×

ทำไม ‘SMS Emergency Alert’ ในไทย ถึงไปไม่ถึงฝัน กสทช.-โอเปอเรเตอร์ ทำอะไรอยู่

โดย THE STANDARD TEAM
06.10.2023
  • LOADING...
SMS Emergency Alert

‘Emergency Alert’ ระบบการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายที่มีการใช้ในหลายประเทศ คือสิ่งแรกที่สังคมไทยให้ความสนใจภายหลังจากเหตุยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอนเมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา 

 

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลระบบ SMS แจ้งเตือน หรือเซลล์บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) ระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่พร้อมกัน คือหน่วยงานที่ประชาชนต้องการคำตอบจากเรื่องนี้มากที่สุด

 

THE STANDARD สนทนาและหาร่วมคำตอบกับสองบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นคนใน กสทช. ตัวจริงเสียงจริงอย่าง สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชุดปัจจุบัน ถึงสาเหตุแท้ที่จริงว่า เหตุใดการพัฒนาระบบ ‘Emergency Alert’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย

 

กสทช. ต้อง ‘กล้าสั่ง’ โอเปอเรเตอร์  

 

สุภิญญากล่าวกับ THE STANDARD ว่า ตอนที่ตนเองยังทำงานอยู่ที่ กสทช. นั้นแบ่งงานออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านวิทยุโทรทัศน์และด้านโทรคมนาคม 

 

ด้านวิทยุโทรทัศน์ได้ออกประกาศแล้ว หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หน่วยงานรัฐสามารถมีคำสั่งหรือขอความร่วมมือให้โทรทัศน์สามารถส่งข้อความในการแจ้งเตือนได้ทันที ส่วนด้านโทรคมนาคมนั้นตนเองไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง แต่เรื่องนี้มีข้อเสนอ รวมถึงมีการพูดคุยกันหลายครั้ง และสุดท้ายกลับกลายเป็นเรื่องที่ ‘การโยนกันไปและโยนกันมา’ 

 

ส่วนภาระความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น สุภิญญามองว่า เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เป็นเรื่องที่ กสทช. น่าจะต้องออกประกาศมีคำสั่งให้โอเปอเรเตอร์ส่งให้เองโดยที่ไม่ต้องคิดเรื่องค่าใช้จ่าย เปรียบเสมือนเป็นหน้าที่ เช่น เวลาที่โทรทัศน์โดนล้มผังจากรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่การถ่ายทอดต่างๆ โทรทัศน์โดนบ่อย แต่ก็ไม่ได้มีการชดเชยแต่อย่างใด โทรคมนาคมควรจะดำเนินตามหลักการเดียวกันกับวิทยุและโทรทัศน์ 

 

ก่อนหน้านี้ กสทช. ระบุว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ สุภิญญากล่าวว่า ข้ออ้างที่ไม่มีเงินนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานเอกชนต้องทำตามคำสั่งของรัฐ ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่หากสุดท้ายแล้วจะต้องมีการรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่าย ก็มองว่าเป็นการจ่ายในราคาที่ ‘ถูกมาก’ รวมถึงสามารถใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปช.) ได้ 

 

“ส่วนตัวเชื่อว่า กสทช. ชุดนี้สามารถผลักดันต่อไปได้ Emergency Alert ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป ขอให้ กสทช. ไปเจรจากับโอเปอเรเตอร์ หากยังไม่สามารถออกเป็นประกาศได้ ก็ขอความร่วมมือให้มีการทดลองเกิดขึ้นก่อน หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องออกประกาศ หากเอกชนไม่เห็นด้วยก็ให้ไปฟ้องศาล อย่างน้อยควรมีกระบวนการที่เห็นเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ก็ต้องกลับมาสู้กันอีก” 

 

สุภิญญากล่าวว่า การแจ้งเตือนผ่านโทรทัศน์และวิทยุได้ดำเนินการมานานแล้ว แต่ด้านโทรคมนาคมนั้นยังมีการพูดคุยกันและเถียงกันไปมา ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากผู้ประกอบการทางโทรคมนาคมมองว่าเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากหากทีวีได้รับคำสั่งอย่างไร ก็ต้องดำเนินการทันที ซึ่งโอเปอเรเตอร์ทางโทรคมนาคมก็มีความจริงจังในเรื่องนี้ หากได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน ก็จะสามารถดำเนินการสร้างระบบดังกล่าวได้

 

มีงบประมาณที่จะสานฝัน Emergency Alert ให้เกิดขึ้นจริง

 

คนทั่วไปรับรู้-รับทราบว่า ในปี 2566 กสทช. ได้งบประมาณมากถึง 6,271,250,400 บาท พร้อมกับตั้งคำถามว่า เหตุใดงบประมาณดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะให้ทำ SMS Emergency Alert ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริง 

 

รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวชี้แจงกับ THE STANDARD ว่า งบประมาณกว่า 6 พันล้านบาทนั้นเป็นงบประมาณประจำปี เป็นงบดำเนินการ แต่งบประมาณสำหรับการพัฒนาระบบ SMS Emergency Alert นั้นจะเป็นงบประมาณลงทุน เป็นคนละส่วนกับงบประมาณดำเนินการ 

 

ปัจจุบัน กสทช. มีระบบ SMS Cell Broadcast เพื่อดำเนินการอยู่แล้ว หากมีการพัฒนาร่วมกับโอเปอเรเตอร์ให้เกิดขึ้นจริง กสทช. ก็มีงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปช.) เพื่อสนับสนุนอยู่ แต่งบประมาณต้องอยู่ในระดับที่บอร์ด กสทช. สามารถเห็นชอบได้ และตนเองในฐานะที่เคยเป็นวิศวกร ประเมินตัวเลขเบื้องต้นคาดว่าอยู่ในระดับไม่สูงนักที่ประมาณ 100 ล้านบาท 

 

แต่ปัญหาที่ SMS Emergency Alert ยังไปไม่ถึงฝันนั้นมีปัญหาจากหลายส่วน ทั้งโอเปอเรเตอร์บางรายมีระบบที่ไม่พร้อม อาจนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันกรรมการ กสทช. บางส่วนก็มองว่า ควรเป็นระบบใหญ่มากกว่านี้ อาจนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ได้

 

รศ.ดร.สมภพ กล่าวอธิบายว่า กสทช. เป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุม ไม่ใช่หน่วยงาน Operation เราไม่มีอำนาจ ทำตามขอบเขตอำนาจเท่าที่มี ไม่มีสิทธิ์ส่งข้อความ รวมถึงไม่ใช่หน่วยงานต้นทางที่จะส่งข้อความ แต่ กสทช. สามารถสนับสนุนเรื่องของระบบที่จะรองรับในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ 

 

ส่วนการส่ง SMS Emergency Alert เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ ต้องสรรหาหน่วยงานที่เข้าเป็นศูนย์กลาง และต้องมีการพูดคุยกับทุกโอเปอเรเตอร์ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะมีค่าใช้จ่ายตามมา รวมถึงต้องเป็นผู้ตัดสินใจและพิจารณาข้อมูลสำหรับแจ้งเตือนประชาชนอย่างถี่ถ้วนว่า ข้อความลักษณะนี้ควรส่งหรือไม่ควรส่ง 

 

โดยเฉพาะข้อความที่เกิดจากเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เช่น กรณีเหตุการณ์ภายในสยามพารากอน หน่วยงานที่รับเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่ 191 ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคง กว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงและกว่าจะส่งข้อความแจ้งเตือนถึงประชาชนก็ค่อนข้างใช้เวลา ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงหรืออาชญากรรม จะมีความแตกต่างจากเหตุการณ์ไฟไหม้ อากาศเป็นพิษ หรือแม้ภัยพิบัติต่างๆ 

 

รศ.ดร.สมภพ แสดงความคิดเห็นอีกว่า เมื่อได้คิด SMS Emergency Alert แล้ว ก็ต้องดำเนินในหลากหลายช่องทาง ทั้งผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ รวมถึงโทรทัศน์และวิทยุด้วย เมื่อลงมือจะทำแล้วก็ควรทำให้ครอบคลุม โดยคำนึงถึงการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางแรก

 

รับปากพร้อมผลักดัน 

 

รศ.ดร.สมภพ ในฐานะบอร์ด กสทช. ผู้ดูแลรับผิดชอบกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ตนเองจะรีบผลักดันให้ผ่านคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งจะมีการหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในต้นสัปดาห์หน้า พร้อมยอมรับถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตนเองในฐานะที่ทำงานและดูแลรับผิดชอบ ‘มีความเข้าใจ’ ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น

 

“หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจเรื่องการส่งข้อความ หลายคนใช้ความรู้สึก โดยไม่ได้ทราบข้อกฎหมาย ผมน้อมรับคำวิจารณ์ เป็นเรื่องปกติ เพราะเราทำงานให้กับหน่วยงานนี้ เราก็ต้องยอมรับ แต่การทำงานของ กสทช. เป็นรูปแบบของการทำงานแบบองค์คณะ และท้ายที่สุดก็ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกัน” บอร์ด กสทช. อธิบาย

 

รศ.ดร.สมภพ ‘รับปาก’ ว่าจะไม่ทำให้เรื่องนี้หายเงียบไปจากสังคม เพราะตนเองมองว่าสามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงได้เช่นกัน 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X