ในเดือนเมษายน Julie อดีตผู้พัฒนาเกมจากปักกิ่งวัย 29 ปี เลือกเส้นทางที่ไม่ธรรมดา เธอกลายเป็น ‘ลูกสาวเต็มเวลา’ หลังจากอดทนกับวันทำงานอันเหน็ดเหนื่อยกว่า 16 ชั่วโมง เธอก็รู้สึกเหมือนเป็น ‘ศพเดินได้’ และต้องการหยุดพัก ตอนนี้เธออุทิศวันและเวลาของเธอให้กับงานบ้าน โดยอาศัยพ่อ-แม่ของเธอเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน
แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่รุนแรงและตลาดงานที่หางานได้อย่างยากลำบาก ทำให้คนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมาก เช่น Julie ตัดสินใจเลือกเช่นนั้น กลุ่มประชากรนี้ซึ่งเรียกตนเองว่า ‘ลูกเต็มเวลา’ (Full-Time Children) ที่มักพบการปลอบใจที่บ้าน ไม่ว่าจะเนื่องมาจากความเหนื่อยหน่ายในการทำงาน หรือไม่สามารถหางานทำได้
แนวโน้มนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการส่งเสริมให้เชื่อว่า การทำงานหนักและการศึกษาจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- วิกฤตเศรษฐกิจจีน: คนหนุ่มสาวว่างงานพุ่งสูงขึ้น ทำให้คนนับล้านท้อแท้ แต่รัฐชี้ว่า ปัญหาอยู่ที่ความคาดหวังที่สูงมากกว่าปัญหาเชิงระบบ
- พนักงานชาวเอเชียมักต้องทำตัวให้ ‘ยุ่ง’ เข้าไว้ มากกว่าได้ทำงานจริงที่มีประสิทธิภาพ เพราะถูก ‘เจ้านาย’ จับตาดูอยู่จากสิ่งที่เห็น ไม่ใช่ผลลัพธ์!
- นอกจากงานก็ไม่เหลือใครอีกแล้ว! ทำไมคนเรายิ่งเติบโตถึงยิ่ง ‘เหงา’
ข้อมูลเผยให้เห็นภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานคนรุ่นใหม่ในประเทศจีน สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มากกว่า 1 ใน 5 ของคนที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปีนั้นว่างงาน โดยอัตราการว่างงานของเยาวชนเพิ่มขึ้นเป็น 21.3% สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลเริ่มติดตามตัวเลขเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ไม่รวมพื้นที่ในชนบท
แม้ว่า ‘ลูกเต็มเวลา’ หลายคนจะบอกว่าสถานะดังกล่าวเป็นเพียงชั่วคราว แต่การหางานยังคงมีความท้าทาย อย่างเช่น Julie สมัครงานมากกว่า 40 ตำแหน่งภายในสองสัปดาห์ แต่ได้รับคำเชิญให้สัมภาษณ์เพียงสองครั้งเท่านั้น ซึ่ง “ก่อนที่ฉันจะลาออกงานก็หายากแล้ว แต่พอลาออกก็ยิ่งยากขึ้น” เธอเปิดเผย
วัฒนธรรมการทำงานอันโด่งดังของจีนอย่าง ‘996’ ซึ่งทำงานตั้งแต่เวลา 9.00- 21.00 น. 6 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้คนทำงานรุ่นใหม่จำนวนมากต้องเผชิญภาวะเหนื่อยหน่าย เช่น Chen Dudu ที่รู้สึกว่าได้รับค่าจ้างน้อยเกินไป และทำงานหนักเกินไปในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือ Jack Zheng จาก Tencent ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพเนื่องจากความเครียดจากการทำงาน ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ
นอกจากนี้ ความเชื่อทางสังคมที่เรียกว่า ‘คำสาปของคนอายุ 35 ปี’ ซึ่งชี้ให้เห็นว่านายจ้างชอบคนทำงานที่อายุน้อยกว่าและราคาถูกกว่า และเห็นได้ชัดว่าทำไมแม้แต่คนที่มีอายุ 30 ปีกลางๆ ก็ยังกังวลเกี่ยวกับโอกาสทางอาชีพของตน
ความรู้สึกหดหู่ใจยังขยายไปถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วย บางคนจงใจสอบตกเพื่อชะลอการสำเร็จการศึกษา ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ระหว่างปี 2012-2022 การลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 59.6% แต่ตอนนี้เสน่ห์ของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนตั๋วสู่ความสำเร็จ ได้ลดน้อยลง ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าวิกฤตการว่างงานของเยาวชนจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้สำเร็จการศึกษาใหม่จำนวน 11.6 ล้านคนกำลังหางานทำ
ความท้าทายทางเศรษฐกิจของจีนหลังโควิด ประกอบกับการปราบปรามอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมในหมู่คนทำงานรุ่นใหม่ เช่น บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ และอุตสาหกรรมกวดวิชา ส่งผลให้วิกฤตการจ้างงานรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนจะมองข้ามสถานการณ์นี้ ผู้นำจีน สีจิ้นผิง สนับสนุนให้คนหนุ่มสาว ‘กินความขมขื่น’ คำแนะนำโดยรวมคือต้องไม่เลือกงาน ไม่ยากจน ซึ่งตราบใดที่พวกเขาทำเช่นนั้น พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการตกงาน
อ้างอิง: