วันนี้ (12 กันยายน) ที่ประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีสมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 746 คน แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)
ปารมี ไวจงเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายถึงนโยบายด้านการศึกษาว่า ตนเองในฐานะอดีตครู มีความกังวลใจต่อนโยบายด้านการศึกษา เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลกว้างและไม่ครอบคลุมทุกมิติของปัญหาทางด้านการศึกษา หากเป็นเข็มทิศในการปฏิรูปการศึกษาไทย ประเทศนี้จะหลงอยู่ในเข็มทิศนี้แน่นอน ขณะเดียวกัน นโยบายดังกล่าวยังมีความคล้ายคลึงกับรัฐบาลเดิม ที่ไม่สามารถเข้าถึงแก่นปัญหาของบุคลากรที่ต้องแบกความทุกข์ของการศึกษาไทย
คำแถลงของรัฐบาลไม่มีการพูดถึงสารตั้งต้นสำคัญของหลุมดำในการศึกษาไทย คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติแม้แต่คำเดียว จากการศึกษาจากหลายหน่วยงานต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การปฏิรูปการศึกษามีความจำเป็นที่จะต้องมีจินตนาการในการจัดสรรอำนาจ งบประมาณ ทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งรัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะใช้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.ฉบับเก่าของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีบุคลากรจำนวนมากรับไม่ได้
ปารมีกล่าวอีกว่า คำแถลงของรัฐบาล “…การกระจายอำนาจการศึกษาให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง…” นั้นเป็นการใช้คำที่สวยหรูและดูดี แต่เขียนไว้สั้นและไม่เห็นภาพของการปฏิบัติ รวมถึงไม่ได้ลงรายละเอียดในการปฏิรูป ซึ่งการกระจายอำนาจที่ดีที่สุดคือ การกระจายอำนาจในโรงเรียน และต้องกระจายอำนาจใน 4 ด้าน คือ
- กระจายอำนาจงานบริหารทั่วไป ให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องรอส่วนกลาง
- กระจายอำนาจในการบริหารงานบุคคล ให้เลือกโรงเรียนเลือกครูได้เอง
- กระจายอำนาจในการบริหารวิชาการ หลักสูตรทุกโรงเรียนไม่จำเป็นต้องใช้หลักสูตรเดียวกัน
- กระจายอำนาจในการใช้งบประมาณ
“จะกระจายอำนาจไม่ได้ ถ้าไม่แตะโครงสร้างอันใหญ่เทอะทะของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาเป็นกระทรวงที่ใหญ่โตเทอะทะและซับซ้อนมาก ใช้ระบบการบริหารงานแบบสั่งบนลงล่าง และรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลางมากๆ ที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง”
ปารมีกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้อยแถลงการณ์ของรัฐบาลนั้นกว้างมาก และสามารถปฏิรูปการศึกษาได้ยากมาก หวังว่าจะนำข้อกังวลใจไปปรับใช้เพื่อให้สามารถทำลายหลุมดำของการศึกษาไทยที่มืดมิดมาอย่างยาวนานได้