ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ (28 กันยายน) ในคดีที่จำเลย 4 คนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการฆาตกรรม พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างกล้าหาญของบิลลี่เป็นเหตุให้เขาต้องเสียชีวิต และทำให้ครอบครัวของเขาต้องตกอยู่ในภวังค์แห่งฝันร้าย เพราะต้องเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจ เกิดความสงสัย และต้องการทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับการหายตัวไปของบิลลี่ ระหว่างที่พวกเขาพยายามค้นหาความจริง พวกเขาควรได้ทราบเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ และต้องค้นหาความจริงเพื่อตามหาผู้รับผิดชอบต่อการฆาตกรรมที่น่าสะเทือนขวัญครั้งนี้ โดยจะต้องนำผู้กระทำความผิดมารับการตัดสิน เพื่อนำไปสู่การรับผิดตามกระบวนการยุติธรรม
“การพิพากษาที่กำลังจะมีขึ้นนี้ ล่าช้ามาเป็นระยะเวลายาวนาน และจะเป็นเสมือนบททดสอบสำคัญต่อระบบยุติธรรมของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการให้ความยุติธรรมกับเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายมานานเกินกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ฝ่ายตุลาการมีโอกาสที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการแก้ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยรับประกันให้เกิดการดำเนินงานที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นโอกาสที่ทางการไทยจะแสดงความเป็นผู้นำด้วยการทำให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั่วประเทศทราบว่า วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดจะต้องยุติลง คนที่กระทำความผิดต้องได้รับโทษ และทางการจะไม่ยอมอนุญาตให้มีการบังคับให้บุคคลใดต้องสูญหายอีกต่อไป”
ชนาธิปกล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่ของไทยยังจะต้องให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) รวมทั้งพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) โดยทันที เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมที่โหดร้ายแบบที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ได้อีก และผู้กระทำจะต้องรับผิดรับชอบโดยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างรวดเร็ว
สำหรับบิลลี่พบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังจากที่เขาเดินทางออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย โดยมีข้อกล่าวหาว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวไว้ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าครอบครองน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย
ในช่วงที่ถูกจับกุม บิลลี่อยู่ระหว่างเดินทางไปประชุมกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ เพื่อเตรียมตัวก่อนจะมีการไต่สวนคดี ซึ่งชาวบ้านได้ฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เหตุบังคับไล่รื้อชุมชนชาวกะเหรี่ยงและเผาบ้านเรือนของพวกเขา บิลลี่ยังขนย้ายเอกสารจำนวนมากเกี่ยวกับคดีติดตัวไปด้วย และไม่มีผู้ใดได้พบเห็นเอกสารเหล่านั้นอีก
5 ปีต่อมาในวันที่ 3 กันยายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงว่า พบเศษซากศพของบิลลี่ในถังน้ำมันที่ถูกเผาบริเวณก้นอ่างเก็บน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นจุดที่เขาหายตัวไประหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เสนอให้พนักงานอัยการฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน ที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมและควบคุมตัวบิลลี่ รวมทั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและเจ้าหน้าที่อีก 3 คน
แม้จะมีความคืบหน้าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในการสอบสวน พนักงานอัยการของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 กลับ สั่งไม่ฟ้องในทุกข้อกล่าวหา ตามที่เสนอเมื่อเดือนมกราคม 2563 ในเดือนสิงหาคม 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) อีก 2 ปีต่อมาได้เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โดย อส. ได้พิจารณาสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คนใน 5 ข้อหา รวมทั้งลักพาตัวและฆาตกรรมบิลลี่ ซึ่งทั้ง 4 คนให้การปฏิเสธ
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทย เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ก่อนหน้านั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการ เพื่อรับประกันให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสอดคล้องตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้หลังการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 คนในคดีของบิลลี่ พวกเขาจึงไม่ถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายในกฎหมายใหม่นี้แต่อย่างใด
แม้จะประกาศใช้กฎหมายในประเทศ รัฐบาลไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญา ICPPED และพิธีสาร OPCAT ทั้งนี้ เมื่ออ้างอิงตามข้อมูลของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประเทศไทยยังมีบุคคลที่เป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยอยู่อีก 76 คน โดยเป็นผู้ชาย 70 คน และผู้หญิง 6 คน