ในขณะที่เราหวาดระแวงกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งดูแลความสะอาดและความปลอดภัยจากสิ่งรอบตัวอย่างเคร่งครัด แต่กลับลืมเรื่องสำคัญใกล้ตัวอย่างการกินอาหารที่ดีและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งยังเผลอใช้ชีวิตด้วยพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแบบที่เราไม่ทันคาดคิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs)
องค์การอนามัยโลกเผยว่า NCDs คร่าชีวิตผู้คนมากถึง 41 ล้านคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 74% ของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยพบว่า แต่ละปีจะมีผู้คนอายุต่ำกว่า 70 ปีราว 17 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยกลุ่มโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากที่สุด ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด รองลงมาคือโรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเบาหวาน
สำหรับประเทศไทยในปี 2565 มีจำนวนผู้ป่วยกว่า 10 ล้านคน และมีจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นถึง 18.6% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุการตาย 4 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ
ทั้งนี้ เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น กินอาหารไม่ถูกต้องตามโภชนาการ ติดหวาน มัน หรือเค็ม, พักผ่อนน้อย, เครียด, ไม่ออกกำลังกาย, สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่ลด ละ เลิก และสามารถป้องกันได้ แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกกลับยังคงเพิ่มสูงขึ้น
จากความรุนแรงของสถานการณ์ ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งเป้าหมายลดอัตราผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้จำนวน 1 ใน 3 ภายในปี 2030
THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุมนานาชาติด้านสาธารณสุข หรือ The International Conference for Public Health, Environment and Education for Sustainable Development Goals and Lifelong Learning 2023 ที่จัดขึ้นจากความร่วมมือของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายทั้งภาคการศึกษาและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ (CPF)
หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ คือ วิทยาศาสตร์บูรณาการสำหรับอาหารดูแลสุขภาพเชิงรุก: นวัตกรรมเนื้อหมูชีวามีโอเมก้า 3 จากธรรมชาติ ยกระดับมาตรฐานอาหารสุขภาพของไทย
ทำไมต้องโอเมก้า 3?
รศ.ดร.พัชราณี ภวัตกุล หัวหน้าภาคโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่มีบทบาทในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันต่อร่างกายของคนทุกวัย เนื่องจากโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพ มีประโยชน์ด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง เช่น อาการสมองเสื่อมและความจำเสื่อม สำหรับประโยชน์ด้านสมองยังคงต้องอาศัยงานวิจัยเพิ่มเติม
นอกจากนั้นยังช่วยลดการอักเสบของกระดูกและข้อต่างๆ ซึ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ
ซึ่งการเลือกกินอาหารที่มีโอเมก้า 3 คือกุญแจสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และเสริมสร้างความแข็งแรงของอวัยวะและระบบการทำงานของร่างกาย อีกทั้งยังช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการ ‘ดูแลสุขภาพเชิงรุก’ หรือทางการแพทย์เรียกว่า เวชศาสตร์การป้องกัน (Preventive Medicine)
ซึ่งเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลือกกินอาหารที่มีสารอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย หรือเลือกวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี
ดร.อนันตวัฒน์ กุลธนเตชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักวิชาการอาหารสัตว์ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม ‘หมูชีวามีโอเมก้า 3’ ตั้งแต่การศึกษา การวิจัยเพื่อคัดเลือกหมูสายพันธุ์ดี ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตวศาสตร์หรือโภชนาการอาหารสัตว์และสัตวแพทย์ โดยเลี้ยงหมูที่ให้กินวัตถุดิบธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นแหล่งโอเมก้า 3 สูง เช่น เมล็ดแฟลกซ์ซีด น้ำมันปลาทะเลลึก และสาหร่ายทะเลลึก เป็นต้น และนั่นเป็นที่มาของนวัตกรรมหมูชีวาที่มีโอเมก้า 3
โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การเลี้ยงใน ‘คลีนฟาร์ม’ ที่มีระบบป้องกันความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-Security) ไม่มียาปฏิชีวนะร้อยเปอร์เซ็นต์ และถูกเลี้ยงในลักษณะคอกขังรวม (Group Pen Gestation) ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ส่งผลให้หมูชีวาอยู่สบาย แข็งแรง และไม่เจ็บป่วย ที่สำคัญยังได้รับการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงจาก NSF ซึ่งเป็นองค์กรจากสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้นำระดับนานาชาติด้านการรับรองผลิตภัณฑ์และความปลอดภัยในอาหาร
ตามที่เคยเข้าใจ กรดไขมันโอเมก้า 3 พบได้ในปลาทะเลที่มีน้ำมัน อย่างเช่น ปลาแซลมอน หรือพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันคาโนลา และไข่ อีกทั้งยังสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์จากนมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากงานสัมมนาบนเวทีนี้ทำให้รู้ว่า ปัจจุบันโอเมก้า 3 ยังมีในแหล่งอาหารใหม่อย่างเนื้อหมูที่เราสามารถกินได้เป็นประจำทุกวัน
ถ้าคุณคิดว่าการกินอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพในเชิงรุก คือวิธีดูแลสุขภาพที่คุณเลือกปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ที่เป็นปัญหาใหญ่ของสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน นอกจากกลุ่มอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 แล้ว หมูชีวาจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี ช่วยให้คุณเข้าถึงโอเมก้า 3 ได้ง่ายและสะดวกขึ้น เปลี่ยนทุกมื้ออร่อยให้เป็นมื้อที่อุดมไปด้วยประโยชน์ที่จำเป็นต่อร่างกายได้ทุกวัน เพื่อการดูแลสุขภาพเชิงรุกของคุณในทุกๆ วัน
อ้างอิง:
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases
- https://www.who.int/thailand/activities/catalyzing-multisectoral-actions-to-reduce-ncds-risk–factors#:~:text=Today%2C%20NCDs%2C%20primarily%20heart%20disease,hitting%20the%20national%20economy%20hard
- ‘หมูชีวามีโอเมก้า 3’ ได้รับรางวัล Superior Taste Award 2023 จาก International Taste Institute
- รางวัล SET Awards 2021 ในกลุ่ม Business Excellence ด้านนวัตกรรมดีเด่น (Outstanding Innovative Company Awards) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร
- รางวัลชนะเลิศ สุดยอดนวัตกรรมระดับโลก จากงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2020