องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้วันที่ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2003
WHO คาดว่าในปีหนึ่งๆ จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่า มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คนในทุกๆ 40 วินาที และการฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อ-แม่ พี่-น้อง สามี-ภรรยา และเพื่อนๆ ของผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคน ตลอดจนมีผลมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน)
ขณะที่ WHO ประมาณการว่า ผู้ทำร้ายตนเองมีจำนวนมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า จากการศึกษาพบว่า ผู้ทำร้ายตนเองจะมีโอกาสทำซ้ำและประสบความสำเร็จได้ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะหนึ่งปีหลังการทำร้ายตนเองครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเองจะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500-5,000 คน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เป็นอย่างมาก