×

Castlevania: Nocturne บทพิสูจน์ที่ท้าทายอีกครั้งของแฟรนไชส์ Castlevania

04.10.2023
  • LOADING...
Castlevania Nocturne

มีเกมมากมายที่ประสบความสำเร็จแล้วเลือกที่จะ ‘ดัดแปลง’ ผลงานของตัวเองเป็นแอนิเมชัน เพื่อ ‘ขยาย’ เนื้อหา หรือ ‘ทำความรู้จัก’ กับคนที่ไม่เคยเล่นมาก่อน เช่น ซีรีส์ Arcane (2021) ของ Riot Games ที่หยิบยกเอาเรื่องราวในจักรวาล League of Legends (LoL) มาเล่า โดยที่เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับชีวิตและภูมิหลังความสัมพันธ์ของสองตัวละครอย่าง Jinx กับ Vi ที่ทำออกมาได้น่าประทับใจ 

 

แต่ก็มีบางครั้งที่การดัดแปลงเป็นแอนิเมชันหันมาช่วยชีวิตเกมเอาไว้ เช่น ซีรีส์ Cyberpunk: Edgerunners (2022) ที่ต่อยอดมาจากโลกของ Cyberpunk 2077 ซึ่งเป็นเกมของค่าย CD Projekt Red ที่ถูกคนเล่นก่นด่าในแง่ลบมากมาย ชนิดที่ว่ากลายเป็นดราม่าแทบทุกหนทุกแห่งตอนที่เกมวางขาย แต่เพราะการมาถึงของซีรีส์นี่เองที่กอบกู้ชื่อเสียงของเกมเอาไว้ และกลายเป็นสิ่งผลักดันให้คนที่ไม่เคยเล่นได้หันมาลองสัมผัสกับประสบการณ์ของโลกใบนั้น  

 

Castlevania

Castlevania (TV Series 2017-2019)

 

สำหรับแฟรนไชส์เกม Castlevania ของ KONAMI ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ ก็อาจไม่ได้หนีห่างจากเรื่องพวกนี้เช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่มีอายุอานามมาตั้งแต่ปี 1986 การดัดแปลงเรื่องราวของตัวเกมมาเป็นแอนิเมชันจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ไหนจะต้องเจอกับคำวิจารณ์มากมายจากทั้งทางฝั่งคนเล่นและคนดู ที่ต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่าพวกเขาจะมีมุมมองที่ไม่เหมือนกันตามแต่ที่ตัวเองมีประสบการณ์ร่วมกับแฟรนไชส์นี้

 

ถึงกระนั้น Castlevania ก็เคยดัดแปลงเนื้อหาของเกมมาเป็นแอนิเมชันแล้วในปี 2017 โดยใช้ชื่อเดียวกัน และแบ่งฉายออกเป็นทั้งหมด 4 ซีซันจนถึงปี 2021 ซึ่งกระแสตอบรับจากคนส่วนใหญ่ที่มีต่อซีรีส์ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยเฉพาะในแง่ของงานสร้างที่พัฒนาฉากแอ็กชันทุกซีซันจนกลายเป็นภาพจำของซีรีส์เรื่องนี้ 

 

และจากความสำเร็จตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้แฟรนไชส์ Castlevania ตัดสินใจเดินหน้าเล่าเรื่องราวในจักรวาลเกมของพวกเขาอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่า Castlevania: Nocturne

 

 

Castlevania: Nocturne เป็นแอนิเมชันที่ดึงเอาเนื้อหาจากเกมภาค Rondo of Blood (1993) และ Symphony of the Night (1997) มาใช้เป็นโครงเรื่องของภาคนี้ แต่ก็มีบางส่วนที่ผู้สร้างอย่าง Kevin Kolde และมือเขียนบท Clive Bradley เลือกที่จะเปลี่ยนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดใจแฟนเดนตายของเกมนี้มากว่า พวกเขาจะยอมรับมันได้หรือไม่

 

โดย Nocturne ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ได้ชื่อว่าเป็นทายาทคนสุดท้ายของตระกูล Belmont อย่าง Richter Belmont (ให้เสียงโดย Edward Bluemel) ที่กำลังเดินทางจากบอสตันไปฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือกลุ่มปฏิวัติที่แสวงหาอิสรภาพ กำจัดเหล่าแวมไพร์ที่เข้าร่วมการปฏิวัติในฝรั่งเศส 

 

ณ ที่แห่งนั้นเอง Maria Renard (ให้เสียงโดย Pixie Davies) เด็กสาวผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มปฏิวัติ และ Richter ได้พบกับเงื่อนงำบางอย่างที่เกี่ยวโยงกับ The Abbot (ให้เสียงโดย Richard Dormer) ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าอารามในเมือง และ Erzsebet Bathory (ให้เสียงโดย Franka Potente) แวมไพร์ร้ายที่ต้องการจะนำค่ำคืนอันเป็นนิรันดร์มาสู่โลกใบนี้

 

 

น่าสนใจว่าแม้จะต่างภาค ต่างทีมสร้างอย่างชัดเจน แต่ Nocturne ก็ยังคงรักษามาตรฐานได้เทียบเท่ากับซีรีส์ที่ออกมาก่อนหน้านี้ แต่ถึงอย่างนั้น ส่วนที่ชี้วัดความ ‘ชอบ’ หรือ ‘ไม่ชอบ’ ของ Nocturne อาจมีข้อสังเกตสำคัญอยู่อย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนรูปลักษณ์และบทบาทของตัวละครให้แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งคนที่สะดุดตามากที่สุดก็คงหนีพ้น Annette ที่โดนคำครหามาตั้งแต่ก่อนที่ซีรีส์จะฉาย เพราะตัวเธอในเกมกับแอนิเมชันนั้นดูราวกับเป็นคนละคน 

 

Annette ในเกมเป็นเพียงแค่หญิงสาวธรรมดาที่ถูกกองทัพของ Dracula ลักพาตัวไป แต่สำหรับ Annette ในแอนิเมชันเธอกลายเป็นจอมเวทสาวผู้ทรงพลังที่หนีออกมาจากการเป็นทาสของแวมไพร์ในแคริบเบียน และมีเป้าหมายในการเดินทางตามหา Richter เพื่อช่วยเหลือเขาในการป้องกันการกำเนิดของ ‘Messiah’

 

การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อคนดูที่เป็นแฟนเกมอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนสัญชาติและสีผิวของตัวละครจาก ‘ขาว’ เป็น ‘ดำ’ ที่บางคนมองว่าผู้สร้าง ‘Woke’ จนเกินเหตุ และมันช่างดูไม่เหมาะเอาเสียเลยกับโลกของ Castlevania ที่พวกเขารู้จัก ฉะนั้นมันจึงกลายเป็นเหตุผลที่เรียบง่ายที่จะต่อต้านการดัดแปลงตัวละครในครั้งนี้ และพาลเกลียดซีรีส์เรื่องนี้ไปโดยปริยาย แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับตัวเกมมาก่อนก็อาจจะไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรในส่วนนี้ 

 

ความท้าทายนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่วัดระหว่างคนเล่นในฐานะคนดู กับผู้สร้างที่ต้องการจะเล่าเรื่องราวในแบบฉบับ Original ของตัวเองว่า พื้นที่ที่พวกเขามีสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยที่บาลานซ์ระหว่างการเอาใจคนเล่นเกมกับคนที่ไม่เคยเล่น ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจจะลงเอยได้ทั้ง ‘ใครที่ชอบก็ชอบเลย’ และ ‘ใครที่เกลียดก็เกลียดเลย’

 

Castlevania: Nocturne

 

แม้พื้นหลังทางประวัติศาสตร์ของ Nocturne ที่อยู่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1792 จะมีความน่าสนใจมากกว่าเรื่องราวการแก้แค้นของตัวละคร แต่สองอย่างนี้ก็ดูจะไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างลื่นไหล ส่วนสำคัญก็มาจากรากฐานที่แข็งแรงของแฟรนไชส์ Castlevania ที่นำเสนอเรื่องราวของแวมไพร์ มนุษย์ ตัณหา และการเมืองได้อย่างมีมิติ จนทำให้เห็นว่าพวกเขาทุกคนล้วนมีเหตุผลในแบบของตัวเอง ที่สำคัญคือ ต่อให้เป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันก็ใช่ว่าจะเห็นดีเห็นงามกับทุกสิ่งอย่างเสมอไป

 

บ่อยครั้งเราจึงเห็นได้ว่าการต่อสู้ใน Nocturne หรือแม้แต่ใน Castlevania ไม่ใช่การต่อสู้ของสองเผ่าพันธุ์อย่างแวมไพร์กับมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์กับมนุษย์ หรือแวมไพร์กับแวมไพร์ ไม่ทางความคิดก็ทางการกระทำ ซึ่งความแตกต่างและซับซ้อนนี้เองที่ทำให้แฟรนไชส์ Castlevania ครองใจคนเล่นมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชัน มนต์เสน่ห์ของมันก็ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่ตอกย้ำได้ชัดเจนมากขึ้นอีกครั้ง

 

Castlevania: Nocturne

 

การนำ Erzsebet Bathory ผู้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตีความเสริมเขี้ยวและยกตัวเหมือนพระเจ้า กลายเป็นหัวใจสำคัญของซีรีส์ เมื่อความรุนแรงและโหดร้ายมาพร้อมกับพลังอำนาจที่เหล่าสาวกนับถือ แต่ในทางกลับกัน ตัวตนที่เปรียบดังพระเจ้าก็ไม่ได้มอบสิ่งใดให้กับมนุษย์เลยนอกเสียจากความสิ้นหวัง 

 

อีกทั้งนักบวชที่ควรจะยึดมั่นในพระเจ้าที่แท้จริงก็ดันไปสวามิภักดิ์ต่อเธอ จนกลายเป็นความกระอักกระอ่วนที่จะต้องพยายามต่อรองกับปีศาจที่กระหายเลือดของพวกเขาอยู่ตลอด ซึ่งการพูดถึงประเด็นทางศาสนาและการปฏิวัติฝรั่งเศสให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะในแง่ของงานภาพและอารมณ์นั้น ก็ถือเป็นจุดแข็งสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้

 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสุดท้ายที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ฉากแอ็กชัน ซึ่งเป็นจุดเด่นในซีรีส์ก่อนหน้า และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่แข็งแรงที่สุดของ Nocturne เพราะฉากแอ็กชันที่ถูกออกแบบมานั้น ไม่ว่าจะอยู่ในที่กว้างหรือที่แคบล้วนแล้วแต่แสดงถึงความคล่องตัวของแอนิเมชันเป็นอย่างมาก 

 

นอกจากนี้ รายละเอียดการเคลื่อนไหวของตัวละครเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเพิ่มหรือลดความเร็ว ผู้สร้างก็เข้าใจที่จะใช้สไตล์ศิลปะเป็นตัวส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่พวกเขากำลังเผชิญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าฉากแอ็กชันเหล่านั้นได้รับการเอาใจใส่มาตั้งแต่ขั้นตอนของการออกแบบแล้ว 

 

แต่ก็อย่างว่า สำหรับ Nocturne ที่ในปัจจุบันมีจำนวนตอนทั้งหมดเพียงแค่ 8 ตอน อะไรหลายๆ อย่างที่ถูกปูออกมาจึงยังดูเหมือนไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนัก ส่วนที่เห็นชัดก็คงเป็นเรื่องของพัฒนาการตัวละครที่ยังมองไม่เห็นถึงความลึกตื้นหนาบางเท่าที่ควร กระนั้น ก็อาจจะยังสรุปความได้ยากว่าปลายทางของซีรีส์เรื่องนี้เป็นแบบไหน มันอาจเป็นซีรีส์ที่คนรักเฉกเช่นเดียวกับ Castlevania หรือถูกสาปส่งลงนรกอย่างที่ไม่ว่าใครต่างก็ไม่อยากพูดถึง ซึ่งข้อสรุปนั้นก็คงต้องให้เวลาผู้สร้างพิสูจน์กันต่อไป

 

สามารถรับชม Castlevania: Nocturne ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix

 

รับชมตัวอย่างได้ที่: 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X