บียอนเซ่ โนวส์ (Beyoncé Knowles) ได้ทำให้การแสดงบนเวที Coachella 2018 กลายเป็นที่จดจำไปอีกนาน ด้วยการเปลี่ยนงาน Coachella ให้กลายเป็น #Beychella แบบเก๋ๆ จนกลายเป็นแฮชแท็กสุดฮิตทันที
ในฐานะที่เธอเป็นศิลปินหญิงผิวสีคนแรกที่ได้ขึ้นเฮดไลน์ในงาน Coachella แม่บียอนเซ่ก็ใช้พื้นที่โชว์บนเวทีครั้งนี้ในการประกาศศักดาให้โลกรู้ถึงสิทธิสตรีผิวสีได้อย่างคุ้มค่าและสมศักดิ์ศรี เพราะตั้งแต่ธีมของโชว์ ผู้ร่วมโชว์บนเวที ไปจนถึงเพลงที่เธอเลือกมาร้อง ต่างซ่อนสัญลักษณ์ที่มีความหมาย และทุกอย่างถูกออกแบบไว้หมดแล้ว
สีทองและสีดำ
จะเห็นว่าในโชว์ครั้งนี้สีหลักเป็นสีทอง (หรือเหลือง) และสีดำ ซึ่งตรงกับสีประจำกลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า ‘Alpha Phi Alpha’ กลุ่มที่ตั้งชื่อจากตัวอักษรกรีก สร้างโดยนักศึกษาชาวแอฟริกัน-อเมริกันในปี 1906 ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมคนผิวสีกลุ่มแรกอีกด้วย
บทความจาก Forbes (www.forbes.com)
I’m so glad Beyoncé finally decided to do majorette dancing if this is the new wave for solo bey I’m here for it pic.twitter.com/zNEXF48xzp
— Foxxy cleopatra (@Official_Lament) 15 เมษายน 2561
ธีม HBCUs
บียอนเซ่เชิญวงมาร์ชชิงแบนด์กว่า 200 คนมาร่วมแสดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มมหาวิทยาลัยคนผิวสี HBCUs หรือ Historically Black Colleges and Universities ซึ่งเธอเองก็เป็นผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในกลุ่ม HBCUs ด้วย นั่นคือ Spelman College ที่ก่อตั้งในปี 1881
กลุ่ม HBCUs เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นก่อนมีกฎหมายสิทธิพลเมืองปี 1964 เพื่อช่วยส่งเสริมชุมชนคนผิวสีในอเมริกา เนื่องจากในช่วงนั้นมีการปฏิเสธนักศึกษาผิวสีให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของคนผิวขาว โชว์ของบียอนเซ่ในครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของ HBCUs ทั้งคอสตูมบนเวที กราฟิกในโชว์ ไปจนถึงแฮชแท็ก #HBeyCU
เสื้อ BAK
แฟนคลับของบียอนเซ่หลายคนต่างหาความหมายของตัวหนังสือบนเสื้อสีเหลืองทองที่ดีไซน์โดย Balmain การใช้ตัวสะกดว่า ‘B + (พีระมิด) + K’ ที่คล้ายเสื้อกีฬาโรงเรียน บางคนบอกว่าเสื้อของเธออ่านว่า BAK ที่อาจเป็นตัวย่อของชื่ออัลบั้มใหม่ บางคนก็บอกว่ามันคือตัวอักษรกรีกตามธีมการตั้งชื่อกลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจหมายถึง B-Beyonce Δ-Delta (ตัวอักษรตัวที่ 4 ในภาษากรีก ซึ่ง 4 คือเลขโปรดของบียอนเซ่) และ K มาจาก Kappa หรือ Knowles นามสกุลของเธอนั่นเอง อย่างไรก็ตามการใช้ตัวอักษรดังกล่าวเป็นลายบนเสื้อ ยิ่งย้ำธีม HBCUs ที่เธอตั้งใจจะใส่ไว้ในโชว์
This is our Dean….. This is our Queen!!!!! pic.twitter.com/PrQFTnFN1b
— Thrillmonger (@Boowie84) 15 เมษายน 2561
ทุนการศึกษา
ธีม HBCUs ของเธอไม่ได้จริงจังแค่บนเวที แต่บียอนเซ่ยังลงมือทำจริงด้วยการมอบเงิน 25,000 เหรียญสหรัฐ ให้กับกลุ่มวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยใน HBCUs เพื่อใช้เป็นทุนการศึกษาในปี 2018-2019 ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมาจากโชว์ #Beychella ในครั้งนี้นี่เอง
เยาวชนทั้งหญิงและชายผู้โชคดี (และแน่นอนว่ามีผลการเรียนดี เกรดตั้งแต่ 3.5 ขึ้นไป) จำนวน 1 คน จากมหาวิทยาลัย 4 แห่งได้แก่ Xavier University of Louisiana, Wilberforce University, Tuskegee University และ Bethune-Cookman University จะได้รับทุนการศึกษานี้ไป ซึ่งอาศัยการตัดสินใจจากมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นหลัก โดยการมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ยังเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ BeyGood ของบียอนเซ่อีกด้วย
ที่มา: assets.nydailynews.com
เพลงชาติคนผิวสี
บียอนเซ่ยังให้เกียรติกลุ่มคนผิวสีด้วยการเลือกร้องเพลงที่เหมือนเป็นเพลงประจำชาติของคนผิวสีอย่าง Lift Every Voice and Sing เพลงตั้งแต่ปี 1905 ที่เรียบเรียงโดยนักร้องนักแต่งเพลง J. Rosamond Johnson ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งจากบทกลอนของพี่ชาย James Weldon Johnson นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางสังคม เธอแสดงสดเพลงดังกล่าวในเวอร์ชันของตัวเอง ด้วยการมิกซ์เข้ากับเพลง Freedom จากอัลบั้ม Lemonade (2016) ซึ่งเป็นอัลบั้มที่เราได้เห็นบียอนเซ่หันมาพูดเรื่องราวทางสังคมของคนผิวสีอย่างสุดโต่งและกล้าหาญ
Powerful! @Beyonce singing James Weldon Johnson’s “Lift Every Voice and Sing” during her historic performance as the first Black woman to headline #Coachella ✊?#BlackNationalAnthem #becauseofthemwecan pic.twitter.com/pCDaY9XOba
— #becauseofthemwecan (@Becauseofthem) 15 เมษายน 2561
พลังครอบครัว และผู้หญิงผิวสี
บียอนเซ่เป็นศิลปินหญิงผิวสีคนแรกที่ได้ขึ้นโชว์เฮดไลน์งาน Coachella ซึ่งเธอพูดบนเวทีว่า “Thank you Coachella, for allowing me to be the first Black woman to headline Coachella. Ain’t that about a bitch?” คำพูดของเธอแอบเสียดสีงานดนตรีระดับโลกว่าใช้เวลานานเหลือเกินกว่าจะมีศิลปินหญิงผิวสีมาอยู่ในเฮดไลน์ได้ นอกจากนี้เธอยังชวนทีมศิลปินหญิงผิวสีสุดทรงพลังอย่าง Michelle Williams และ Kelly Rowland จาก Destiny’s Child มาร่วมโชว์ในเมดเลย์เพลง Lose My Breath, Say My Name และ Soldier
ส่วน โซแลง โนว์ลส์ น้องสาวสุดเท่ของเธอ ก็มาร่วมเต้นเพลง Get Me Bodied เหมือนตอนที่บียอนเซ่ไปเต้นกับน้องสาวในปี 2014 ที่งาน Coachella เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้บียอนเซ่ยังแสดงความรักที่มีต่อครอบครัวและบรรพบุรุษตามหลักของกลุ่มคนผิวสี ซึ่งเธอเกิดและเติบโตที่เมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส เธอได้แทรกกลิ่นอายเพลงอเมริกาตอนใต้และสไตล์นิวออร์ลีนส์เข้าไป ที่พีกอีกอย่างคือการที่แฟนๆ ยังได้ดูเซอร์ไพรส์กับการที่สามีของบียอนเซ่ เจ้าพ่อแรปเปอร์ Jay-Z มาร่วมในโชว์ด้วย
ที่มา: consequenceofsound.files.wordpress.com/2018/04/beyonce-coachella.png?w=807
ถ้ามองเผินๆ โชว์ครั้งนี้ของบียอนเซ่คงจะเป็นโชว์อลังการที่ไม่ทำให้แฟนคลับผิดหวัง แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้โชว์ในครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยความหมายที่ต้องการจะเชิดชูวัฒนธรรมของกลุ่มคนผิวสี รวมไปถึงการส่งเสริมให้กลุ่มคนผิวสีอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมและทรงพลังที่สุด
ล่าสุดทางคุณแม่ของบียอนเซ่ Tina Knowles ได้โพสต์รูปในอินสตาแกรมของตัวเอง @mstinalawson ว่า ในตอนแรกเธอได้บอกลูกสาว เป็นห่วงว่าคนดูที่ Coachella ซึ่งส่วนมากเป็นคนผิวขาวจะไม่เข้าใจความหมายของโชว์ในครั้งนี้ แต่บียอนเซ่ได้ตอบกลับแม่ว่า เธอได้สู้ในฐานะศิลปินมาตลอดชีวิตเพื่อให้มาถึงจุดนี้ เธอไม่ได้สนใจว่าการแสดงจะได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ต้องการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมและหวังว่าคนรุ่นใหม่จะหันมาสนใจวัฒนธรรม HBCUs ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง แถมให้คนผิวสีในอเมริกาเองก็อยากไปเรียนในมหาวิทยาลัยผิวสีอีกด้วย
แน่นอนว่าโชว์ในงาน Coachella ครั้งนี้ คุณแม่บียอนเซ่ทำสำเร็จในการสร้างสรรค์โชว์ที่เปลี่ยนงาน Coachella ให้กลายเป็น #Beychella และมันจะถูกจดจำไปตลอดกาล