TDRI เตือนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นแค่ระยะสั้น ห่วงเงินเฟ้อพุ่ง สร้างภาระการคลัง กดดันรัฐบาลต้องรีดภาษีเพิ่มในอนาคต แนะปรับเงื่อนไขมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เฉพาะกลุ่มคนมีรายได้น้อยและจำเป็น พร้อมยกเลิกเงื่อนไขเรื่องระยะทางตามทะเบียนบ้าน
กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกมาแสดงข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านบทสัมภาษณ์ชื่อ ‘เศรษฐกิจไทย ใต้เงารัฐบาลเศรษฐา สำรวจความเสี่ยงที่ต้องรับมือ’ ซึ่งล่าสุดมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ TDRI
ในบทความดังกล่าว กิริฎาให้ความเห็นถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลว่า วัตถุประสงค์หลักของดิจิทัลวอลเล็ต คือความต้องการที่อยากจะกระตุ้นการบริโภค อยากให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ด้วยการบริโภค ซึ่งมองตามตรงคงจะมีส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้จริง เพราะเงินที่เอาเข้ามาในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะ คิดเป็นเกือบ 3% ของ GDP หรือมูลค่าเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจในปีหน้าโตได้ถึง 5% แต่อาจเป็นการโตในระยะสั้น เพราะเงินที่ลงมาใช้ได้ 6 เดือนก็อาจทำให้เกิดการหมุนในเศรษฐกิจบ้าง
ส่วนที่ว่าเงินที่ลงมาจะหมุนในระบบเศรษฐกิจได้กี่เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วเมื่อมีการแจกเงินให้กับทุกคน และมีเงื่อนไขว่าใช้ได้ในระยะทางที่จำกัด และในเวลาที่จำกัด อาจหมุนได้ไม่มาก เช่น ลงมา 1 บาท ได้ผลประมาณใกล้ๆ 1 บาท แต่ถ้านำเงินนี้ไปให้คนที่มีรายได้น้อย พอได้เงินก็อาจนำเงินไปใช้เลยทันที หรืออาจมีการใช้หมดเลย ไม่เหมือนคนที่มีรายได้ปานกลาง หรือรายได้สูง อาจใช้ไม่หมด เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้มีตัวคูณเยอะต้องให้กับคนมีรายได้น้อย ซึ่งเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาท ก็จะได้ตัวคูณประมาณหมื่นกว่าบาท
“ฉะนั้นเรื่องการให้เงิน มองว่าอาจได้ผลในระยะสั้นในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ผลระยะต่อไปอาจทำให้ราคาของแพงขึ้น เพราะมีเงินเทลงมาอย่างรวดเร็วในปริมาณมหาศาล เงินเฟ้อเขยิบขึ้น เมื่อเงินเฟ้อขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจมองว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะไปลดความร้อนแรงของความต้องการสินค้าและบริการ อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อลง แน่นอนผลระยะยาว เงินที่ได้มาไม่มีอะไรฟรี เป็นภาระด้านการคลัง ภาระกระเป๋าของรัฐบาล เพราะฉะนั้นอาจต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อที่จะมาใช้หนี้”
ทั้งนี้ กิริฎาเสนอแนะว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตควรมีการปรับเงื่อนไข โดยให้แบบเจาะกลุ่ม ให้คนที่มีรายได้น้อย คนที่จำเป็นจะดีที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้มีความต้องการใช้เงิน และจะเอาเงินไปใช้ทันที เงินจะไปหมุน อาจทำให้ตัวคูณทางเศรษฐกิจได้มากกว่าหนึ่งเท่านิดๆ นอกจากนี้รัฐต้องไม่จำกัดเงื่อนไขเรื่องระยะทางตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้คนที่อาจไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาที่มีทะเบียนบ้านสามารถใช้ได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับบ้าน
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกของ TDRI ยังให้ความเห็นถึงนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ของภาครัฐ เช่น การพักหนี้เกษตรกร การลดราคาพลังงาน และการเปิดฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน โดยระบุว่า นโยบายพักหนี้เกษตรกรและ SMEs ควรจะทำแบบเจาะกลุ่มเหมือนกัน เพราะไม่ใช่เกษตรกรทุกคน หรือ SMEs ทุกคนมีความเดือดร้อน หรือมีปัญหา ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพักหนี้ให้ทุกคน โดยอาจมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ต้องบริหารเงิน หรือทำบัญชี เพื่อที่จะได้กู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐต้องไปให้ความรู้ และวิธีการกับทาง SMEs หรือเกษตรกร ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยเสริมได้ เพราะการพักหนี้ทุกคนเป็นภาระกับรัฐบาลค่อนข้างมาก
อีกนโยบายหนึ่ง คือการลดราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซลกับค่าไฟ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนให้ประชาชน ให้ธุรกิจ บริษัทห้างร้านที่จะต้องใช้ไฟฟ้า หรือน้ำมันดีเซลในการขนส่ง อย่างไรก็ดี การลดราคาพลังงานเหล่านี้ลง หมายถึงการที่ภาครัฐต้องใช้เงินอุดหนุนไปก่อน ซึ่งใช้งบประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาท สำหรับการอุดหนุนถึงปลายปีนี้ ถ้ามีการยืดมาตรการไปถึงปีหน้าก็จะต้องอุดหนุนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะเป็นภาระต่อการคลังของรัฐบาลที่จะต้องหาเงินมาใช้
ส่วนนโยบายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ฟรีวีซ่ากับนักท่องเที่ยวจีน หรือ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นๆ มองว่ามีส่วนดีที่จะทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกสบายขึ้นในการตัดสินใจมาเที่ยวไทย เพราะไม่ต้องขอวีซ่าเลย แต่ต้องไม่ลืมว่าการที่ไปจะเที่ยวที่ไหน แล้วที่นั่นไม่ต้องทำวีซ่า ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจจะไปเที่ยว แต่ต้องดูถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ด้วย
“ทุกวันนี้การที่นักท่องเที่ยวจีนจะมาไทย ค่าใช้จ่ายไม่ถูกเหมือนสมัยก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ตอนนี้ค่าตั๋วเครื่องบินจากเซี่ยงไฮ้หรือปักกิ่งมาไทยแพงกว่าเดิมเท่าตัว ถ้ามาจากคุนหมิงแพงกว่าเดิมเป็นสองเท่า ก็เท่ากับราคาคูณสามไปเลย แล้วตอนนี้รัฐบาลจีนเองก็มีโปรโมชันให้จีนเที่ยวจีน เที่ยวในประเทศเขาเอง ลดค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หรืออาจมีเงินช่วยเหลือด้วยเหมือนอย่างที่เราเคยทำนโยบายไทยเที่ยวไทย ดังนั้นปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายอาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนอาจไม่อยากออกมาเที่ยวนอกประเทศมากเหมือนเดิมแม้จะฟรีวีซ่าก็ตาม”
ในส่วนของค่าแรง ที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคมปีหน้า กิริฎาระบุว่า เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถามก่อนว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรมควรจะเป็นเท่าไร เพราะทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 336 บาทต่อวัน แน่นอนว่าแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน
“ถ้าถามว่า 336 บาทต่อวันเพียงพอหรือเป็นธรรมไหม วิธีที่เราดูเราลองย้อนกลับไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และก็ดูว่าจากวันนั้นถึงวันนี้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปเท่าไร ราคาของเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ดูด้วยว่าผลิตภาพของแรงงาน เขาสามารถผลิตของได้เพิ่มขึ้นต่อคนกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่า 12 ปีผ่านไป ค่าแรงขั้นต่ำควรเป็น 380 บาท ดังนั้นค่าแรงปัจจุบันที่อยู่ที่ 336 บาทถือว่าต่ำไป เพราะเราไม่ได้ขึ้นมาหลายปี แต่ 400 บาทก็อาจมากไปนิดหนึ่ง”
นอกจากนี้ ผลกระทบหลังจากปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะมีหลายเรื่องที่ตามมา เช่น เงินเฟ้อ การเลิกจ้างบางส่วน การปรับตัวของภาคธุรกิจในการนำเครื่องจักร Automation มาใช้แทนแรงงานคนมากขึ้น และเป็นไปได้ว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อาจย้ายที่ตั้งจากจังหวัดหรือพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานไม่ค่อยดี ไปสู่เมืองใหญ่มากขึ้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง ซึ่งทำให้จังหวัดที่ไม่มีการพัฒนามากเท่าไรก็จะทำให้ถดถอยลงไปอีก
เมื่อถามว่ามีข้อห่วงใย หรือข้อแนะนำสำหรับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างไรบ้าง ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกของ TDRI ระบุว่า ขณะนี้ที่เห็นมีแต่นโยบายในระยะสั้น ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลต้องรีบทำ ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือการบริโภคของประชาชน แต่มีความเป็นห่วงว่าอาจช่วยได้ในระยะสั้นเท่านั้น เศรษฐกิจฟูขึ้นมาในระยะสั้น และฟีบกลับลงไป จะทำให้เราไม่สามารถที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป มีภาระการคลังที่ตามมา ยังไม่พูดถึงราคาของที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น พวกนี้เป็นความเป็นห่วงที่มีต่อมาตรการที่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภค
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐเองก็มีมาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยว หรือมาตรการระยะยาว อย่างการเจรจา FTA Free Trade Agreement กับประเทศอื่นให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ไทยยังมี FTA ไม่มากเมื่อเทียบกับเวียดนาม ขณะเดียวกันยังมีแผนจะโปรโมตการค้าชายแดน หรือ EEC ให้โปรโมชันได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะส่งเสริมการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการลงทุน หรือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยคาดหวังจะเห็นรายละเอียดที่มากขึ้นของมาตรการเหล่านี้
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่: