ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ตั้งของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายประเทศ อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงพุ่งขึ้นอีกระลอก อาจกดดันให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงขึ้นและนานขึ้น (Higher for Longer) อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้อาจทำให้ Bond Yield ลดลงได้ เนื่องจากนักลงทุนอาจจะวิ่งกลับไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
สงครามครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลในรอบหลายปี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนแล้ว เพิ่มความเป็นไปได้ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ‘ในวงกว้างขึ้น’ และจุดประกายให้เกิดความไม่มั่นคงทั่วโลก ซ้ำเติมเหตุสงครามในยูเครนเมื่อเกือบ 20 เดือนก่อน
เร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะประเมินได้ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าความขัดแย้งจะกินเวลานานเพียงใด เหตุการณ์จะรุนแรงแค่ไหน และจะขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคหรือไม่
สอดคล้องกับ Agustin Carstens ผู้นำของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ซึ่งกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าตลาดน้ำมันและตลาดหุ้นอาจได้รับผลกระทบในทันทีไปแล้ว
แต่อย่างน้อยสงครามก็มีศักยภาพเพียงที่จะเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วได้
โดยประเด็นที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะอยู่ในวาระการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ที่จัดขึ้นในสัปดาห์นี้ที่โมร็อกโก ท่ามกลางฉากหลังของเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ และความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์
กดดันธนาคารกลาง Higher for Longer
สงครามในตะวันออกกลางรอบนี้ยังอาจสร้างปัญหาให้แก่ธนาคารกลางทั่วโลกได้ เนื่องจากเหตุการณ์นี้อาจสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อใหม่รอบใหม่ เนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่างอิหร่าน และซาอุดีอาระเบียเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ตั้งของเส้นทางเดินเรือหลักๆ ผ่านคลองสุเอซด้วย
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อ้างถึงราคาพลังงานที่สูงเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็น ‘ความเสี่ยง’ ต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และยังกล่าวอีกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ หากไม่มีปัจจัย Shock จากภายนอก
ขณะที่ Karim Basta นักเศรษฐศาสตร์จาก III Capital Management กล่าวว่า ความขัดแย้งดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันจะสูงขึ้น และความเสี่ยงต่อทั้งอัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มการเติบโต และทำให้ Fed ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยากขึ้น
สงครามอาจเป็นตัวแปร กด Bond Yield ลง
เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ Fed เพิ่งจับตาดูการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) แต่ในกรณีที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสรุนแรงขึ้น และเพิ่มความกังวลให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ก็อาจทำให้ Bond Yield ลดลงได้ เนื่องจากนักลงทุนจะวิ่งกลับไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ลดลงก็อาจถูกมองว่าเป็นปัจจัยผลักดันอัตราเงินเฟ้อรอบใหม่ ซึ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคและธุรกิจกู้ยืมและใช้จ่ายมากขึ้น
อ้างอิง: