วันนี้ (27 กันยายน) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 3.24% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน หรือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ด้านผู้เชี่ยวชาญประเมินว่ามีโอกาสทะยานถึง 3.4% ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า
ทั้งนี้อัตราผลตอบแทน (Bond Yield) ที่สูงขึ้น หมายความว่าราคาพันธบัตรในตลาดรองจะลดลง ซึ่งสะท้อนได้ว่านักลงทุนได้เทขายพันธบัตรไป
สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การปรับตัวขึ้นของ Bond Yield รอบนี้มาจากปัจจัยรุมล้อม ทั้งนอกประเทศ และในประเทศ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่มีน้ำหนักมากกว่าคือปัจจัยในประเทศ ได้แก่ แผนการออกบอนด์ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นจาก 1.07 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 เป็น 1.25 ล้านล้านบาทในปี 2567 ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ เป็นแรงกดดันให้ Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้น
โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวขึ้นมาประมาณ 30-40 Basis Point ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ
นอกจากนี้ สงวนยังมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ Bond Yield 10 ปีของไทยจะแตะระดับ 3.35-3.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2557 ภายในไตรมาสแรกปี 2567 โดยปัจจัยที่ต้องจับตาดูคือการเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ส่วนปัจจัยภายในก็ต้องดูว่าในระยะข้างหน้าผลการประมูลในแต่ละสัปดาห์จะเป็นอย่างไร ทั้งกำลังซื้อ, Appetite และดีมานด์ของนักลงทุนสถาบัน เป็นต้น
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว หาก Bond Yield สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นจะดึง Bond Yield ทั่วโลกปรับตัวขึ้น โดยวันนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 4.5% ปรับตัวเพิ่มแตะระดับสูงสุดนับตั้งปี 2550 โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง หลังจากเพิ่งหยุดขึ้นไปชั่วคราว รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะประสบภาวะชัตดาวน์
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบจากพันธบัตรของรัฐบาลอินเดียเพิ่งได้เข้าร่วม Bond Index ของ JPMorgan โดยอินเดียจะได้รับการจัดสรรน้ำหนักสูงสุดถึง 10% ในดัชนีตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะเริ่มในเดือนมิถุนายนปีหน้า หมายความว่าอินเดียจะเบียดประเทศอื่นๆ ให้ลดน้ำหนักลงไป รวมถึงประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ดี สงวนกล่าวว่า การลดน้ำหนักดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากเสถียรภาพการคลัง แต่เป็นผลมาจากการที่มีสมาชิกใหม่เข้ามาในตะกร้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตตามดัชนี แม้ว่าดัชนีจะเริ่มกลางปีหน้า แต่ตลาดก็ตอบรับไปก่อนแล้ว
กระนั้น ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่อาจเกิดขึ้น เช่น หากนโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนขึ้น และการใช้จ่ายของรัฐบาลสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาทในไตรมาสแรก