เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จัดงาน Capital Markets Day เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 เพื่อแถลงแผนธุรกิจหลังควบรวมกิจการ โดยประเด็นสำคัญอยู่ที่มูลค่า Synergy ผู้บริหารกล่าวว่า มูลค่าปัจจุบัน (PV) ของ Synergy อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสุดท้าย (Terminal Value) รวมอยู่ด้วย โดยส่วนใหญ่จะเกิดจาก:
- การเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่าย: บริษัทตั้งเป้าหมายลดจำนวนเสาโทรคมนาคมลง 30% จาก 59,000 เสาในปัจจุบัน โดยจะเริ่มใน 3Q66 ไปจนถึงปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงข่ายลงได้
- ต้นทุนการจัดซื้อที่ลดลง: บริษัทจะเจรจาต่อรองกับคู่ค้ารายสำคัญ โดยอิงกับปริมาณการซื้อขายที่มากขึ้นของบริษัท
- การดำเนินงานเชิงพาณิชย์: บริษัทวางแผนลดศูนย์บริการที่ทับซ้อนกันลง 30%
- องค์กรและการดำเนินงาน: TRUE วางแผนรวมที่ตั้งสำนักงานต่างๆ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารและค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง 30% นอกจากนี้ ผู้บริหารยังตั้งเป้าผลประกอบการกลับมาทำกำไรได้ในปี 2568 โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากบริการหลักจะเพิ่มขึ้นสู่ 63% ในปี 2570 จาก 54% ในปี 2566 และ 68% สำหรับ ADVANC
นอกจากนี้ ผู้บริหารได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะเกิด Synergy ตามแผนของบริษัท มูลค่า Synergy สุทธิ (Synergy ทั้งหมดลบด้วยต้นทุนการควบรวมกิจการ) จะยังคงติดลบในปี 2567 เพราะต้นทุนการควบรวมกิจการสูง โดยคาดว่าจะพลิกเป็นบวกในปี 2568 จาก Synergy ทั้งหมดที่สูงขึ้นและต้นทุนการควบรวมกิจการที่ลดลง
สำหรับแผนลดจำนวนเสาโทรคมนาคมที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อ DIF ผู้บริหารย้ำว่า TRUE จะยังคงเช่าเสาโทรคมนาคมกับ DIF ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2576 แต่หลังจากนั้นจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเทคโนโลยี
กระทบอย่างไร:
ในสัปดาห์นี้ ราคาหุ้น TRUE ปรับลดลง 4.61% WTD อยู่ที่ระดับ 7.25 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 2.01% WTD อยู่ที่ระดับ 1,491.98 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
InnovestX Research ประมาณการผลประกอบการปี 2566 ไว้ที่ขาดทุนสุทธิ 4.6 พันล้านบาท เนื่องจาก TRUE จะยังคงแบกรับต้นทุนการควบรวมกิจการระดับสูงในระยะแรกของการควบรวม นอกจากนี้ยังเล็งเห็น Downside ต่อประมาณการปี 2567 เนื่องจากคาดว่า TRUE จะกลับมามีกำไรในปี 2567 เทียบกับที่ผู้บริหารมองไว้ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า TRUE มีโอกาสเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้หลังจากควบรวมกิจการ แม้ว่าจะต้องใช้เวลา โดยมีสาเหตุมาจากมาตรการเยียวยาจาก กสทช. EBITDA Margin ของ TRUE ยังต่ำกว่า ADVANC ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการสูงกว่า ในแง่ Upside ของ ARPU หลังจากที่อุตสาหกรรมมีผู้เล่นหลักในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่เหลือเพียง 2 ราย (TRUE และ ADVANC) ยังต้องติดตามกันต่อไป เนื่องจากคาดว่า กสทช. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการระยะสั้นใน 3Q66 คาดว่าจะดีขึ้น QoQ และ YoY โดยได้แรงหนุนจากค่าใช้จ่ายการตลาดที่ลดลงและรายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่แข็งแกร่งขึ้น
ทั้งนี้ แม้มูลค่า Synergy ที่ TRUE ตั้งเป้าไว้ที่ 2.5 แสนล้านบาท สูงกว่าที่ InnovestX Research คาดการณ์ไว้ที่ 7.0 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทเชื่อว่ามูลค่า Synergy สุทธิจะเป็นบวกในปี 2568 และจะหนุนให้บริษัทกลับมามีกำไรในปีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ จึงเชื่อว่านักลงทุนน่าจะรอดูสถานการณ์และติดตามพัฒนาการของแผนงานความร่วมมือต่อไป
โดยกลยุทธ์การลงทุนยังคงเรตติ้ง Neutral สำหรับ TRUE ด้วยราคาเป้าหมายอ้างอิงวิธี DCF ที่ 7.5 บาทต่อหุ้น (WACC 5.5% และ LTG 2%) หาก TRUE สามารถทำมูลค่า Synergy ได้ตามเป้าที่ 2.5 แสนล้านบาท ราคาเป้าหมายดังกล่าวจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 12.7 บาทต่อหุ้น
ปัจจัยเสี่ยงและความกังวลที่ต้องติดตามคือ ความคืบหน้าที่ช้ากว่าคาดของแผนควบรวมกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อมูลค่า Synergy โดยรวม