ทันทีที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 คำถามสำคัญที่ประชาชน 60 ล้านคนต้องการคำตอบจากบุคคลที่เป็นผู้นำของประเทศคือ นโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’
เศรษฐาได้ยืนยันว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถือเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เมื่อพร้อมจะดำเนินการทันที
THE STANDARD ชวนผู้ติดตามไปสำรวจรายละเอียดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ของพรรคเพื่อไทย หากเริ่มดำเนินการเต็มรูปแบบจะเกิดการหมุนเวียนตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ สร้างความเจริญเติบโตให้เศรษฐกิจไทย และลดช่องว่างรายได้ ในขณะที่รัฐบาลจะได้รายได้กลับคืนมาในรูปแบบของภาษีและการยกระดับเศรษฐกิจทั้งระดับ
เปิดเงื่อนไข-กติกา เงินดิจิทัล 10,000 บาท
- ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป
- มีอายุการใช้งาน 6 เดือน
- ซื้อได้ทุกอย่าง ยกเว้นสินค้าอบายมุข
- ซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ได้
- ใช้จ่ายได้กับร้านค้าชุมชนใกล้บ้าน 4 กม. จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน (ปรับเปลี่ยนได้)
- ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ หากเข้าไม่ถึงแอปพลิเคชัน สามารถใช้จ่ายผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชน
- ร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทกับธนาคารในโครงการในภายหลัง
- เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว เพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ FinTech
- กระเป๋าเงินดิจิทัล คือ เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิการใช้เงิน ไม่ใช่คริปโตเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่
- ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น
- ทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล
- ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ-ผู้จ่าย มีความโปร่งใสสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม
- ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายไปจะหมุนเวียนเข้ามาเป็นภาษีของรัฐบาล เพื่อนำเงินไปสนับสนุนประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
อ้างอิง:
- เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย หัวข้อ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค วันที่ 7 กันยายน 2566