จากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่เสนอให้แบ่ง จ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 รอบ จากเดิมที่จ่ายทุกสิ้นเดือนอาจปรับเป็นการจ่ายทุกๆ ครึ่งเดือนและสิ้นเดือน จนนำไปสู่การถกเถียงกันในวงกว้าง ทั้งในส่วนของผลดีและผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
นายกฯ แจง เสนอเป็นทางเลือก
ล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นดังกล่าวผ่านบัญชี X (Twitter) ส่วนตัว @Thavisin ว่า เข้าใจว่าเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นการเสนอทางเลือกใหม่ อาจจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ขอยืนยันว่ารัฐบาลเสนอให้เป็นทางเลือก
ปัจจุบันเงินเดือนจ่ายเดือนละครั้งเดียว ความตั้งใจของรัฐบาลในการแบ่งจ่ายเงินเดือนราชการ 2 ครั้งคือ เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ สำหรับคนที่มีหนี้สามารถไปจ่ายหนี้สินคืนได้เร็วขึ้น แก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง และถ้าจะแบ่งจ่ายหนี้สินเป็น 2 งวดในความเป็นจริงก็สามารถบริหารจัดการได้
สำหรับคนที่ไม่มีหนี้ก็สามารถนำเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่น ลงทุนหรือไปฝากธนาคารได้ รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดเพราะจ่ายเร็วขึ้น แต่คำนึงถึงทุกมิติของการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ เพราะนโยบายนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เป็นการ Re-Program การจ่ายเงินใหม่เท่านั้น ซึ่งเราคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย
ด้าน ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร และว่าที่ปลัดกระทรวงการคลัง มองว่า การให้ข้าราชการเลือกได้ว่าจะรับเงิน 1 งวด หรือ 2 งวดต่อเดือน เป็นเรื่องที่ดี เพราะรูปแบบชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน นโยบายดังกล่าวจึงทำให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
“ข้าราชการบางคนอาจชอบแบบจ่ายทุก 15 วันก็ได้ ถ้าไม่มีหนี้สิน ไม่ได้กู้สหกรณ์ อาจต้องการจ่ายแบบทุก 15 วัน” ลวรณกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การจ่ายเงินเดือน 2 รอบจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ ลวรณตอบว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะทำให้เงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นตามหลักอัตราการหมุนของเงิน (Velocity of Money) ในทางเศรษฐศาสตร์
ศิริกัญญาหวั่น กระทบการจ่ายงวดหนี้
ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มองว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ที่ไม่มีเวลาเตรียมตัวอาจประสบปัญหา เพราะต้องแลกระหว่างได้เงินก้อนกับสภาพคล่อง หลายคนอาจมีหนี้สินที่ต้องจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่ในช่วงต้นเดือนอยู่แล้ว ต้องไปปรับตัว ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากกับข้าราชการค่อนข้างมาก ซึ่งตนคิดว่า ถ้าอยากช่วยข้าราชการจริงๆ สิ่งที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ข้าราชการได้เลยคือเรื่องตัดหน้าซองหนี้จะดีกว่า
“ทุกวันนี้มีปัญหาการตัดหนี้ที่ทำให้หน้าซองเงินเดือนเหลือไม่ถึง 10% ของเงินเดือน บางคนถูกตัดหน้าซองเหลือไม่ถึง 1,000 บาท เรื่องนี้มีการรณรงค์พูดกันมาหลายปีว่าอยากให้ตัดหน้าซองให้เหลือไม่ต่ำกว่า 30% แม้เรื่องหนี้ข้าราชการจะถูกตั้งเป็นวาระแห่งชาติมาหลายปี แต่ก็ยังไม่สำเร็จ หากอยากเพิ่มสภาพคล่องให้ข้าราชการ ตัด 2 รอบแบบนี้ไม่เวิร์ก หันมาแก้หนี้ให้กับข้าราชการด้วยการตัดหน้าซองให้เหลือเกิน 30% น่าจะช่วยสภาพคล่องข้าราชการมากกว่า”
ศิริกัญญากล่าวต่อว่า แต่ละคนมีหนี้สินต่างกัน บางส่วนเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ยังสามารถให้ตัดทีละครึ่งได้ แต่หากเป็นหนี้สถาบันการเงิน อาทิ การเช่าซื้อรถยนต์ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจ ดังนั้นหลายคนอาจมีปัญหาเงินขาดมือกะทันหัน ถ้าเงินออกทีละครึ่งเดือนน่าจะทำให้เหลือเงินไม่พอใช้มากกว่าที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง
แบ่งจ่าย 2 งวด ต้นทุนค่าธุรกรรมเพิ่มขึ้นแค่ไหน
กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 กันยายน) กรมบัญชีกลางเตรียมจัดการหารือภายใน เพื่อวางระบบให้พร้อม ก่อนพูดคุยกับธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยปัจจุบันกรมบัญชีกลางจ่ายเงินเดือนข้าราชการราว 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน
จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ตั้งคำถามว่า การดำเนินนโยบายนี้ทำเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้รัฐบาล หรือเปิดโอกาสให้รัฐบาลแบ่งเงินไปใช้ดำเนินโครงการอื่นๆ หรือไม่ กุลยาได้ปฏิเสธ พร้อมตอบว่า การทำนโยบายนี้คือการนำเงินออกมาจ่ายก่อน (Advanced) เสียด้วยซ้ำ
สำหรับประเด็นเรื่องต้นทุนของกรมบัญชีกลางที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ กุลยาตอบว่า ไม่ได้เพิ่มมาก ส่วนต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนให้ธนาคาร ส่วนใหญ่กรมบัญชีกลางโอนผ่านธนาคารกรุงไทย ซึ่งได้รับการยกเว้น (Waive) อยู่แล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ดีกับกลุ่มปลอดหนี้ แต่อาจกระทบกลุ่มมีหนี้
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า นโยบายเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ แบ่งเป็น 2 รอบต่อเดือน เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2567 จะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มข้าราชการที่มีเงินเดือนพอใช้และไม่ได้มีหนี้สิน หรือกลุ่มที่มีรายจ่ายกระจุกตัวอยู่กลางเดือน
“ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่จำเป็นต้องใช้เงินวันที่ 15 ของเดือน แต่กลับไม่มีเงินออม (Savings) คนกลุ่มนี้ก็อาจต้องไปกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีหนี้สินอยู่แล้ว หากไม่มีวินัยการใช้เงิน หรือกลุ่มที่เงินเดือนไม่พออยู่แล้ว แล้วยังต้องบริหารจัดการงวดของการชำระหนี้ด้วย การได้เงินมาก่อนครึ่งเดือนแรกก็อาจใช้ไปหมดก่อน เมื่อได้เงินครึ่งหลังก็อาจไม่พอชำระหนี้ได้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายนี้สามารถป้องกันการเกิดหนี้สินของข้าราชการหรือแก้ปัญหาหนี้ได้หรือไม่ ณัฐพรตอบว่า นโยบายนี้เป็นการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องมากกว่า เนื่องจากเงินเดือนยังเท่าเดิม แต่อาจช่วยลดภาระการกู้หนี้ยืมสินระหว่างเดือนได้
“เป้าหมายหลักของนโยบายนี้คือ การบริหารสภาพคล่อง แต่มันดันตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าราชการมีเงินพอ แต่ไม่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าราชการมีหนี้สิน”
ส่วนผลกระทบในเรื่องค่าธรรมเนียมธนาคารน่าจะเกิดน้อยมาก เนื่องจากการฝาก-ถอนภายในธนาคารกรุงไทยไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่ก่อนแล้ว ส่วนการเบิกต่างธนาคารก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม 3 ครั้งแรก
อาจารย์ มธ. แจง
ศ.ดร.อาณัติ ลีมัคเดช อาจารย์ภาควิชาการเงิน และผู้อำนวยการโครงการปริญญาโททางการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์ นโยบายดังกล่าวไม่มีอะไรเสียหาย เพราะเงินยังจ่ายเท่าเดิม
ส่วนตัวมองว่าหลักการของนโยบายนี้คือ
- ต้องการให้เงินหมุนเร็วขึ้น
- กระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว
“บางคนอาจกังวลว่าการแบ่งจ่ายเงินเดือนอาจทำให้บางคนไม่มีเงินพอจ่ายหนี้เป็นก้อน หากมองลึกลงไปแล้วสาเหตุมาจากเรื่องพฤติกรรมการเงินส่วนตัว กลับกันในกลุ่มที่ยังไม่มีหนี้หรือกำลังจะก่อหนี้ การได้เงินมาใช้ก่อนระหว่างเดือนจะช่วยได้”
ศ.ดร.อาณัติ กล่าวต่อว่า การแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด คล้ายกับหลักการของธนาคารที่เรียกว่า Gap Management หรือการทำให้ช่วงเวลาของรายได้ที่เข้ามาใกล้เคียงกับการจ่ายหนี้สิน
หนึ่งในข้าราชการมองบวก ช่วยให้คล่องตัว
กรกรรณ เจริญรัตน์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ที่ว่าการอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า การได้เงิน 2 รอบจะทำให้คล่องตัวมากขึ้นในเรื่องเงิน แม้ช่วงแรกที่ได้ยินเกี่ยวกับนโยบายจะกังวลว่าอาจไม่มีเงินพอจ่ายหนี้เป็นก้อน
“แต่การได้เงิน 2 รอบเราสามารถเก็บเงินไว้ในธนาคารก่อน แล้วใช้จ่ายหนี้ตอนสิ้นเดือน แต่ปัญหาคือบางคนมีเท่าไรก็ใช้เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเป็น อยากให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมเรื่องวินัยการเงินให้กับข้าราชการมากขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พีระพันธุ์ลั่นทำทันที อัดแพ็กเกจลดราคาพลังงาน ‘กดน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร-ลดค่าไฟ 35 สตางค์’
- ครม. มีมติขยายเวลาลดอัตราภาษี VAT เหลือ 7% ถึง 30 ก.ย. 67