อาเซอร์ไบจานประกาศยุติปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) แล้ว หลังจากกองกำลังแบ่งแยกดินแดนอาร์เมเนียในพื้นที่พิพาทดังกล่าวยอมจำนนและตกลงที่จะหยุดยิง ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวจะกลับคืนสู่การควบคุมของรัฐบาลอาเซอร์ไบจาน
ภายใต้ข้อตกลงที่ได้รับการยืนยันจากทั้งสองฝ่าย และมีผลตั้งแต่เวลา 13.00 น. (16.00 น. ตามเวลาไทย) ของวันพุธ (20 กันยายน) นั้น กองกำลังแบ่งแยกดินแดนจะสลายกำลังและปลดอาวุธ ขณะที่การหารือเกี่ยวกับอนาคตของภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคและกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้จะเริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสบดี
อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่เรียกภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคว่า ‘สาธารณรัฐอาร์ตซัค’ (Republic of Artsakh) กล่าวว่า พวกเขาถูกบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขของอาเซอร์ไบจาน หลังจากที่กองทัพของอาเซอร์ไบจานบุกทะลวงแนวรบของพวกเขา และยึดพื้นที่ทางยุทธศาสตร์หลายแห่ง โดยที่สาธารณรัฐอาร์ตซัคไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาประเทศเลย
นากอร์โน-คาราบัค ซึ่งตั้งอยู่ในแถบเทือกเขาคอเคซัส ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าเป็นดินแดนของอาเซอร์ไบจาน แต่พื้นที่ส่วนหนึ่งของภูมิภาคนี้อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาร์เมเนีย ซึ่งประกาศว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษ
รายงานข่าวระบุว่า ชาวอาร์เมเนียที่หวาดกลัวว่าอนาคตจะไม่ปลอดภัยต่างเดินทางไปที่สนามบินในเมืองสเตปานาเคิร์ต (Stepanakert) เมืองเอกของนากอร์โน-คาราบัค หรือที่อาเซอร์ไบจานเรียกว่าเมืองคันเกนดี (Khankendi) บ้างก็เลือกหนีไปหลบภัยอยู่กับเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของรัสเซีย
ทั้งนี้ อาเซอร์ไบจานได้เปิดฉากยิงปืนใหญ่โจมตีกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียในดินแดนพิพาทนากอร์โน-คาราบัค และส่งทหารเข้าไปยังพื้นที่เมื่อวันอังคาร ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อยึดพื้นที่ดังกล่าวคืนจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ตั้งตนปกครองนากอร์โน-คาราบัค โดยอาเซอร์ไบจานประกาศว่าไม่สามารถทนต่อสถานการณ์ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและอธิปไตยเหนือดินแดนของตนได้อีกต่อไป นอกจากนี้ อาเซอร์ไบจานยังวางแผนที่จะรวมชาวอาร์เมเนียชาติพันธุ์ 120,000 คนในพื้นที่ และจะคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มนี้ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ
อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลอาเซอร์ไบจานยืนยันว่าจะให้การปกป้องคุ้มครอง แต่ชาวอาร์เมเนียบางส่วนในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคยังคงกังขา เนื่องจากภูมิภาคนี้เคยตกเป็นสมรภูมิการสู้รบมาแล้วถึงสองครั้ง นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านคู่กรณีอย่างอาร์เมเนียกล่าวหาอาเซอร์ไบจานว่าพยายามกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนดังกล่าว ซึ่งอาเซอร์ไบจานปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
“โดยแท้จริงแล้ว พวกเขากำลังบอกว่าเราต้องออกไป อย่าอยู่ที่นี่ หรือยอมรับว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน โดยแท้จริงแล้ว นี่คือปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์” รูเบน วาร์ดันยัน อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในฝ่ายบริหารกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัค กล่าวกับ Reuters
เขาระบุด้วยว่า มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคนในการสู้รบ อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Reuters ไม่สามารถยืนยันตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าวได้
ชัยชนะทางทหารของอาเซอร์ไบจานที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี และมีกองกำลังมากกว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาก อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาร์เมเนีย ซึ่งกองกำลังทางการเมืองบางส่วนโกรธแค้นที่รัฐบาลอาร์เมเนียไม่ทำอะไรมากกว่านี้เพื่อปกป้องชาวอาร์เมเนียในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค โดยขณะนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากฝ่ายค้านให้นายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชินเนียน ของอาร์เมเนีย ลาออกจากตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ชาวอาร์เมเนียบางส่วนยังโกรธเคืองรัสเซียด้วยเช่นกันที่ไม่สามารถหยุดยั้งอาเซอร์ไบจานได้ ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของรัสเซียหลายพันคนประจำการในนากอร์โน-คาราบัค อีกทั้งมอสโกยังเคยช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2020 หลังสงครามปะทุและยืดเยื้ออยู่ 44 วัน
อย่างไรก็ดี เครมลินปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว และอ้างคำกล่าวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่า เจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพรัสเซียจะปกป้องพลเรือนในนากอร์โน-คาราบัคต่อไป ด้านกระทรวงกลาโหมของรัสเซียได้เผยแพร่ภาพของชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัคที่หนีการสู้รบไปพักพิง ณ ฐานทัพชั่วคราวของรัสเซีย
ปฏิบัติการทางทหารของอาเซอร์ไบจานเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสหรัฐอเมริกาและบางประเทศในยุโรป ซึ่งระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในนากอร์โน-คาราบัคควรได้รับการแก้ไขผ่านการเจรจา และการเปิดฉากโจมตีของอาเซอร์ไบจานทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคเลวร้ายลงไปอีก หลังจากถูกอาเซอร์ไบจานปิดล้อมพื้นที่มานานถึง 9 เดือน
ภาพ: Karen MINASYAN / AFP
อ้างอิง: