×

กางข้อกฎหมาย ความรับผิดชอบทางอาญาของผู้ก่อเหตุที่เป็น ‘เด็ก’

โดย THE STANDARD TEAM
04.10.2023
  • LOADING...
Key Messages

วันนี้ (4 ตุลาคม) ภายหลังจากเหตุยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน ถนนพระรามที่ 1 โดยผู้ก่อเหตุเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน ทั้งนี้ มีการยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของผู้ก่อเหตุซึ่งเป็น ‘เด็ก’ 

 

THE STANDARD กางข้อกฎหมายจากการที่ สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญา และอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์เด็กอายุ 14 ปียิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย เป็นอีกเหตุการณ์ที่สะเทือนภาพความรู้สึกของประชาชนต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ‘เด็ก’ ก่อเหตุกระทำความผิดต้องรับผิดชอบหรือไม่? 

 

  1. ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำซึ่งเป็นเด็ก แน่นอนว่าเขากระทำความผิดทางอาญาต่อชีวิต ต่อร่างกายของผู้อื่น ฯลฯ แต่ประมวลกฎหมายอาญาแบ่งผู้กระทำผิดอายุน้อยเป็น 4 กลุ่ม คือ

 

1.1 เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี แม้กระทำผิดอาญา แต่กฎหมายไม่เอาโทษ โดย ‘ยกเว้นโทษ’ ให้

 

1.2 เด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี แม้กระทำผิดอาญา แต่กฎหมายไม่เอาโทษ โดย ‘ยกเว้นโทษ’ ให้ แต่จะมีวิธีการสำหรับฟื้นฟูเด็กกระทำผิดที่เรียกว่า ‘วิธีการสำหรับเด็ก’ เช่น ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก

 

1.3 ผู้ที่อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี กระทำผิดอาญา กฎหมายให้พิจารณาจากเด็กนั้นว่าควรลงโทษหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ควรลงโทษก็อาจ ‘ยกเว้นโทษ’ ให้ แต่จะมีวิธีการสำหรับฟื้นฟูเด็กกระทำผิดที่เรียกว่า ‘วิธีการสำหรับเด็ก’ แต่ถ้าเห็นควรจะลงโทษ ศาลก็ต้องลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง

 

1.4 ผู้ที่อายุตั้งแต่ 18 ปี กระทำผิดอาญา กฎหมายให้ศาลพิจารณาว่าจะลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือจะลดโทษให้ก็ได้ หากศาลเห็นสมควรจะลงโทษ ต้องลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่ง 

*กรณีที่เกิดขึ้นเข้ากรณีที่ 1.2 เด็กอายุกว่า 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี

 

  1. ความรับผิดทางแพ่งของผู้กระทำซึ่งเป็นเด็ก กรณีที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นความผิดอาญาแล้ว ยังเป็นการก่อละเมิดต่อผู้อื่นด้วย โดยแม้กฎหมายจะ ‘ยกเว้นโทษ’ ในทางอาญา แต่เด็กยังมีความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 429 ด้วย

 

  1. การดำเนินคดีอาญา การดำเนินคดีอาญาสำหรับเด็ก (อายุไม่เกิน 15 ปี) หรือเยาวชน (อายุ 15-18 ปี) เป็นไปตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น 

 

และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวน และห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร (มาตรา 133 ทวิ) เป็นต้น

 

  1. พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 แม้เด็กจะกระทำความผิดอาญา แต่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กตามมาตรา 27 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”

 

ดังนั้น การแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กจึงมีประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 79 ที่ลงโทษผู้ใดที่ฝ่าฝืนมาตรา 27…ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

  1. การเสนอข่าวสารควรดำเนินการตามที่สำนักงาน กสทช. ออกข้อกำหนด โดยไม่เสนอภาพข่าวแห่งความรุนแรง การเสนอภาพเด็กผู้กระทำความผิด ข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวนักเรียน อาจขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อีกด้วย

 

โดยสุรศักดิ์ได้ให้ข้อพิจารณาว่า ปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำความผิด Juvenile Delinquency เป็นปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อน สะท้อนสภาพสังคมที่ส่งมอบบุคลิกลักษณะแก่เยาวชนของเรา ครอบครัว คนรอบข้าง โรงเรียน และสังคมมีส่วนในการช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงของเด็กได้ ที่สำคัญคือ การเห็นภาพความรุนแรงทั้งการกระทำและโดยวาจาจากสื่อ สิ่งแวดล้อมรอบตัว เป็นสิ่งบ่มเพาะให้เกิดอาชญากรรมได้ทั้งสิ้น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X