×

เรื่องที่ประเทศผู้นำด้านเกษตรกรรมควรรู้ ไทยต้องปรับตัวอย่างไรเมื่อเทรนด์อาหารโลกเปลี่ยน?

05.09.2023
  • LOADING...
อุตสาหกรรมอาหาร

จุดเด่นอย่างหนึ่งของประเทศไทยที่หลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างคือเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ทางพืชผลทางการเกษตรจนเกิดเป็นวลี “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ที่อยู่คู่กับประเทศมากว่าหลายศตวรรษ

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ไทยได้เจอมาตลอดคือสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ยังคงอยู่ในรูปแบบอาหารสดหรือสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการสกัดและเพิ่มมูลค่าให้กับตัววัตถุดิบอย่างที่มีการทำในต่างประเทศ

 

ส่งออก ‘อาหาร’ ไทยยังโตได้ แต่การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบคือโจทย์สำคัญ

 

ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับเป้าหมายของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตภายใต้การเสวนาหัวข้อ ‘โอกาสและทิศทางของวัตถุดิบอาหารของไทย และเทรนด์อาหารแห่งอนาคต’ ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยนั้นส่งออกอาหารมากเป็นอันดับที่ 13 ของโลก มีการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

 

สินค้าหลักที่ไทยส่งออกได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, น้ำตาล, ไก่สด, อาหารทะเล และอาหารกระป๋อง ซึ่งภาพรวมมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีก็มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้น แม้ปี 2566 ภาคการส่งออกโดยรวมจะเจอกับวิกฤตมาตั้งแต่ต้นปีจนสินค้าหลายรายการมีมูลค่าติดลบหลายเดือนติดต่อกัน ทำให้การเติบโตของอาหารที่ส่งออกในปี 2566 โดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ช่วง 0-5% โดย ดร.วิศิษฐ์ มองว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าพอใจเมื่อเทียบกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก

 

อีกปัจจัยที่การเติบโตมีแนวโน้มอยู่ในช่วง 0-5% เพราะในปี 2565 การส่งออกอาหารของไทยเติบโตได้มากขึ้นถึง 20% โดยหลักๆ มาจากการฟื้นตัวหลังโควิดที่ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะร้านอาหารที่กลับมาเปิดบริการอย่างเต็มกำลังมากขึ้น ซึ่งการเติบโต 20% ถือเป็นการขยับของฐานการส่งออกที่สูงขึ้นมาก

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นการส่งออกสำหรับกลุ่มอาหารแห่งอนาคต เช่น โปรตีนทางเลือกหรือสารสกัดจากพืชและสัตว์ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกยังคงให้ความสนใจ รวมถึงในประเทศไทยก็เริ่มมีการตื่นตัว ทั้งในกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้ในวันนี้จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตและลดต้นทุนเพื่อแข่งขันกับต่างชาติให้ได้

 

อย่ามองข้ามกลุ่มอาหารที่เน้นบริโภคเพื่อสุขภาพมากกว่าอิ่มท้อง

 

เมื่อเทรนด์อาหารโลกวันนี้กำลังมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบมากกว่าส่งออกวัตถุดิบแบบที่ได้มา ประเทศไทยควรทำอย่างไร?

 

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันไทยต้องมองหาการเพิ่มมูลค่าอาหารจากวัตถุดิบธรรมดาไปสู่ Food Ingredient หรือ Functional Ingredient ซึ่งหมายถึงอาหารที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มให้ได้คุณค่าทางโภชนาการและยังลดความเสี่ยงโรคต่างๆ หรืออาหารที่มากกว่าการกินเพื่ออิ่มท้อง เช่น การทำ Plant-based Meat ให้ได้คุณประโยชน์ที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตในไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าโปรตีนสกัดหรือสารสกัดจากพืชที่มีสีคล้ายเลือดเพื่อให้สินค้ามีความใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากที่สุด เราจึงต้องปรับตัวเพื่อหาโอกาสยกระดับสินค้าเกษตรให้ได้

 

ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกวัตถุดิบมากมายไปยังตลาดโลก แต่ยังต้องนำเข้า Food Ingredient กล่าวคือไทยส่งออกวัตถุดิบให้ต่างชาตินำไปเพิ่มมูลค่าแล้วค่อยนำเข้าสินค้าที่แปรรูปกลับมาใช้ทั้งที่เรามีวัตถุดิบเองอยู่แล้ว โดยเมื่อคิดเป็นสัดส่วนการค้าอาหารทั้งหมดของไทย เรามีการนำเข้ามากกว่า 24% แต่ถ้าเราเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นส่วนผสมอาหารที่มีมูลค่าสูงกว่า นอกจากจะลดการนำเข้าแล้ว ไทยยังจะมีอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นส่วนสำคัญของการผลิตอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นในประเทศด้วย

 

ดังนั้นจึงได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้นผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่ผู้ประกอบการ เช่น โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant: FISP) และ Co-working Food Space ที่ให้บริการโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อให้ SMEs เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะในปัจจุบันนี้ตลาดการส่งออก Future Food ยังมีโอกาสอีกมากในอาเซียน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งจะต้องทำให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์เทรนด์อาหารโลกในวันนี้

 

โปรตีน เทรนด์อาหารแห่งอนาคต

 

ในส่วนของเทรนด์อาหารแห่งอนาคตในระยะยาว ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โปรตีนถือเป็นเทรนด์ในระยะยาวที่คาดว่าจะขับเคลื่อนด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและความใส่ใจของผู้บริโภคถึงการกินอาหารเพื่อสุขภาพ ในขณะเดียวกันปัญหาภาวะโลกร้อนและเขตเมืองที่ขยายมากขึ้นส่งผลให้พื้นที่ภาคการเกษตรลดลง

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการมองหาโปรตีนทางเลือก เช่น Plant Protein มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ดร.วีรวัฒน์ เล่าว่ามีการบริโภคที่ประมาณ 10 ล้านตัน หรือ 2% ของโปรตีนทั้งหมดที่ 550 ล้านตัน ตามข้อมูลของ Boston Consulting Group และการบริโภคโปรตีนพืชมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเป็น 10% ในอีก 15 ปีข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์ทั้งเรื่องสารอาหารจากโปรตีนที่ครบถ้วนและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X