ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ซึ่งเป็นเดือนที่ เศรษฐา ทวีสิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันนี้ (5 ตุลาคม) ต่างชาติขายสุทธิ (Net Sell) ตราสารหนี้ไทยไปแล้วราว 9 หมื่นล้านบาทจากยอดขายสุทธิตลอดทั้งปีที่ 155,302 ล้านบาท ด้านสมาคมตราสารหนี้ไทยมองว่ามาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก รองลงมาคือปัจจัยซัพพลายในประเทศ ตลาดคาด Bond Yield ไทย 10 ปีมีโอกาสแตะ 3.50%
วันนี้ (5 ตุลาคม) ในการแถลงข่าวสรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยไตรมาส 3 ปี 2023 สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี (YTD) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ (Net Sell) ตราสารหนี้ไทยแล้ว 155,302 ล้านบาท
โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันนี้ (5 ตุลาคม) ต่างชาติขายสุทธิ (Net Sell) ตราสารหนี้ไทยไปแล้วราว 93,634 ล้านบาท จาก 155,302 ล้านบาทตั้งแต่ต้นปี (YTD) โดยแบ่งเป็นเดือนสิงหาคมขายสุทธิ 55,263 ล้านบาท เดือนกันยายนขายสุทธิ 33,357 ล้านบาท และเดือนตุลาคมขายสุทธิ (MTD) ขายสุทธิ 5,346 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 201 หน้า 1 วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ระบุว่า เศรษฐา ทวีสิน เริ่มดำรงตำแหน่งวันที่ 22 สิงหาคม 2566
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีในวันนี้ (5 ตุลาคม) เพิ่มขึ้นแตะ 3.367% ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2014 หรือสูงสุดในรอบ 9 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไม Bond Yield ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น? สหรัฐฯ สูงสุดรอบ 16 ปี ไทยสูงสุดรอบ 9 ปี ผลกระทบที่อาจตามมาคืออะไร?
- นักลงทุนเทพันธบัตรรัฐบาลไทยไม่หยุด! ดันยีลด์ 10 ปี แตะ 3.24% สูงสุดรอบ 10 เดือน กูรูเตือนมีโอกาสพุ่งทุบสถิติรอบ 9 ปี
- EXCLUSIVE: ต่างชาติเทขายบอนด์ไทยเฉียด 2 หมื่นล้านแล้วเดือนนี้! เหตุกังวลซัพพลายทะลัก หลังรัฐบาลส่งสัญญาณกู้เงินเพิ่ม ดันยีลด์พุ่งแตะจุดสูงสุดของปี
สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government Bond Yield Curve) ปรับตัวสูงขึ้นทุกช่วงอายุ โดยมีความชันลดลงจากการปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากของ Bond Yield ระยะสั้น ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถึง 5 ครั้งในปี 2566 อีกทั้งการประกาศแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ที่เพิ่มขึ้น 0.16 ล้านล้านบาทจากปีงบประมาณที่ผ่านมา ประกอบกับเริ่มมีความชัดเจนในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายโครงการ ส่งผลให้ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาส 3 โดย Bond Yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 90 bps. จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.54% ส่วน Bond Yield 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 54 bps. มาอยู่ที่ 3.18% ณ สิ้นไตรมาส 3
เปิดปัจจัยต่างชาติเทขาย-ดัน Bond Yield ไทยพุ่ง
เมื่อ THE STANDARD WEALTH สอบถามว่า การไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยและการเพิ่มขึ้นของ Bond Yield มาจากปัจจัยมาต่างประเทศหรือในประเทศเป็นหลัก ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวหลักมาจากอุปสงค์และอุปทาน (Current Demand-Supply) หรือมาจากการเลือกลงทุนในตลาดที่ผลตอบแทนดีกว่าของนักลงทุน
“ต้องยอมรับว่า Yield Gap (ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา) มีสูง โดยยีลด์ของสหรัฐอเมริกาสูงกว่าไทยอย่างมีนัยสำคัญ ก็ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในเครื่องมือที่มีผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่ปัจจัยอุปทานของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยที่มีผลถัดมา เนื่องจากหาก Supply เพิ่ม แต่ Demand ไม่ได้เพิ่มตาม ยีลด์ก็ต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา” ดร.สมจินต์ กล่าว
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วันนี้ (5 ตุลาคม) อยู่ที่ 4.73%
นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ ดร.สมจินต์ คาดว่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของดัชนี Bond Index ของ JPMorgan ที่เพิ่มอินเดียเข้าไป ทำให้สัดส่วนของประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยต้องลดลง เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่จะลงทุนตามดัชนี โดยตามข้อมูลล่าสุดในปัจจุบันไทยครองสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 9.9%
คาดการณ์การเคลื่อนไหว Fund Flow, ดอกเบี้ย และ Bond Yield ไทย ในไตรมาส 4
นอกจากนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล ยังได้กล่าวถึงผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาดเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมาว่า ที่ส่วนใหญ่ (85%) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับ Bond Yield รุ่นอายุ 10 ปีในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าอาจขึ้นไปที่ 3.29% โดยเฉลี่ย (Estimated Mean) โดยมีกรอบล่างอยู่ที่ 3.00% (Estimated Low) และกรอบบนอยู่ที่ 3.50% (Estimated High) ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และอุปสงค์-อุปทานของตลาดตราสารหนี้ไทย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงที่เหลือของปีมีโอกาสที่จะเห็นเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยอีกหรือไม่ ดร.สมจินต์ ระบุว่า เป็นไปได้ที่จะเห็นการไหลออกต่อเนื่องหากแรงกดดันต่างๆ ยังคงอยู่ ได้แก่
- ส่วนต่างระหว่างยีลด์สหรัฐฯ และไทยที่ค่อนข้างกว้าง
- อุปทานของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล
นอกจากนี้ อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ยังเปิดเผยด้วยว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยมีพันธบัตรอายุสั้นที่จะครบกำหนดภายในสิ้นปีนี้อีก 8 หมื่นล้านบาท จึงมีโอกาสเห็นเงินไหลออกเพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม อริยาอธิบายว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่การไหลออกของเงินทุนจะปรับตัวขึ้นหรือไหลกลับเข้ามาจากปัจจัย เช่น หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น