรับ PROTON เป็นแบรนด์รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1983 จากบริษัทที่เดิมผลิตรถยนต์สันดาป ขณะนี้บริษัทกำลังเปลี่ยนผ่านบริษัทไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายใต้การดำเนินงานของมหาเศรษฐีชาวจีน หลี่ซูฝู ผู้ถือหุ้นใหญ่จากบริษัทรถยนต์ข้ามชาติจากจีน Zhejiang Geely Holding Group โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง
ปัจจุบัน Geely Holding เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีการเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้าอัจฉริยะที่มีการแข่งขันสูงและมีอิทธิพลทั่วโลก และเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดย Geely Holding เป็นทั้งเจ้าของและผู้จัดการแบรนด์ต่างๆ เช่น Geely Auto, Lynk & Co, ZEEKR, Geometry, Volvo Cars, Polestar, Lotus, London Electric Vehicle Company, Farizon Auto, RADAR AUTO และ Cao Cao Mobility
เศรษฐา พบ หลี่ซูฝู ประธานบริษัท Geely Holding Group ในการเยือนมาเลเซีย
รายงานข่าวยังระบุอีกว่า สืบเนื่องจากรัฐบาลไทยมีมาตรการดึงดูดการลงทุน การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยที่ผ่านมามีการสนับสนุนเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาท (4,126 ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคา 2 ล้านบาท หรือต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวซึ่งถูกเรียกอีกชื่อว่าโครงการ EV 3.0 กำลังจะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ และอยู่ระหว่างพิจารณาแพ็กเกจ EV 3.5 เพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ผลิตภายใต้โครงการเดิมนี้จะต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในท้องถิ่นเร็วสุดต้นปี 2567 ทั้งนี้ ระหว่างนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับแบรนด์ EV รายใหม่ๆ ที่กำลังพิจารณาเพื่อตัดสินใจลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยด้วย
รายงานข่าวระบุอีกว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยกำลังเติบโตอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายใหญ่จากจีน ไม่ว่าจะเป็น BYD ซึ่งคิดเป็น 30% ของปริมาณการขาย EV ในประเทศไทย และอยู่ระหว่างวางแผนที่จะสร้างโรงงาน EV ในจังหวัดระยอง รวมไปถึง Great Wall Motor และกลุ่ม SAIC Motor ก็กำลังเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเช่นกัน
ดังนั้น การดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศอื่นอาจช่วยเพิ่มโมเมนตัมของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นไปด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เศรษฐาเปิดเผยผ่านแอปพลิเคชัน X (Twitter) ว่า “ผมกับหลี่ซูฝู ประธานบริษัท Geely Holding Group ผู้เป็นเจ้าของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน และหุ้นส่วนใหญ่ของ PROTON บริษัทผลิตรถยนต์ของมาเลเซีย ได้พูดคุยกัน โดยทาง PROTON สนใจมาลงทุนเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย ผมจึงมีความมั่นใจว่ารัฐบาลเราสนับสนุนการลงทุนทำ EV และขอให้ Geely ประสานงานต่อกับภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อพูดคุยในรายละเอียดต่อไป”
สำหรับบริษัท Geely Holding Group ยังเป็นเจ้าของ Volvo และ Lotus และมีหุ้นใน Mercedes-Benz อีกด้วย
เศรษฐาระบุอีกว่า ในการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรก ถือเป็นมิติทางการทูตใหม่และการค้าร่วมกัน 4 เรื่องหลัก ได้แก่
- การค้าชายแดนและการค้าการลงทุน ซึ่งบริษัท EV จะพิจารณาลงทุนในอุตสาหกรรมรถ EV ในไทย
- ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยมีความเชี่ยวชาญการผลิต และส่งออกสินค้าฮาลาลให้แก่มาเลเซีย สู่ตลาดมุสลิมทั่วโลก
- ด้านการท่องเที่ยว
- ด้านความมั่นคง
อ้างอิง: